'ปล่อยแก่' วงดนตรีที่อายุเป็นเพียงตัวเลข
เผยโฉมวง "ปล่อยแก่" วงดนตรีที่นักร้องอายุรวมกันมากกว่า 3,000 ปี แต่สามารถสร้างเสียงเพลงไพเราะและรอยยิ้มสดใส ผลงานการจับมือกันของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมภาคีเครือข่าย
เสียงเพลงไม่เพียงมอบความสุขให้กับหนุ่มสาว แต่ยังสร้างรอยยิ้มและความเบิกบานให้กับผู้สูงวัย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดโครงการดนตรีพลังบวกขึ้น ผ่านกิจกรรมการขับร้องประสานเสียงโดยชมรมผู้สูงอายุ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ภายใต้ชื่อ “วงปล่อยแก่”
วงขับร้องประสานเสียงนี้ประกอบไปด้วยผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป กว่า 50 คน เป้าหมายคือการส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพใจ และการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยหวังให้การร้องเพลงประสานเสียงเป็นยารักษาโรค เป็นเพื่อนในยามเหงา สร้างรอยยิ้มและปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้การร้องเพลงยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยการไหลเวียนของสารแห่งความสุขและปรับสมดุลของธาตุต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งโมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในชุมชนที่มีผู้สูงอายุในชุมชนอื่นๆ ได้อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องผู้สูงอายุทั้งในด้านจำนวน การจัดการด้านความเป็นอยู่ของผู้อายุไม่ให้เป็นภาระ ผู้สูงอายุหลายคนถูกทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว เกิดความเหงา ซึมเศร้า และไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ ไม่มีใครดูแลใครเอาใจใส่เหมือนเช่นในอดีต สังคมรุ่นใหม่กับสังคมผู้สูงอายุ มีบริบททางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างไป ทำให้ผู้สูงอายุหมดความหมายและหมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ ดนตรีจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
'หมอหนิง' ปาริชาติ เกิดฤทธิ์ พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ เปิดเผยว่า กว่า 14 ปี ที่ได้ทำงานที่ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี และดูแลชมรมผู้สูงอายุรู้สึกผูกพันกับผู้สูงอายุที่บ้านคามาก ผู้สูงอายุที่นี่เป็นเสมือนญาติผู้ใหญ่ ที่เราหวังจะให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี มีชีวิตที่ยืนยาว จากข้อมูลล่าสุด อำเภอบ้านคามีผู้สูงอายุทั้งหมด 1,118 คน คิดเป็น 19.18 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนประชากรทั้งหมด โดยแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มติดบ้าน กลุ่มติดเตียง และกลุ่มติดสังคม
"ในส่วน 2 กลุ่มแรก ราว 40 คน จะมีแพทย์และพยาบาลไปพบถึงที่บ้าน โดยเป็นการดูแลเฉพาะทาง ส่วนกลุ่มติดสังคม คือเป็นกลุ่มที่ทีมแพทย์พยายามไม่ให้ไปสู่กลุ่มติดเตียง โดยเราใช้หลักสูตรของกลุ่มอนามัย คือ ไม่ล้ม ไม่ลืม ไม่ซึมเศร้า กินข้าวอร่อย จึงมีกิจกรรมให้มาร่วมกันทุกเดือน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมไปเรื่อยๆ และจะมีการมาร่วมกิจกรรมแบบหลวมๆ ตามความสนใจ คือบางท่านเลือกที่จะมาฟังคุณหมอให้ความรู้ บางท่านมาออกกำลังกาย บางท่านมาเพื่อตัดผม
พอกิจกรรมขับร้องวงดนตรีปล่อยแก่เข้ามา กลับมีผู้สูงอายุสนใจเข้าร่วมมากมาย เราเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น ความตั้งใจในการมาก่อนเวลานัดหมายและเห็นถึงความสามัคคีกันในกลุ่ม"
หมอหนิงบอกว่าชมรมผู้สูงอายุนี้มีเครือข่ายที่ค่อนข้างเหนียวแน่น และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางท่านอ่านหนังสือไม่ออก ก็ช่วยเหลือกันจนร้องเพลงได้ ในส่วนการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะก็ดีขึ้นตามลำดับ ที่เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของผู้สูงอายุคือผู้สูงอายุทุกท่านเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ซึมเศร้า เมื่อเข้ามาร้องเพลงที่อนามัย ทุกคนสนุกสนาน มีความสุข มีรอยยิ้ม คุณหมอและพยาบาลทุกคนก็หายเหนื่อย หวังว่ากิจกรรมดีๆ เหล่านี้จะมีการดำเนินกิจกรรมต่อไป
พ่อจวน คำสวาย อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 วัย 66 ปี หนึ่งในสมาชิกวงปล่อยแก่ เล่าว่าในชีวิตนี้ผ่านอะไรมามากมาย ทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดี พอผ่านมาได้ก็รู้สึกว่าไม่อยากเจอเรื่องอะไรที่ไม่ดีแล้ว อยากมีความสุขในบั้นปลายชีวิต เริ่มต้นตอนนี้คืออยากมีสุขภาพจิตที่ดี
"โครงการปล่อยแก่ ทำให้ผู้สูงอายุในอำเภอบ้านคา ได้รู้จักกันมากขึ้น สามัคคีกัน เป็นพี่น้องกัน มันทำให้เรามีความสุขใจ ไม่เศร้ากับเรื่องเก่าๆ ในชีวิต ไม่ให้เราคิดอะไรมาก มาร้องรำทำเพลง มันดีต่อจิตใจเรา วิทยากรใจดี ให้คำแนะนำดี ร้องอย่างไรให้ถูกต้อง ถูกหลักการเป็นทักษะที่พวกเราในชมรมผู้สูงอายุทำได้แบบไม่เครียด ไม่ใช่อยู่บ้าน เลี้ยงหลานอย่างเดียว
โครงการนี้ทำให้มีความสุข มีการออกกำลังกาย อยากให้มีโครงการแบบนี้ทั่วประเทศ เพราะผู้สูงอายุมีทั่วประเทศและกำลังเพิ่มจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ครับ"
ในมุมมองของ ดร.กฤษฏา เสกตระกูล กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โครงการดนตรีพลังบวก ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าดนตรีคือส่วนหนึ่งในชีวิต "เสียงดนตรีทำให้เรามีความสุขโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต ท้อแท้ หมดหวัง เสียงดนตรีกลับทำให้เรามีพลังลุกขึ้นมาต่อสู้ ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ"
"ปัจจุบันผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นกลุ่มที่ต้องการกำลังกาย กำลังใจ เพื่อให้เขามีพลังลุกขึ้นจากเตียงนอนในทุกเช้า ฉะนั้น ทางมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์จึงเลือกอำเภอบ้านคาเป็นต้นแบบที่แรกในการนำดนตรีพลังบวกเข้ามา ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมากครับ ขอบคุณมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่เป็นพันธมิตรที่ดีของมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นับเป็นมิติที่ดีที่เราต้องดูแลร่วมกันต่อไปครับ"
สุดท้ายกับความเห็นของ รศ.ดร.สุกรี ที่กล่าวถึววัยผู้สูงอายุว่าทุกคนต้องปล่อยวางและเคร่งครัด กระตือรือร้นที่จะมีชีวิตอยู่ "ชาวบ้านคามีอากาศที่สะอาดเป็นต้นทุนที่ดีแล้ว ต้องขอบคุณกับสิ่งที่มี พอใจสิ่งที่มี และอยู่กับปัจจุบันให้ได้แล้วชีวิตจะมีความสุขครับ"