เรื่องเล่า'ข้าวปิ่นแก้ว' ที่เคยได้รางวัลระดับโลก

เรื่องเล่า'ข้าวปิ่นแก้ว' ที่เคยได้รางวัลระดับโลก

แม้"ข้าวปิ่นแก้ว" จะเคยได้รางวัลชนะเลิศระดับโลก แต่เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมี หลายสิบปีจึงสูญหายไปจากเมืองไทย ทั้งๆ ที่เป็นข้าวสายพันธุ์ดี

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ช่วงเก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่องแม่โพสพมายาวนาน ดิฉันได้สืบค้นต่อเนื่องไปถึงเรื่องของข้าวพื้นเมืองพันธุ์ต่างๆ ของชาวบ้านไทยไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะเรื่องของ “ข้าวปิ่นแก้ว” ที่ในสมัยดิฉันยังเป็นนักเรียนประถม โรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย จ.เพชรบุรี เคยได้เรียนรู้รับรู้มาตั้งแต่ละอ่อนตัวกะเปี๊ยกว่า ข้าวปิ่นแก้วนี้ อร่อยเลิศสุดๆ ชนิดไปประกวดชนะได้รางวัลระดับโลกมาแล้ว

160456689794

(ข้าวดีๆ ของชาวนาไทย)

คนรุ่นปัจจุบันคงไม่คุ้นกับชื่อนามของข้าวปิ่นแก้วล่ะกระมัง ดังนั้นเรามาทบทวนความจำเรื่องข้าวปิ่นแก้วกันก่อนดีกว่า

ข้าวปิ่นแก้วเป็นข้าวไทยที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าวโลกที่เมืองเรจินา(Regina) ประเทศแคนาดาในปีพ.ศ.๒๔๗๖ การประกวดครั้งนั้นมีประเทศต่างๆส่งข้าวเข้าประกวดถึง 176 รายการ มีรางวัลทั้งหมด 20 รางวัล ผลการตัดสินปรากฏว่า ข้าวจากประเทศสยามคว้ามาทั้งสิ้น 11 รางวัล โดยมีข้าวปิ่นแก้วเป็นนางเอก ได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ข้าวไทยมีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลกมาถึงบัดนี้

สำหรับประวัติของข้าวปิ่นแก้วนี้ ดิฉันเคยจดบันทึกข้อมูลไว้เมื่อประมาณหลายสิบปีก่อนว่า ดร.สงกรานต์ จิตรากร ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดพันธุ์เชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติในขณะนั้น ได้กล่าวถึงนางจวนไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้ปลูกข้าวพันธุ์นี้ที่อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อมีการเริ่มเก็บคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวทั่วประเทศในปีพ.ศ.2464 ได้มา 4000 กว่าสายพันธุ์ ข้าวปิ่นแก้วอยู่ในตัวอย่างที่ 2551 โดยข้าวปิ่นแก้วมีเม็ดสวยยาว รสชาติดี เป็นข้าวต้นสูง สูงประมาณ 150 ซม. แต่ถ้าน้ำมากก็สูงกว่านี้ได้ หากน้ำน้อยจะสูงประมาณ 130 ซม.

ยังมีเรื่องของข้าวปิ่นแก้วที่ครูใหญ่ในเรื่องข้าว พี่เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ที่ทำเรื่องข้าวมาตลอดชีวิต เคยเล่าให้ดิฉันฟังว่า มีรายงานของกระทรวงเกษตรฯในอดีตได้ระบุถึงข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะเมล็ดดี แตกกอ ทนแล้งพอใช้ ต้นและใบค่อนข้างโต ชอบน้ำมากๆ ถ้าได้น้ำสัก 50-60% ของความสูงต้นข้าวถือว่ากำลังดี ถ้าท่วมมากขนาด 70-80% ก็ยังขึ้นได้ดีเหมือนกัน

ข้าวปิ่นแก้วมีข้อตำหนิเพียงอย่างเดียวคือเมล็ดมักร่วงง่าย ดังนั้นพอข้าวเป็น “พลับพลึง” คือเหลืองไม่หมดเขียว หรือประมาณ 20-25 วันหลังออกรวง ควรลงมือเก็บเกี่ยว แต่ภาวะวิกฤตที่ข้าวปิ่นแก้วเผชิญก็คือ

หลังจากไปชนะการประกวดได้รางวัลอันดับหนึ่งของโลกแล้ว ทางราชการได้ส่งเสริมให้ชาวนาไทยปลูกข้าวปิ่นแก้วอยู่พักหนึ่ง หากเมื่อผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เข้ามาดูแลงานส่งเสริมทางการเกษตรไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งผู้เชี่ยวชาญอเมริกันก็ได้ตัดข้าวปิ่นแก้วออกจากการส่งเสริม เพราะเห็นว่าเป็นพันธุ์ไม่ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมี ข้าวปิ่นแก้วที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดระดับโลก จึงสูญหายไปจากเมืองไทยนับแต่บัดนั้น

จำได้ว่าช่วงต้นปีพ.ศ.2532 ครั้งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ดิฉันได้ลงพื้นที่ภาคสนามทำงานเป็นลูกมือพี่เดชา ศิริภัทร เข้าไปเก็บเมล็ดข้าว เมล็ดพันธุ์ธัญพืชพื้นเมืองตามหมู่บ้านชาวเขาชายแดนไทย ไกลสุดกู่แถบเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน อยู่ตามยอดดอยในหมู่บ้านม้ง กะเหรี่ยง ลีซอ อะข่า มูเซอร์ เย้า ทุกเผ่าชาวเขา ห่างไกลแค่ไหนก็ดั้นด้นไปกัน ยาวนานร่วม 1 ปีที่ดิฉันเดินขึ้นลงบันไดบ้านชาวเขาอยู่ไม่เว้นวาย

และครั้งนั้นดิฉันก็ได้ฟังพี่เดชาบอกเล่าถึงข้าวปิ่นแก้วที่สาบสูญไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง พยายามตามหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอสักที พี่เดชาคุยกับดิฉันถึงเรื่องของข้าวปิ่นแก้วหลายครั้งว่า ยาวนานร่วม 40 ปีแล้วที่ไม่มีใครพบเห็นข้าวปิ่นแก้ว นี่ข้าวปิ่นแก้วอันมีค่ายิ่งกว่าเพชรพลอยของเมืองไทยเรา จะสูญสิ้นไปอย่างไร้ร่องรอยหรือไร?

160456700037

(ชาวนามอญไถนาในจิตรกรรมคอสอง ศาลาวัดท่าข้าม บางขุนเทียน กรุงเทพฯ เขียนไว้สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 )

ครั้นถึงประมาณปีพ.ศ.2541 ดิฉันทำงานหนังสืออยู่ที่สำนักพิมพ์สารคดี กรุงเทพฯ ห่างไกลจากพี่เดชา เมล็ดข้าวกับพืชพันธุ์พื้นเมืองไปร่วม 10 ปี แต่ดิฉันกลับได้ปีติใจ อิ่มใจจนน้ำตาแทบไหล ในยามเช้ากลางสำนักงานหนังสือแห่งนั้น เมื่อตรวจดูข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างที่ทำอยู่ทุกวัน แล้วเจอข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งปรากฏอยู่ในนสพ.มติชนรายวัน ว่า

“พบข้าว “ปิ่นแก้ว” หลังสูญ 50 ปี พันธุ์เลิศเคยชนะอันดับ 1 โลก เดชา ศิริภัทร ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคมเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ศูนย์ปฐมอโศกได้แจ้งว่า หลังจากพยายามติดตามหาข้าวพันธุ์ปิ่นแก้ว ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีของไทยเคยได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดเมล็ดพันธุ์ข้าวโลกเมื่อปีพ.ศ.2476 ที่ประเทศแคนาดา

แต่ต่อมาได้หายสาบสูญไปเพราะทางราชการไม่ได้ส่งเสริมนั้น หลังจากรายการวิทยุของศูนย์ปฐมอโศกได้กระจายเสียงแพร่ข่าวนี้ออกไป ก็มีเกษตรกรในท้องถิ่น จ.นครสวรรค์ และจ.ลพบุรี แจ้งให้ทราบว่า เกษตรกรบริเวณรอยต่อของสองจังหวัดดังกล่าวยังปลูกข้าวพันธุ์นี้อยู่ แต่ปลูกในปริมาณไม่มากนัก เพียงแต่ใช้อาศัยบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น และได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ตัวอย่างมาให้แล้ว และตนก็ได้ส่งมอบให้ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติเพื่อตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นข้าวพันธุ์ดังกล่าวจริงหรือไม่”

หลายปีภายหลังเมื่อพบหน้าพี่เดชา ได้ทราบว่าเมล็ดข้าวที่ได้มาจากชาวนาลพบุรี-นครสวรรค์เป็นพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วของแท้ ของจริง และบัดนี้เป็นเรื่องน่ายินดียิ่งเพราะได้มีการปลูกคัดเลือกพันธุ์ขยายพันธุ์ข้าวปิ่นแก้วให้พ้นจากภาวะวิกฤตอันเสี่ยงต่อการสูญหายไปเรียบร้อยแล้ว

ฟังแล้วถอนหายใจได้เฮือกใหญ่ อิ่มเอิบหัวใจ ที่พี่เดชากับทางปฐมอโศกตามหาข้าวปิ่นแก้วเจอจนได้ เมล็ดข้าวพันธุ์หายไปนานนัก แต่ยังสามารถตามหากลับมาเป็นสมบัติสูงค่าของชาวไทยได้แล้วในบัดนี้

""""""""""""""""

ดูรายละเอียดเพิ่มที่ : เฟซบุ๊คนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว