ความท้าทายวงการแพทย์ ในยุคโควิด-19
กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกเปรียบเสมือนถูกดิสรัปด้วยเชื้อไวรัสโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้วงการแพทย์ต้องสะเทือน ขณะเดียวกัน โรคภัยต่างๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน ยังถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของวงการแพทย์อีกด้วย
ผศ.นพ. มนต์เดช สุขปราณี อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า โควิด-19 ทำให้วงการแพทย์ เรียนรู้ เปลี่ยนแปลง หลายคนมองว่า โควิด-19 เข้ามาดิสรัป แต่ด้วยธรรมชาติมนุษย์ และ ธรรมชาติวงการแพทย์ ที่ไม่ยอมรับสภาพแบบนี้ ทำให้ทุกที่ต้องปรับตัวหลายอย่าง พัฒนา แก้ไขปัญหา เพื่อความปลอดภัยของคนไข้และบุคลากรทางการแพทย์ เกิดนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในสถาบัน และ นวัตกรรมที่รับมาจากต่างประเทศ มีการศึกษาหลายนวัตกรรมว่า แบบไหน สามารถแก้ปัญหาใดได้บ้าง
“ต้องยอมรับว่าวงการแพทย์ไม่ได้ตอบโจทย์ทุกอย่าง และเทคโนโลยีก็ไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่างได้ ดังนั้น โจทย์เหล่านี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งวงการแพทย์ โรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์ ทุกแห่ง รวมถึงเมดพาร์ค การปรับตัวครั้งนี้มีเดิมพันที่สูงมาก คือ ความปลอดภัยของคนไทย และ ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ แพทย์ และพยาบาล”
ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา เมดพาร์ค ได้ทุ่มเท พยายามแก้ปัญหาจุดอ่อนในการดูแลคนไข้ทุกรูปแบบ นำเทคโนโลยีที่มีอยู่ หรือ มีอยู่ ณ ที่อื่นมาเสริมศักยภาพของโรงพยาบาล พร้อมกับฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ให้มีความเชี่ยวชาญ ใช้งานอุปกรณ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าปัญหายังมีอยู่ แต่ต้องไม่ยอมแพ้และไม่ยอมรับสภาพ ทำให้ศักยภาพในการดูแล ทั้งคนไข้ทั่วไป และเตรียมพร้อมดูแลคนไข้โควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ระดับเบาที่สุด และ หนักที่สุด รวมถึงศักยภาพของอุปกรณ์ทั้งในประเทศ และ นำเข้าจากต่างประเทศ ล้วนใช้เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลคนไข้ให้มีประสิทธิภาพสูง
“วิกฤติของโควิด-19 มีการปรับปรุง รพ. แทบจะทุกวินาที ทุกวัน ในการนำเอามาตรการ เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ปลอดภัย ในรองรับคนไข้ที่มารับการรักษา”
อุบัติการณ์ของโรคที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 เอง หรือ โรคยากที่มีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ทำให้วงการแพทย์ต้องพัฒนาศักยภาพ พัฒนาความรู้อยู่เสมอ และการพัฒนาต้องมีความรวดเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ขณะเดียวกัน เมดพาร์คที่มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สู่การเป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์มาตรฐานสากล สำหรับโรคยากและซับซ้อนแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ จึงทำการรวมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 140 คน มีแพทย์เฉพาะทางกว่า 30 สาขา โดยทีมแพทย์กว่า 70% ผ่านการฝึกอบรมในต่างประเทศ
ผศ.นพ.มนต์เดช กล่าวเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่าแพทย์ต้องมีความรู้ความสามารถเป็นมาตรฐาน แต่นอกจากนั้น แพทย์ที่มีทัศนคติดูแลคนไข้ ไม่ย่อท้อ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับคนไข้ได้ ถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง ไม่ใช่เก่งอย่างเดียว แต่ต้องต่อสู้เพื่อคนไข้ด้วย ศักยภาพของแพทย์ ต้องสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้อื่น และสามารถคิดค้นวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ
“เป้าหมาย ไม่ใช่แค่เป็น รพ. เอกชนที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างสิ่งที่แตกต่างให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างคน เพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ โดยการสอนเชิงวิจัย เชื่อว่าเราทำได้ และปักธงในการไปสู่จุดนั้นอย่างชัดเจน ว่าจะเป็นที่พึ่งทางด้านการแพทย์ของใครก็ได้ในโลกนี้ เป็นเป้าหมายที่คิดและพยายามทำให้ได้”
ด้าน ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า โรงพยาบาลเอกชนของต่างประเทศ เช่น เมโย คลินิก สิ่งที่ทำให้เขามีชื่อเสียงได้ต้องมีการเรียนการสอน งานวิจัย เพื่อสร้างคนให้ได้ศักยภาพ ดังนั้น นโยบายสำคัญของเมดพาร์ค คือ การสร้างบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้มีการอนุญาตให้ภาคเอกชนมีแพทย์ฝึกหัดได้ ซึ่งที่ผ่านมา ได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในการร่วมมือเทรนด์แพทย์ฝึกหัด แลกเปลี่ยนแพทย์ในการศึกษาเพิ่มเติม 6 เดือน - 1 ปี เชื่อว่าจะมีประโยชน์มากในการถ่ายทอดความรู้ได้โดยตรง
“ มีการเซ็น MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนแพทย์ฝึกหัด หรือแม้แต่อาจารย์แพทย์ เช่น เดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่โรงเรียนแพทย์จะใช้โรงพยาบาลหลายแห่งในการสอน ศึกษา พร้อมกับให้อเมริกันบอร์ดมาตรวจสอบโรงพยาบาล เพื่ออนุมัติว่า โปรแกรม Residency training มีความสามารถพอที่จะสอบอเมริกันบอร์ดได้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แพทย์ไทยไม่ต้องเดินทางไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เพื่อสอบอเมริกันบอร์ด ซึ่งเป็นแผน 2 ปีหลังจากนี้”
ศ.นพ.สิน กล่าวต่อไปว่า อเมริกันบอร์ดในไทยมีจำกัด ดังนั้น หากมีโปรแกรมตรงนี้จะมีแพทย์อเมริกันบอร์ดครอบคลุมเชี่ยวชาญในโรคต่างๆ มากขึ้น โรงพยาบาลที่ดี ก็จะได้นักเรียนที่ดีมาเป็น Residency และต้องมีคนไข้ที่เป็นอาจารย์ที่ดี เชื่อว่าตรงนี้จะกระตุ้นให้โรงพยาบาลต้องพัฒนา และประโยชน์ก็อยู่กับคนไข้ เป้าหมายสูงสุดของเมดพาร์ค ไม่ใช่การแข่งขันในประเทศ แต่เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคู่แข่ง คือ สิงคโปร์
“การแพทย์ของไทย เป็นที่ยอมรับของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก่อนโควิด-19 ย้อนหลัง 12 เดือน รายได้จาก Medical Tourism เข้าประเทศ 2 แสนล้านบาท โดยรายได้จากโรงพยาบาลไม่ถึง 20% นอกนั้น เป็นรายได้จากกิจกรรมการกิน ที่พัก จึงเป็นสาเหตุที่หลายประเทศต้องการ”
ดังนั้น การที่ เมดพาร์ค ตั้งเป้าในการเป็น รพ.รักษาโรคยาก ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในการดึงต่างชาติเข้ามารักษาในไทย และเป็นเหตุผลที่ทำไมเมดพาร์คถึงกลายเป็นจุดร่วมของแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมในการรักษาโรคต่างๆ
“ศ.นพ.สิน” กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ผู้บริหาร แพทย์ ทุกคนรัก รพ.ร่วมกัน ดูแลคนไข้ ร่วมกันทำงานทุกอย่างให้ดี เป็นวัฒนธรรมที่สร้างขึ้น ทุ่มเวลาให้มั่นใจว่าคนไข้ต้องรอดให้ได้ แพทย์ทีมหนึ่ง มี 5-6 คน ทุกทีมจะเชื่อมั่นในศักยภาพของเพื่อนในทีม
“แพทย์ที่เก่งเขาอยากจะอยู่รวมกัน พอเริ่มมีแพทย์เก่งๆ มา ก็จะดูดคนอื่นตามมา และคนไข้ก็จะตามมา เพราะหากเปรียบแพทย์เป็นสินค้า ก็นับว่าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน ลองผิดลองถูกไม่ได้ เช่นที่ยกตัวอย่าง เมโย คลินิก อยู่ในเมืองที่เล็ก เอ็นเตอร์เทนเมนท์ไม่มี ถามว่าทำไมมีแพทย์อยู่ได้หลายพันคน เพราะเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลระดับโลก” ศ.นพ.สิน กล่าวทิ้งท้าย