ผู้ประกันตนอายุ50ปีขึ้นไปฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี
จากสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนการคัดกรอง วินิจฉัยผู้ป่วยโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
สำนักงานประกันสังคม (สปส.)จึงให้การคุ้มครองดูแลผู้ประกันตน ซึ่งเป็นแรงงานสำคัญของประเทศ เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา ด้วยการเพิ่มรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกรณีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ณ สถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดปีละ 1 ครั้ง ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคมของทุกปี ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปโดยปี 2563 เริ่มให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี โดยใช้หลักการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้ไข” รวมถึงการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดีมีมาตรฐาน เพื่อให้แรงงานได้มีหลักประกันที่ดี เหมาะสมในการดำรงชีวิต เพราะหากผู้ประกันตนมีสุขภาวะที่ดี ย่อมเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และเศรษฐกิจของประเทศ
“นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์” โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดโครงการ “Healthy Thailand ผู้ประกันตนตระหนักรู้ สุขภาวะที่ดี สู่ฐานวิถีชีวิตใหม่” ให้ความรู้ด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้บริการด้านการแพทย์ ดูแลสุขภาพให้แก่ผู้ประกันตนให้ได้รับการตรวจสุขภาพ เพื่อค้นหาโรคและเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงโรคเนื่องจากการทำงาน และโรคที่ไม่เนื่องจากการทำงาน มีการปรับสภาพแวดล้อม และสร้างความปลอดภัย จะส่งผลให้ผู้ประกันตน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาล และสามารถลดจำนวนวันลางาน รวมทั้งลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ทำให้เกิดอันตราย พิการ และเสียชีวิตลงได้
อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ยังได้มีนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันโรคของผู้ประกันตน เช่น การตรวจสุขภาพเชิงรุกแก่ผู้ประกันตน จำนวน 14 รายการ และมีการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบประกันสังคม กรณีฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ปีละ 1 ครั้ง โดยจะเริ่มดำเนินการในสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563
สำหรับขั้นตอนการขอรับบริการของผู้ประกันตน ว่า สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยปี 2563 จะให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขอให้ผู้ประกันตนติดต่อขอรับบริการได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา หากสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาไม่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมให้บริการ ให้แจ้งลงทะเบียนขอรับบริการล่วงหน้าได้ที่ โทร. 0 2956 2500 ถึง 2510
ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสารสนเทศในการจองสิทธิ) สำหรับการให้บริการตั้งแต่ ปี 2564 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคมของทุกปี เมื่อสำนักงานประกันสังคม มีความพร้อมในการให้บริการจองสิทธิผ่านระบบสารสนเทศได้แล้ว ผู้ประกันตนสามารถจองสิทธิขอรับบริการผ่านระบบสารสนเทศได้โดยสามารถเลือกสถานพยาบาลในโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคทุกแห่งที่มีวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมให้บริการ
"การความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับ ความเดือดร้อนในทุกสถานการณ์อย่างทันท่วงที พร้อมติดตามสถานการณ์นั้นอย่างใกล้ชิด และรับทราบปัญหา ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤต COVID-19 ในทุกด้านเพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้อง กับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ประกันตนต่อไป" โฆษกสำนักงานประกันสังคมกล่าว
กทม.นำร่อง“บัตรทองรักษาทุกที่”
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงนโยบายเร่งด่วนในโอกาสที่เดินทางเข้าทำงานที่สธ.เป็นวันแรก ว่า นโยบายเร่งด่วนเกี่ยวกับโรคโควิด -19 ได้ตั้งทีมทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ฉากทัศน์ของโรคโควิด-19 ที่อาจจะเกิดขึ้นในระลอกต่อไปซึ่งอาจมีการระบาดเป็นหย่อมๆเกิดขึ้น แต่การระบาดแบบวงกว้างจนควบคุมไม่ได้คงไม่เกิดขึ้น และจะไม่มีการปิดบ้านปิดเมืองเหมือนในระลอกที่ 1
เนื่องจากมีมาตรการทางสังคมต่างๆที่ประชาชนร่วมปฏิบัติมากกว่า 80 % ทำให้สามารถป้องกันได้ โดยจะควบคุมสถานการณ์ไม่ให้มีผู้ติดเชื้อและแพร่ระบาดมากขึ้นโดยเร็ว โดยได้มอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการและนำเสนอแผนรายละเอียดและจะแถลงอย่างชัดเจนอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้จะมุ่งพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ และระบบบริการ โดยในส่วนของคุณภาพการบริการจะเน้นที่จุดเชื่อมต่อที่เป็นรพ.ข้อต่อ เช่น โรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กหรือขนาดกลางที่จะเน้นให้ดีขึ้น รวมถึง ตอบสนองนโยบาบกระจายอำนาจ ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน ผ่านนโยบายบัตรทองรักษาทุกที่ เบื้องต้นตัดสินใจที่จะดำเนินการแล้ว 1 เขต คือ กรุงเทพมหานคร และอาจจะเพิ่มอีก 2-3 เขตสุขภาพซึ่งจะพิจารณาตามศักยภาพ ความพร้อมและการตอบสนองต่อนโยบาย จะเป็นการลดอำนาจสธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แต่จะเพิ่มอำนาจประชาชนในการมีส่วนร่วมควบคุมกำกับมากขึ้น
รวมถึงพลิกโฉมเขตสุขภาพให้เป็นต้นแบบเน้นดูแลสุขภาพมากกว่ารักษา โดยจะออกแบบให้นำเรื่องการมีสุขภาพดีของประชาชนที่เกิดจากการดุแลสุขภาพมาใช้พิจารณาเรื่องงบประมาณ เบื้องต้นจะดำเนินการใน 1-3 เขตสุขภาพภายใน 2 ปีหากประสบผลสำเร็จก็จะขยายไปเขตสุขภาพอื่นด้วย ทั้งหมดนี้จะดำเนินการภายใต้หลักธรรมาภิบาล มีค่านิยมคือ รัก สามัคคี สร้างสธ.ปึกแผ่น