9 เคส ผู้ป่วยโควิด-19 บทเรียนรับมือ ติดเชื้อในประเทศ

9 เคส ผู้ป่วยโควิด-19 บทเรียนรับมือ ติดเชื้อในประเทศ

สธ. ยก 9 เคส ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ ใน 2 เดือนที่ผ่านมา บทเรียนสำคัญรับมือครั้งต่อไป ชี้กล้องวงจรปิด เช็กอินไทยชนะ ประสานงานบูรณาการทำงาน ใส่หน้ากากอนามัย ปัจจัยสำคัญสอบสวนโรครวดเร็วขึ้น ขณะที่ชายแดนยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด

วันนี้ (28 พ.ย.) ที่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในงานแถลงข่าวกรณีไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ โดยย้อนรอยกรณีที่พบการติดเชื้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ว่า มีกรณีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายเหตุการณ์ในประเทศไทยให้เรียนรู้ โดย 9 กรณีมีการพบผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ดังนี้

“กรณีที่ 1ชาวเมียนมาติดเชื้อชายแดนอำเภอแม่สอด 5 ราย ขณะนี้ มีระบบนิวนอร์มัลในการขนส่งสินค้าใน Safety Zone ตรวจหาเชื้อพนักงานขับรถทุกสัปดาห์ เมื่อเจอผู้ป่วยส่งกลับไปรักษา ถือเป็นต้นแบบให้ด่านชายแดนอื่นๆ

“กรณีที่ 2 หญิงชาวฝรั่งเศส ที่สมุย ติดเชื้อใน ASQ พบมีการปนเปื้อนเชื้อที่ฟิตเนส ขณะนี้สิ่งที่เป็นปัญหา คือ ระบบระบายอากาศ ดังนั้น ต้องมีการเข้มงวดในการทำความสะอาดให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการตรวจสอบระบบอีกครั้งในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ กล้องวงจรปิดสำคัญมาก ในการติดตามผู้ป่วยและผู้อยู่ระแวกเดียวกัน

“กรณีที่ 3”  การลักลอบเข้าเมืองของชาวเมียนมา ที่ จ.พัทลุง เบื้องต้นให้ข้อมูลว่าเข้าทางอำเภอแม่สอด แล้วเดินทางไปสงขลา จากผลสอบสวนโรคได้ข้อเท็จจริงว่า มาจากชายแดนมาเลเซีย เป็นประสบการณ์ว่า ข้อมูลที่ได้ครั้งแรกอย่าปักใจเชื่อทั้งหมด เนื่องจากผู้กระทำผิดกฎหมายมักไม่บอกความจริง การสอบสวนโรคต้องอาศัยหลักฐานหลายๆ อย่าง โดยชายแดนยังเป็นจุดสำคัญที่ต้องระมัดระวัง

“กรณีที่ 4 ชายชาวอินเดีย ที่กระบี่ ตรวจพบเชื้อจากการตรวจร่างกายเพื่อทำใบ Work Permit กรณีนี้พบว่า มีการเดินทางไป เชียงใหม่ สุโขทัย ภูเก็ต ทำให้ต้องระดมทีมสอบสวนโรคเกือบทั่วประเทศ บูรณาการทำให้สามารถควบคุมได้เร็ว ข้อดี คือการติดตามค่อนข้างดี ผู้สัมผัสทุกรายไม่มีการติดเชื้อ สรุปคือ เป็นการติดเชื้อนานแล้ว ไม่ติดต่อ และคาดว่าในอนาคตจะเจอแบบนี้อีกพอสมควร

“กรณีที่ 5ทหารเกาหลี คล้ายกับชาวอินเดียที่กระบี่ มีการตรวจสอบผู้ประชุมร่วมกันพบเสี่ยงต่ำ มีการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ไม่พบผู้ติดเชื้อ ข้อดีของเคสนี้ คือ ได้รับความร่วมมือจากเกาหลีอย่างดี ผู้ติดเชื้อรายนี้เชื้อค่อนข้างน้อย ตรวจแล็บซ้ำอีกครั้งผลเป็นลบ คาดว่าเป็นการติดเชื้อมาก่อนหน้านี้แล้ว คล้ายกับชายชาวอินเดียที่กระบี่ ติดเชื้อนานแล้ว ไม่ติดต่อ

“กรณีที่ 6รัฐมนตรีจากฮังการี ที่มาเยือนไทย ตรวจพบเชื้อวันแรกที่มา มีการดูแลและส่งกลับประเทศไปรักษา จากการวางระบบทำให้ตรวจจับได้รวดเร็ว  และการร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไทยส่งข้อมูลให้ทางการกัมพูชา ทำให้ตรวจเจอเชื้อที่กัมพูชาเพิ่ม 3-4 คน ส่วนท่านทูตฮังการีที่ติดเชื้อเนื่องจากสัมผัสใกล้ชิด แต่มีการกักตนเองและใส่หน้ากาก ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อต่อ

“กรณีที่ 7”  ชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมืองในค่ายอุ้มเปี้ยม อำเภอพบพระ ปริมาณเชื้อค่อนข้างน้อย อาจเป็นการติดเชื้อนานแล้ว ผู้สัมผัสในค่ายให้ผลเป็นลบ แนวโน้มคล้ายกับชาวอินเดียที่กระบี่

“กรณีที่ 8” หญิงชาวเมียนมา-ไทย อายุ 17 ปี มีโรคประจำตัว คือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE มารักษาที่ไทยเป็นการติดเชื้อจากชายแดนและลักลอบเข้ามา

“กรณีที่ 9 ล่าสุด หญิงไทยอายุ 29 ปี ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการลักลอบเข้ามาเช่นกัน โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จะประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์และตรวจสอบเพิ่มเติม

160655401672

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ 9 เคส ที่ผ่านมา สิ่งที่เรียนรู้ คือ การใส่หน้ากากอนามัยสม่ำเสมอในที่สาธารณะมีความจำเป็น ช่วยได้หลายกรณีในการป้องกันโรค ยกเว้นช่วงรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรืออยู่คนเดียว แต่ขอให้ใส่ในที่สาธารณะทุกครั้ง สิ่งที่เรียนรู้ถัดมา คือ หากสอบสวนโรคได้เร็ว ทำให้ควบคุมโรคได้เร็ว ดังนั้น กล้องวงจรปิด และไทยชนะเป็นสิ่งสำคัญ  ขณะที่ ร้านค้า ตึก ที่มีกล้องวงจรปิด ช่วยได้มาก อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงสำคัญ คือชายแดน ต้องเข้มงวด

“วัตถุประสงค์ในการควบคุมโรค คือ ยืนยันว่าผู้ป่วยรายนั้นเป็นการติดเชื้อโควิด-19 จริง ถัดมา คือ หาสาเหตุว่าติดมาจากที่ใด และ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นการแพร่กระจายให้ผู้อื่น แต่ในบางรายอาจจะให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการสอบสวนเพื่อให้เกิดความมั่นใจและให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงเป็นบทเรียนและประสบการณ์ในการป้องกันในครั้งต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว