หากอยากเที่ยวป่าเดินเล่นแบบชิลๆ ไม่เหนื่อย ไม่ไกล "ป่านิเวศกลางกรุง"ของปตท. แถวๆ สุขาภิบาล 2 ร่มรื่นและรื่นรมย์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีมุมสูงบนสะพานให้ถ่ายรูปสวยๆ
บางคนแทบไม่รู้เลยว่า ในกรุงเทพฯมีป่าให้เดินเล่น ซึ่งเป็นเสมือนปอดแห่งใหม่ของคนเมือง มีต้นไม้นานาพันธุ์ร่มรื่นและน่าชมมาก ยิ่งช่วงนี้อากาศเย็นๆ ยิ่งน่าเดินเที่ยว
โครงการดีๆ แบบนี้ไม่แนะนำคงไม่ได้แล้ว
ทางสถาบันปลูกป่า ปตท.ได้พัฒนาพื้นที่รกร้าง12 ไร่ จัดทำโครงการป่าในกรุงกว่า 9 ไร่ ทำเป็นป่านิเวศ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับสภาพป่าธรรมชาติแต่อยู่ในเมือง
ที่น่าสนใจคือ ป่าในกรุง มีการปลูกป่าด้วยพันธุ์ไม้ดั้งเดิม และมีแนวคิดปล่อยให้ป่าจัดการตัวเอง ตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์ดร.อาคิระ มิยาวากิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮาม่า และผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้ด้านนิเวศวิทยานานาชาติประจำประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นผู้สืบทอดแนวคิดการสร้างป่าโดยดำรงสภาพธรรมชาติไว้
ป่าในกรุงฯเปิดให้ชมมาหลายปีแล้ว มีการปลูกต้นไม้ดั้งเดิมและไม้หายากกว่า 300 ชนิด เป็นสถานที่เรียนรู้ธรรมชาติที่น่าสนใจทีเดียว มีคนบรรยายในแต่ละรอบและยังเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้คนได้เห็นว่า ในอดีตกรุงเทพฯมีต้นไม้นานาพันธุ์ อะไรบ้าง
ถ้าอยากรู้ว่า ป่าดั้งเดิมของกรุงเทพฯเป็นอย่างไร ต้องแวะมาที่ป่าในกรุง สุขาภิบาล 2 (ดูล้อมกรอบด้านล่าง)
ป่าในกรุงตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ มีตั้งแต่ป่าไม่ผลัดใบ ป่าดิบที่ลุ่ม ซึ่งพบเห็นได้ในที่ราบลุ่มภาคกลาง ตามริมแม่น้ำ ห้วย หนอง ลำคลอง บึง สลับภูมิประเทศที่เป็นดอน เนินหรือโคก มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 0-100 เมตร ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่เหลือป่าแบบนี้แล้ว
ที่นี่พยายามปลูกทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง พืชป่าน้ำกร่อย และพืชป่าทนเค็ม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ
โดยการนำแนวคิดของท่านอาคิระมาประยุกต์ใช้ เน้นการปลูกพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของพื้นที่ มีการเตรียมดิน และสร้างเนินดิน เตรียมกล้าไม้จากการเพาะเมล็ด และกล้าไม้ต้องอายุหกเดือนขึ้นไป ความสูง 80-100 เซนติเมตรเพาะในถุงดำ ต้องมีรากแก้วแข็งแรงสมบูรณ์ โดยจะปลูก 3-4 ต้นต่อตารางเมตร ปลูกแบบสุ่มๆ ไม่เป็นแนวเป็นแถว เพื่อให้กล้าไม้แข่งกันโตตามธรรมชาติ
และปลูกไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ไม้พื้นล่าง หลากหลายชนิด อาทิ ยางนา, ตะเคียนทอง, มะขามป้อม, ตะแบก, พระเจ้าห้าพระองค์, นนทรี, มะกล่ำต้น, มะเดื่อ, มะค่าโมง, ลำดวน, ขันทองพยาบาท, หว้า, สมอพิเภก, สมอไทย, ยมหอม, มะสัง, มะค่าแต้, ประดู่ป่า, แดง, ชุมแสง, ชะมวง, แคนา ฯลฯ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ส่วนเทคนิคการปลูกก็ไม่ได้ซับซ้อน คนทั่วไปสามารถนำไปใช้ได้ คือ โดยจะนำกล้าไม้ไปจุ่มน้ำก่อนปลูก หลังจากปลูกแล้วให้คลุมด้วยฟางข้าว หรือวัสดุย่อยสลาย เพิ่มความร่วนซุยให้ดิน และพื้นที่บางส่วนทำเป็นเนินดิน เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวดิน ธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน
.................
ป่าในกรุง
-ป่าในกรุงมีพื้นที่ 12 ไร่ แบ่งเป็นพืนที่ปลูกป่านิเวศ 9 ไร่หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ,พื้นที่แหล่งน้ำ 10 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่อาคารเพื่อการเรียน 15 เปอร์เซ็นต์
-อาคารนิทรรศการและเส้นทางธรรมชาติ โดยอาคารคล้ายลำต้นของต้นไม้ หลังคาใช้ปลูกต้นไม้ในรูป Roof Garden ให้อาคารกลมกลืนธรรมชาติ เพื่อเป็นต้นแบบนวัตกรรมอาคารเขียว โดยผนังอาคารใช้วัสดุดินธรรมชาติ ผนังดินเป็นฉนวนกันความร้อน ช่วยลดความร้อนสู่ตัวอาคาร
-นอกอาคารมีจัดนิทรรศการ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์แหงชาติ เรียนรู้ด้วยเมล็ดพันธุ์ต้นกำเนิดป่าในกรุงในเรซิ่นใส ส่วนภายในอาคารมีนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้เห็นว่า คน ป่า เมือง ต้องเกื้อกูลและพึ่งพาซึ่งกันและกัน
-หลังคาสวนสีเขียว ใช้ชมทิวทัศน์ โดยปลูกไม้นานาพรรณ ช่วยลดความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร
-ทางเดินชมเรือนยอด (Sky Walk) เพื่อเรียนรู้สังคมพืชระดับต่างๆ ทางเดินตั้งแต่ระดับพื้นดินถึงระดับความสูง 10.2 เมตร ระยะทาง 200 เมตร ซึ่งตรงนี้เป็นความรื่นรมย์ที่อยากแนะนำ
-หอชมป่า ความสูง 23 เมตร อยากเห็นกรุงเทพฯ ต้องขึ้นหอแห่งนี้
-ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงเปิดทำการ ในวันอังคาร-วันอาทิตย์ (หยุดทุกวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น.สามารถ Walk in ได้ตลอดเวลาทำการ อยู่ที่ถนนสุขาภิบาล 2 เขตประเวศ เปิดให้ชมทุกวัน (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)
-ตรวจสอบรอบการชมได้ที่เว็บ http://www.pttreforestation.com หรือสอบถามโทร 02-1366380 กรณีที่มีคณะเข้าเยี่ยมชมมากกว่า 30 ท่านขึ้นไป ต้องติดต่อล่วงหน้า 3 วัน