'อกหัก' ไม่ยักตาย แต่เมื่อใดใจแหลกลาญ หัวใจล้มเหลวได้
เวลา "อกหัก" มักจะมีอาการที่เรียกว่า "ฮอร์โมนทุกข์ท่วมท้น” คล้ายๆ กับตอนมีภัยถึงตัว แล้วตื่นตระหนกยกตุ่มวิ่งได้ ทำไมเป็นเช่นนั้น ลองอ่านเรื่องนี้...
ในวรรณคดีของหลายชาติหลายภาษา จะมีตัวละครที่ “อกแตกตาย” เพราะถูกทอดทิ้งบ้าง หรือ “หัวใจสลาย” จากคนรักตายจากไปบ้าง จนตรอมใจตายตามก็มี แต่เพลงในยุคใหม่บอกว่า “อกหักไม่ยักกะตาย” หรอก ไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจให้มากไป กาลเวลาจะเยียวยาได้เอง
อันไหนจริงกันแน่? คำตอบอาจจะเป็นไปได้ทั้ง 2 แบบ ตามแต่เหตุปัจจัย
คนเราเวลาอกหักนี่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางร่างกายและจิตใจนะครับ จะเกิดอาการที่เรียกว่า “ฮอร์โมนทุกข์ท่วมท้น” มีการท่วมท้นของฮอร์โมนอะดรีนาลีน ชื่อคุ้นๆ ใช่ไหมครับ ก็ฮอร์โมนที่ทะลักมายามตื่นตระหนกตกใจ ต้องลุยหรือหนีภัย ทำให้ยกตุ่มวิ่งไปได้นั่นแหละครับ
พอฮอร์โมนนี้หลั่งออกมามากๆ จะทำให้เกิดอาการโดยรวมหลายๆ อย่างคล้ายกับคนกำลังจะมีอาการหัวใจวายหรือหายใจล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บหน้าอก เจ็บแขนไปถึงกรามและหลังส่วนบนที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของร่างกาย หายใจถี่ตื้น วิงเวียนคล้ายจะหน้ามืดเป็นลม อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนก็ได้ และอาจหลั่งเหงื่อออกมาเป็นเม็ดโต้งๆ ที่เรียกว่า “เหงื่อกาฬ”
จะต่างจากอาการหัวใจวายอยู่เพียงอย่างเดียวคือ ไม่มีอาการติดขัดหรือุดตันของหลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ อันเป็นอาการหลักสำคัญของกลุ่มอาการหัวใจล้มเหลวนั่นเอง
ดร.เอลิซาเบธ โมสทอฟสกีย์ (Elizabeth Mostofsky) แห่ง Beth Israel Deaconess Medical Center ในเมืองบอสตัน ชี้ให้เห็นถึงสถิติว่า หลังการเสียชีวิตของคนรัก 24 ชั่วโมง พบว่ามีอัตราของอาการหัวใจวายในคู่รักที่ยังมีอยู่ชีวิตอยู่สูงถึง 21 เท่าของคนทั่วไป แต่อัตราเสี่ยงดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลง แม้ว่าจะยังคงสูงอยู่นานหลายเดือนก็ตาม
ข้อมูลนี้ได้จากากรสัมภาษณ์ผู้ป่วยเกือบ 2,000 คนและตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Circulation (Jan 9, 2012) ซึ่งเป็นของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกัน
การเสียชีวิตของคนรักมักทำให้เกิดอาการหดหู่ กังวลใจ และแม้แต่บางครั้งอาจโกรธแค้นก็มี ซึ่งทั้งหมดนั้นไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และเพิ่มโอกาสที่จะเกิดเส้นเลือดอุดตันที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ จะเห็นได้ว่า จิตส่งผลกับร่างกายชัดเจนมากๆ
หากเกิดภาวะดังกล่าว คนใกล้ชิดและจิตแพทย์พอจะเป็นที่พึ่งและให้ความช่วยเหลือได้
มีการศึกษาในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเกี่ยวกับอาการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า AF (ที่ไม่เกี่ยวกับนักร้องในบ้านเรา) ซึ่งมีการเต้นไม่สม่ำเสมอของหัวใจห้องบน (ศัพท์วิชาการเรียกว่า atrial fibrillation) โดยพบว่า หากใครมีอาการ AF แล้วละก็ มีโอกาสที่จะเส้นเลือดสมองแตกสูงกว่าคนทั่วไป 5 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ 2 เท่า ในยุโรปเจอผู้ป่วยแบบนี้นับแสนคน ส่วนในสหรัฐก็พบมากถึงกว่า 5 ล้านคน
