'เซลฟี่'พิฆาต
แม้เรื่องการถ่าย'เซลฟี'แบบท้าทายจะถูกกล่าวถึงมาเยอะแล้ว แต่ก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนที่ชอบอวดรูปแปลกและแตกต่าง บางสถานที่ก็ไม่เหมาะไม่ควร ถ้าอย่างนั้นลองอ่านงานวิจัยเรื่องนี้
คำว่า “เซลฟี (selfie)” เป็นคำศัพท์ที่ใหม่ทีเดียว เพิ่งบรรจุเข้าพจนานุกรมฉบับออกซ์ฟอร์ดในปี 2013 พร้อมๆ กับตำแหน่ง “คำแห่งปี” เพราะปีนั้นถือว่าเป็นปีที่พฤติกรรมเซลฟีท้อปฟอร์มมากจริงๆ หากจะจำกัดความก็คงประมาณว่าเป็น “ภาพถ่ายที่คนผู้นั้นถ่ายตัวเองและมักนำไปใช้กับโซเชียลมีเดีย” บางคนก็รวมเอากริยาท่าทางตอนถ่ายรูปที่ว่าไว้ด้วย
ที่ตลกและไม่น่าเชื่อ ก็คือ แม้ว่าจะมีคนราว 7 ใน 10 คนต้องเคยถ่ายเซลฟีตัวเองสักครั้งในชีวิต และตัวเลขในปี 2014 ระบุว่า น่าจะมีรูปเซลฟีรวมกันทั่วโลกมากกว่า 2,000 ล้านใบ แต่เคยมีการสำรวจพบว่าคน 1 ใน 4 ไม่รู้ว่าคำนี้มีความหมายอย่างไรกันแน่ !
อาจมีคนสงสัยว่าผู้ชายกับผู้หญิง ใครถ่ายภาพเซลฟีมากกว่ากัน ?
ไม่น่าแปลกใจที่คำตอบคือ ผู้หญิง เพราะหากนับจำนวนกันใน 100% ของภาพถ่ายพวกนี้ สาวๆ เหมาไปซะ 64% หรือมากเกือบเท่าตัวของผู้ชาย ในหมู่พวกผู้หญิงด้วยกันเองก็นิยมถ่ายภาพแบบนี้มากคือ 90% ชอบถ่ายแบบนี้ ต่างกับผู้ชายที่มีแค่เพียง 50% ที่ยกอุปกรณ์ขึ้นมาถ่ายตัวเอง
คนเรามีเหตุผลอะไรที่อยากถ่ายรูปเซลฟี ?
ผลการสำรวจ 35% บอกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขความทรงจำ ขณะที่เกือบเท่าๆ กันคือ 34% บอกว่าอยากจับช่วงเวลาแห่งความสนุกสนานเอาไว้ น้อยลงมาคือ 15% บอกว่าอยากถ่ายในชุดเสื้อผ้าสวยๆ เก็บไว้ดู ซึ่งพอๆ กับพวกที่อยากเก็บภาพวันทรงผมถูกใจ (14%) หรือรู้สึกมั่นใจ (13%)
อุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายเซลฟีล่ะ ?
เป็นไปตามคาดคือใช้สมาร์ทโฟนมากที่สุด (67%) รองลงมาคือใช้กล้องถ่ายรูป (26%) และเว็บแคม (8%) ถามต่อว่ามักนิยมถ่ายเซลฟีกันตอนไหน ? คำตอบสามสี่อันดับแรกไม่ทิ้งกันมากนักคือ ถ่ายวันหยุดพักผ่อน (19%) ในห้องนั่งเล่น (19%) ออกไปย่ำราตรี (17%) ในห้องนอน (16%) และตามงานอีเวนท์ต่างๆ (10%)
โดยประเทศที่คนไปใช้ถ่ายเซลฟีมากที่สุดคือ ออสเตรเลีย, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา แต่สนามบินสุวรรณภูมิและพระบรมมหาราชวังของบ้านเรา ก็เคยทำสถิติเป็นสถานที่ท็อปของโลกสำหรับการแชร์รูปเซลฟีมาแล้วเช่นกัน
พฤติกรรมที่น่าสนใจก็คือ แม้คนกว่าครึ่ง (58%) จะตอบแบบสำรวจว่า ไม่ได้ปรับแก้รูปก่อนโฟสต์ แต่ที่เหลือบอกว่า ทำ โดยใช้โปรแกรมต่างๆ ไมว่าจะเป็นโฟโต้ช้อป (43%) อินสตาแกรม (29%) หรือคาเมรา 360 (7%)
ครั้นเจาะลึกลงไปอีกว่าปรับแก้อะไร คำตอบคือ สีผิว (39%) ความสว่างหรือสีตา (24%), รูปร่างหรือขนาดดวงตา (13%) โดยมี 11% ที่ปรับรูปร่างริมฝีปาก และรูปร่างตัวด้วย !
คำแนะนำที่น่าสนใจคือ ควรยิ้มเข้าไว้ตอนถ่าย และรูปโปรไฟล์ไม่ควรใส่แว่นตา (คน 28% ไม่สนใจคลิกดูหากใส่แว่น) และในกรณีทวิตเตอร์ รูปโปรฟล์งามๆ เรียกผู้ติดตามได้มากเป็น 10 เท่า !
