ไทยมีผู้ป่วยเบาหวาน 5 ล้านคน แต่ดูแลรักษาเพียง 2.6 ล้านคน
พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก ปี 2563 นี้ สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF: International Diabetes Federation)กำหนดให้รณรงค์ในหัวข้อ NursesMake the Difference for Diabetes หรือในชื่อภาษาไทยทีjว่าเปลี่ยนวิกฤตเบาหวานด้วยพลังแห่งการพยาบาล
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ได้เผยตัวเลขที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วโลกนั้น อยู่ในวิชาชีพพยาบาลมากถึงร้อยละ 59 ของจำนวนทั้งหมด ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่การรณรงค์ในปีนี้ จึงมุ่งไปที่การสนับสนุนบทบาทของพยาบาล ซึ่งเป็นกำลังที่สำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับเบาหวานในระดับโลก
มีการประเมินว่าทั่วโลกยังต้องการพยาบาลอีกอย่างน้อย 6 ล้านคน จึงจะเพียงพอต่อการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขให้เดินหน้าไปได้ด้วยดี อีกทั้งควรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 8 ต่อปี เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอในปี 2573
ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า สถานการณ์ประเทศไทยตอนนี้มีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ราว 5 ล้านคน หรือเปรียบเทียบ ได้ว่า 1 ใน 11 คนไทยที่อายุ 15 ปีขึ้นไป กำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน และมีอัตราเพิ่มขึ้นประมาณหนึ่งแสนคนต่อปี ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ขณะที่ผู้ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษามีเพียง 54.1% หรือเพียง 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้มีเพียง 1 ใน 3 คน ที่สามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษา ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานในเมืองไทยมีมากถึง 200 รายต่อวัน
"ที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับประเทศไทย คือ ความชุกของเบาหวานที่เกิดจากปัญหาโรคอ้วนและพฤติกรรมการใช้ชีวิตในเด็กวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนวัยทำงานและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี กล่าว
ปีนี้ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดThe International Diabetes Federation Congress2021 หรือ World Diabetes Congress 2021 เป็นงานประชุมใหญ่ของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ 2564 ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 9 ธันวาคม 2564 เมื่อพิจารณาจากทรัพยากร ความพร้อม และความมุ่งมั่นในการจัดการวิกฤตการณ์เบาหวาน จากสมาชิกทั้งหมด 168 ประเทศBangkok IDF Congress 2021 จึงถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการประกาศศักยภาพของประเทศไทยบนเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของ COVID-19
- ยาฉีดคุมน้ำหนัก-อินซูลินลดเบาหวาน
นพ.สิทธิผล ชินพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่ ปัจจุบันมีการใช้ยาฉีดเพื่อควบคุมน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนและควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดนํ้าหนัก โดยแพทย์จะทำการฉีดยาใต้บริเวณผิวหนังตามความเหมาะสม
เช่น บริเวณ ต้นขา หน้าท้อง ต้นแขน ร่วมกับคนไข้ต้องควบคุมอาหารและออกกำลังกาย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ข้อดีของการใช้ยาฉีดเพื่อควบคุมน้ำหนักและควบคุมน้ำตาล คือ1) ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด 2) ควบคุมความอยากอาหาร รู้สึกหิวน้อยลง 3) น้ำหนักลดลง 4) ผลข้างเคียงน้อย
ทั้งนี้ การดูแลรักษาโรคเบาหวานและโรคอ้วนแบบองค์รวม (Multidisciplinary Team)ตามมาตรฐานในระดับสากล(JCI)ประกอบไปด้วย
1.การให้ความรู้ เพื่อระวัง ป้องกัน ดูแลตัวเองที่บ้าน (Self-Management)
2.จัดกลุ่มผู้ป่วยอบรมนอกสถานที่กับกลุ่มผู้ที่มีความชำนาญในทุกสหสาขาวิชาชีพ (Seminar and Camp)
3.นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร ร่วมดูแลและให้คำปรึกษาการทานอาหารตามลักษณะเฉพาะบุคคล
4.แพทย์สหสาขาวิชาชีพดูแลแบบครบวงจร (One Stop Services) เกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานและโรคอ้วน
5.ยารักษาโรคในปัจจุบันที่มีให้เลือกทุกชนิดทุกแบบ ทั้งชนิดรับประทาน ทางผิวหนัง และฉีดอินซูลินแบบ Insulin Pump ซึ่งปัจจุบันมียาฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่ช่วยลดน้ำหนักและน้ำตาลได้พร้อมกัน
6.การดูแลต่อที่บ้านโดยส่งข้อมูลผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อออนไลน์ เช่น เครื่องเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว (Self-Monitoring Blood Sugar(SMBG)), Continuous Glucose Monitoring System(CGMS) แบบ Internet of Medical Things (IOMTs) เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องชั่งน้ำหนัก
7.การเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สุขภาพ ประวัติการรักษาของผู้ป่วย (Electronic Medical Records)เพื่อใช้ในการรักษาและส่งต่ออย่างราบรื่นและทันเวลา 8.ระบบการดูแลผู้ป่วยกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ผ่านออนไลน์นอกโรงพยาบาล (Telemedicine)เพื่อความต่อเนื่องในการรักษา เพิ่มความสะดวกในการนัดหมายดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ติดตามผลเลือด ส่งยาถึงบ้านได้ทุกวัน ลดการเดินทางโดยไม่จำเป็น และลดความแออัดของสถานที่อีกด้วย