แพทย์ผิวหนังเตือน ระวัง 'กิ้งกือ' ไม่กัด แต่มีพิษ

แพทย์ผิวหนังเตือน ระวัง 'กิ้งกือ' ไม่กัด แต่มีพิษ

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือน "กิ้งกือ" ไม่กัดแต่มีพิษ ชี้บางสายพันธุ์ฉีดสารพิษได้ไกลมีฤทธิ์ทำผิวหนังไหม้ หากเข้าตาจะเกิดการระคายเคืองได้ ให้รีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที

ช่วงนี้ประเทศไทยมีฝนตกบ่อย นอกจากจะต้องระวังโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ยังต้องระวังสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีขาเยอะที่สุดอย่าง 'กิ้งกือ' หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า millipede ซึ่งตั้งขึ้นตามลักษณะของมัน โดย milli แปลว่าจำนวนเป็นพัน และ pede แปลว่าขาหรือเท้า ซึ่งลักษณะพิเศษของขากิ้งกือนั้นแตกต่างจาก 'ตะขาบ' ตรงที่กิ้งกือจะมีขายื่นออกมาจากปล้อง 2 คู่ ในแต่ละปล้อง และขาจะสั้นเรียงอยู่ใต้ลำตัว ทำให้กิ้งกือเคลื่อนที่ได้ช้า ส่วนตะขาบจะมีขา 1 คู่ ในแต่ละปล้อง และขาจะยาวยื่นออกมาข้างตัว ตะขาบจึงมีการเคลื่อนที่ที่รวดเร็วมาก

โดยทั่วไป 'กิ้งกือ' เป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ แต่ก็ยังมีข้อควรระวัง หากสัมผัสถูกตัวแบบตรงๆ

160082996468


นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า "ช่วงที่มีฝนตกบ่อย อาจพบเห็นกิ้งกือในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ จึงขอให้คำแนะนำแก่ประชาชนว่ากิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษหากสัมผัสถูกตัว สารพิษของกิ้งกือจะถูกปล่อยออกมาจากบริเวณข้างลำตัว มีฤทธิ์ฆ่าสัตว์เล็ก ๆ เช่น มด แมลง และหากคนสัมผัสจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง หรือทำให้ตาระคายเคืองในกรณีถูกพิษกิ้งกือเข้าตา"

160082996493

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัวสามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล สารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินิน และไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย

ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาด ทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น

160082996816