มีอยู่สองเรื่องที่ควรระวังเกี่ยวกับเซลฟีคือ พบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่โพสต์รูปตัวเองในโซเชียลมีเดียบ่อยจนคล้ายกับเสพติดเรียกว่าเป็น เซลฟีซินโดรม (selfie syndrome) หรือนาซิสซิสซึม (narcissism) เรียกง่ายๆ ว่าเป็นพวก “หลงรูปตัวเอง” คำว่า “นาซิสซิสซึม” มาจากเทพนิยายกรีกที่นายพรานชื่อ นาซิสซัสหลงรักรูปตัวเองในน้ำ เฝ้ามองอย่างลุ่มหลงจนจมน้ำตายในที่สุด
อันที่จริงแล้วคนที่มีอาการเหล่านี้ มักมีปัญหาเรื่อง ความมั่นคงทางจิตใจ
มีนักวิจัยที่ตั้งสมมุติฐานว่า ลักษณะของการเชื่อมต่อกันผ่านสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์ อาจส่งเสริมพฤติกรรมแบบนี้ในทางอ้อมด้วย
ลักษณะอาการป่วยของคนจำพวกนี้เห็นได้ไม่ยาก เช่น ไม่ใส่ใจฟังคนอื่นจริงจัง, คิดถึงแต่ตัวเองเป็นนิจ หากจะเอื้อเฟื้อกับใครก็มักจะมีผลประโยชน์แอบแฝง, ไม่สนใจกฎกติกาสังคมนัก, ยอมรับคำวิจารณ์ไม่ได้, ไม่มีความรับผิดชอบ มักชอบโบ้ยความผิดให้คนอื่นสิ่งอื่น และโกรธฉุนเฉียวง่ายๆ
สรุปง่ายๆ ว่าลักษณะของพวกที่ชาวเน็ตเรียกว่า “พวกเกรียน” บนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
แต่ผมคงต้องระบุให้ชัดเจนตรงนี้ว่า คนที่ถ่ายหรือโพสต์รูปเซลฟีตัวเองนั้น ไม่จำเป็นต้องป่วยหรือเสพติดอาการแบบนี้ไปเสียทุกคน แต่หากทำบ่อยและมีอาการร่วม เช่น ใช้เวลาปรับแต่งรูปอย่างมากมาย เพื่อให้แน่ใจว่าดูดีที่สุดตลอดเวลา ก็เป็นไปได้ว่าเริ่มมีอาการดังว่าบ้างแล้วครับ
มีงานวิจัยของทีมที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตทระบุว่า การเข้าโซเชียลมีเดียบ่อยเกินไปส่งผลเสียได้หลายอย่างมากๆ ไม่ว่าจะเป็นทำให้มีอาการไฮเปอร์หรือเป็นคนสมาธิสั้น, ย้ำคิดย้ำทำ หรือเกิดภาวะซึมเศร้า จนแม้แต่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในบางราย
ภัยอีกอย่างหนึ่งจากการถ่ายเซลฟีก็คือ การทำเป็นประจำจนขาดความรับรู้เรื่องกาลเทศะหรืออันตราย เช่น มีผลสำรวจในคนยุโรปมากกว่า 7,000 คน (อายุระหว่าง 18-24 ปี) พบว่ามี 50% ที่เคยขับรถไปถ่ายรูปไปด้วย โดยจากกลุ่มที่สำรวจมีถึง 1 ใน 4 ที่ยอมรับว่าเคยถ่ายรูปเซลฟีตอนขับรถมาแล้ว ผู้ชายมีสัดส่วนมากกว่า
คนอังกฤษทำสถิติสูงที่สุดมากกว่าใครเพื่อน คือมากถึง 1 ใน 3 และแม้ว่า 95% ของคนเหล่านี้จะระบุว่า รู้ดีว่าการขับรถไปถ่ายรูปไปเป็นเรื่องอันตรายแต่ก็ยังทำ เรียกว่า...รู้แต่ไม่สำนึกจริงๆ
หลังๆ มานี้ไม่เพียงแต่ตอนขับรถ ยังมีเทรนด์การเสี่ยงตายถ่ายรูปเซลฟีแปลกๆ เช่น ปลายหน้าผา, บนยอดตึกสูง หรือที่แปลกๆ อื่นๆ ทำไมคนเราจึงเสี่ยงตายเพื่อให้ได้รูปแปลกๆ เช่นนั้น ?
นักจิตวิทยาคาดว่าเพราะความพร้อมของเครื่องมือคือ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต และความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับความต้องการการยอมรับหรือต้องการแสดงความกล้าในวัยรุ่น สรุปง่ายๆ ก็คือ ความอยากมีส่วนร่วมเชิงสังคม ทำให้เราอยากเลียนแบบหรือแม้แต่แข่งขันกับคนอื่นๆ
แรงขับของความเป็นสัตว์สังคมที่ชอบการเปรียบเทียบ จึงทำให้หลายคนยอมทำอะไรแปลกๆ แม้จะเสี่ยงด้วยชีวิตก็ตาม !