'เดือนรุ่งฟ้า' จบมัณฑศิลป์มาเป็นเกษตรกร แค่วิถีไม่ใช่อาชีพ

'เดือนรุ่งฟ้า' จบมัณฑศิลป์มาเป็นเกษตรกร แค่วิถีไม่ใช่อาชีพ

ไม่ใช่ปัญญาชนหักมุม ที่เบื่อชีวิตแบบเมืองๆ มาทำการเกษตร แต่ใช้ชีวิตเรียบง่ายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และนี่คือชีวิตเรียบๆ ของสองสามีภรรยา

อีกเรื่องราวของสองสามีภรรยาที่เรียนจบด้านมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วหันมาทำการเกษตร แต่ไม่ได้ดำรงเป็นอาชีพ แค่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต รวมถึงทำโฮมสคูลให้ลูก โดยบันทึกเรื่องราวไว้ในเพจ บ้านเรียนวิมุตติ เพื่อรวบรวมเรื่องราวการเรียนรู้ของลูกวัย 8 ปี (โมกข์ กาเรียนทอง)

ก่อนหน้านี้ ชลอ กาเรียนทอง เป็นอาจารย์สอนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันลาออกมา รับงานเขียนลายไทยและหนังใหญ่ ส่วน เดือน-เดือนรุ่งฟ้า เพ็ญไพสิฐ จบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาศิลปไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ และอาร์ตไดเรคเตอร์ บริษัทโฆษณาเล็กๆ ของต่างชาติที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎฺร์ธานี

161655912945

(แม่ลูกเรียนรู้ธรรมชาติร่วมกัน)

161655900036

(ความสุขง่ายๆ กับการเรียนรู้ในธรรมชาติ)

พื้นที่ 5 ไร่ที่บ้านเกิดของชลอในจังหวัดเพชรบุรี ทั้งสองลงมือทำเกษตรเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างผลผลิตแบบพออยู่พอกิน ชีวิตทุกๆ วัน คือ การเรียนรู้ ทั้งจากปราชญ์ชาวบ้านและเครือข่าย รวมถึงหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเอง 

เดือนรุ่งฟ้า เล่าถึง จุดอิ่มตัวในการทำงานบริษัทโฆษณาเล็กๆ ของต่างชาติบนเกาะสมุยว่า เป็นโฆษณาที่ต้องการทำให้ชาวต่างชาติมาซื้อที่ดินในเมืองไทย ทำให้เห็นบางอย่างที่รู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ เพราะทุกๆ สัปดาห์จะออกไปขี่จักรยานรอบเกาะทั้งหน้าเกาะหลังเกาะ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลง

"บ้าน รีสอร์ทที่ผุดขึ้นเรื่อยๆ ตามภูเขา เพราะฝรั่งมาซื้อที่ดินแล้วสร้างบ้าน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากโฆษณาที่เราทำ ทำแล้วเอาไปขายให้ฝรั่งในต่างชาติ ทำให้ไม่อยากทำอย่างนั้น เหมือนเอาทรัพยากรของไทยไปขายให้ต่างชาติ ทำให้เรารู้ลึกขึ้น มีการใช้นอมินีเพื่อซื้อที่ดิน "

คนเล็กๆ เช่นเธอ จึงหันหลังให้การทำงานในแวดวงโฆษณามาใช้ชีวิตในแบบตัวเอง เพราะมีความสนใจด้านพุทธศาสนาเป็นทุนเดิม จึงมาเรียนด้าน ปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 “ปกติก็อ่านหนังสือแนวนี้และปฏิบัติธรรม อ่านงานของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)  จะไม่ตามอ่านงานของพระดังๆ อย่างหนังสือพุทธธรรม เปิดมาหน้าแรก จะบอกเลยว่าชีวิตคืออะไร ศึกษาด้านนี้มาเรื่อยๆ ก็รู้ช่องทางเข้าถึงมากขึ้น เพราะศึกษาจากพระไตรปิฎก

พอรู้เรื่องชีวิตลึกมากขึ้น ก็ไม่อยากมีชีวิตแบบเดิมๆ จึงวางแผนกับสามี เขามีที่ดินอยู่บ้านเกิดที่จังหวัดเพชรบุรี เราสองคนอยากทำการเกษตรเงียบๆ จึงต้องเรียนรู้ ไปอบรมหลายแห่ง และไม่ได้ทำเพื่อให้มีรายได้หลัก”

เดือน ยอมว่าไม่ใช่ปัญญาชนหักมุม ที่เบื่อชีวิตแบบเมืองๆ มาทำการเกษตร แต่ใช้ชีวิตเรียบง่ายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยเรียนหนังสือก็ขี่จักรยานและเดินเป็นเรื่องปกติ

“เราไม่ได้แบบที่ได้ยิน ไม่ได้เป็นปัญญาชนฟุ้งเฟ้อ อยากมีชีวิตดีๆ เหมือนที่คนอื่นเป็น ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีเรื่องภาษีสังคม ไม่มีมิติแบบนั้น เมื่อก่อนทำงานในกรุงเทพฯ ก็ขี่จักรยาน เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่เราทำมานาน ตอนนี้นอกจากเกษตรที่ทำเล็กๆ น้อยๆ ก็มีงานเขียนภาพประกอบนิดๆ หน่อยๆ ส่วนสามีก็มีงานเขียนลายไทย เราก็คิดว่าอยู่รอดได้ เพราะเราไม่ได้มีรายจ่ายเยอะ ไม่มีหัวโขน เราทำผืนดินของเราให้เป็นสวนผสมผสาน ไม่ได้คิดสร้างรายได้”

รู้ตั้งแต่แรกว่า หากเดินบนเส้นทางนี้ คงมีรายได้ไม่มาก แต่เธอก็เลือกเส้นทางนี้ รวมถึงเลือกให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูล ไม่ได้ปฎิเสธระบบการศึกษาแต่สิ่งที่เห็นคือ ลูกเรียนอนุบาลไปโรงเรียนแล้วไม่มีความสุข

161655892069

(ดช.โมกข์กับพ่อ ได้เรียนรู้ร่วมกัน)

“ไม่ถึงกับปฎิเสธระบบการศึกษา หลายคนบอกว่า การเลี้ยงลูกต้องมีครีเอทีฟ ธิงกิง แนวคิดมันสวยหรู แต่วิถีชีวิตจริงๆ ของคนเรา มันเป็นเรื่องสติแค่นั้นเอง เราเรียนมาสายศิลปะ เป็นอีกเส้นทางที่สร้างอัตตาให้ตัวเรา ส่วนสายศาสนามองว่า เรื่องเหล่านั้นคือเปลือก ชีวิตเป็นเรื่องแก่น

แก่นก็คือสิ่งที่ธรรมดาเรียบง่ายที่สุด เรามาอยู่แบบนี้ไม่จำเป็นต้องคิดว่า ต้องแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ ของใช้ต้องมียี่ห้อ เราก็ใช้ของเท่าที่เรามี ชีวิตก็สบายขึ้น ไม่เป็นทุกข์จากสิ่งที่เราดิ้นรน “

แนวคิดที่ว่าอยากให้ลูกเรียนเก่งๆ จึงไม่ต้องพูดถึง ก่อนจะทำโฮมสคูลให้ลูก เธอให้ดช.โมกข์ เข้าเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านที่สุด

“ตอนแรกก็สนใจโรงเรียนทางเลือก คิดจะให้ลูกเข้าโรงเรียนประจำแนวพุทธ แต่พอคิดไปคิดมา ถ้าเราส่งลูกไปอยู่ที่นั่น แล้วเราคิดเองว่าดีแล้ว แต่ลูกจะไม่รู้เลยว่าชีวิตทุกๆ วันของพ่อแม่ทำอะไร คิดอะไร แล้วมันดีจริงหรือเปล่าในสิ่งที่เราต้องการ เขาอาจไม่ได้คิดว่าดี อีกอย่างพอเราไม่ได้มีเงินเยอะ เราไม่ต้องเลือกโรงเรียนค่าเล่าเรียนแพงๆ แต่เราเลือกโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

แต่พอส่งลูกไปโรงเรียน พบว่า เด็กสมัยนี้ถูกบังคับให้เรียนเยอะ แข่งขันกัน และลูกไม่มีความสุข ทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหากับเพื่อนและการเรียน ทุกๆ เช้าจะร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียน กลางคืนก็ร้องไห้

อนุบาลยังมีความทุกข์ขนาดนี้ เราก็คุยกับครู ครูก็บอกว่า เขาก็เรียนได้ เป็นผู้นำเพื่อนๆ แต่เขาไม่อยากไปโรงเรียน เพราะหลังเคารพธงชาติ เขาไม่อยากฟังครูพูดอะไรก็ไม่รู้ เราจึงต้องมองหาทางออก”

ทางออกที่เธอเลือกคือ โฮมสคูล เดือนพบว่า อะไรที่เป็นวิถีชีวิตเป็นทางตรงในการเรียนรุ้ และเป็นธรรมชาติมากที่สุดแล้ว เวลาไปทำการเกษตรหรือออกไปอบรมที่ไหน ก็พาลูกไปทำกิจกรรมด้วย

161655886565

(เรียนรู้จากชีวิตจริง)

“เราสนใจเรื่องสมุนไพร เพราะเรามีปัญหาสุขภาพเป็นลมพิษ ลูกเป็นภูมิแพ้ และหมอมักให้ยาแก้แพ้ เราก็เลยทำผลิตภัณฑ์สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน แชมพู ยาสระผม ใช้เอง บางทีก็ทำฝากเพื่อนบ้าง พอเพื่อนๆ เห็นว่าใช้ดีก็ขอซื้อ ง่ายๆ เลยเอาชื่อลูก(โมกข์) แปะลงในผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ได้โพสต์ขายอะไร

หากถามถึง การดำรงชีวิตแบบนี้และช่วงวิกฤติไวรัสโควิดระบาด ลำบากไหม 

เธอ บอกว่า ครอบครัวเราไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนขอความช่วยเหลือจากโครงการใดๆ ของภาครัฐ

“เราอยู่ได้ แม้จะไม่มีรายได้มากมาย เรามีเครือข่ายเพื่อนทีคิดแนวเดียวกัน มีกิจกรรมช่วยเหลือกัน ต่อไปเราก็ทำแนวทางนี้ให้ชัดขึ้น พออยู่พอกิน เราอยู่ได้ เพราะเราไม่มีภาษีสังคม เราก็ปลูกผักผลไม้กิน มีเวลาก็พาลูกวัย 8 ปีไปเรียนรู้กับปราชญ์  เราดำรงอยู่ได้ แต่ต้องรู้จักคำว่า พอจากข้างใน"