โดยสาเหตุยังไม่แน่ชัดนัก แต่อาจจะเกี่ยวข้องกันทั้งทางกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม แต่ที่น่าสนใจก็คือ มีงานวิจัยของทีมเดนมาร์กที่ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Open Heart (2016, 3(1)) พวกเขาพบว่าผู้ป่วย AF 88,612 คนในเดนมาร์ก (ในจำนวนนี้มี 19.72 เปอร์เซ็นต์โดนทิ้ง) เมื่อเปรียบเทียบกับคนปกติที่เป็นกลุ่มควบคุม 886,120 คน (มี 19.07 เปอร์เซ็นต์ ที่สูญเสียคนรัก) โดยมีปัจจัยอื่นๆ คล้ายคลึงกัน ทั้งอายุ เพศ ระดับการศึกษา สถานะทางสังคม ป่วยเป็นเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ฯลฯ
พบว่าหลังการสูญเสียคนรัก 8-14 วัน ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด AF มากขึ้น 90 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติในเวลา 1 ปี ผลจะเห็นได้ชัดเจนกว่าในคนอายุไม่ถึง 60 ปี และในกรณีที่คู่เสียชีวิตแบบปุบปับไม่คาดคิด ต่างจากพวกที่ป่วยยืดเยื้อที่คู่จะไม่เกิด AF หลังเหตุการณ์เสียชีวิตเกิดขึ้นเลย ประมาณว่าเตรียมใจมาเรื่อยๆ แล้ว ไม่ช็อก
แต่งานวิจัยนี้ระบุความสัมพันธ์แบบสาเหตุและผลลัพธ์ได้ไม่ชัดเจนนัก มีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์หรือประวัติการเป็นโรคนี้ในครอบครัว จะให้ชัดเจนกว่านี้ต้องใช้วิธีตรวจวัดสารจำเพาะบางอย่างในเลือดที่เรียกว่า ไบโอมาร์กเกอร์ (biomarker) หรือไม่ก็ตรวจระดับฮอร์โมนต่างๆ เช่น อะดรีนาลีน รวมทั้งใช้เครื่องตรวจวัดการเต้นของหัวใจ
อาการแบบ “กลุ่มอาการอกหัก” หรือ broken heart syndrome (หรือในชื่อทางวิชาการว่า Taktsubo cardiomyopathy) พบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ในญี่ปุ่น โดยจะมีคนราว 2-5 เปอร์เซ็นต์ ที่มีอาการแบบนี้แล้วนำไปสู่อาการหัวใจวายในที่สุด โดยพบมากในผู้หญิงที่อายุเกิน 50 ปี แต่พบน้อยในผู้ชายคือ มีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น
ปัจจัยที่กระตุ้นหลักๆ จะเป็นเรื่องทางจิตใจและอารมณ์คือ การสูญเสียคนรักในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือการที่ต้องเข้าผ่าตัดใหญ่แบบใดแบบหนึ่ง แต่ก็พบว่า มีปัจจัยทางกายภาพบางอย่างที่กระตุ้นด้วย เช่น การเผชิญกับแผ่นดินไหว เป็นต้น กลไกที่ก่อให้เกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่คาดว่ามีการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น อะดรีนาลีน มากเกินไปจนทำให้หัวใจอ่อนแรง
มีบ้างที่พบว่าอาการคล้ายคลึงกันนี้อาจจะเกิดจากความดีใจได้เช่นกัน เช่น การดีใจจากหลานคนใหม่คลอด หรือถึงรอบวันเกิด (เรียกว่าเป็น happy heart syndrome) แต่พบน้อยแค่ 1.1 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มอาการอกหักเท่านั้น
เรื่องน่ายินดีเรื่องหนึ่งก็คือ อาการป่วยแบบนี้เกิดขึ้นแบบชั่วครั้งชั่วคราว และจากข้อมูลทำให้เชื่อกันว่า น่าจะหายได้ด้วย แต่อาจจะต้องใช้เวลานะครับ แต่ก็มีรายงานกรณียกเว้นเหมือนกัน คือทำให้กล้ามเนื้อหัวใจถึงกับเสียหายถาวรไปเลย (ข้อมูลตีพิมพ์ใน Journal of the American Society of Echocardiography, June 10, 2017)
ความพลัดพรากจากคนที่รักจึงเป็นทุกข์จริงๆ นะครับ และอกหักหรือตรอมใจตายก็เกิดขึ้นได้จริงๆ !!!