กว่าจะได้'รางวัลโนเบล' นักวิทยาศาสตร์ต้องพิสูจน์อะไรบ้าง
"รางวัลโบเบล" ด้านวิทยาศาสตร์ ตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ต้องเป็นการค้นพบใหม่ และมีประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติ ดังนั้นกว่านักวิทยาศาสตร์จะได้รางวัลนี้ หลายคนต้องทดลองอะไรมาบ้าง...
ในช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาต่างๆ กล่าวเฉพาะในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ ก็ต้องว่าเป็นรางวัลสูงสุดที่คนในวงการใฝ่ฝันถึง และใช้อ้างอิงกันถึงความสามารถ คีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้ได้ผลงานได้รับคัดเลือกนั้น คณะกรรมการคัดเลือกระบุว่าเป็นงานที่ต้องเป็น “การค้นพบใหม่เอี่ยม” และต้อง “ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับมนุษยชาติ”
แต่การคัดสรรผู้รับรางวัลในแต่ละปีก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลย เพราะลำพังคิดว่าเป็นงานวิทยาศาสตร์ก็ยากแล้ว ยังต้องเปรียบเทียบ “คุณค่า” ของงานที่อาจแตกต่างกันมาก ก็ยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้นไปอีก ปัญหาพื้นฐานที่แก้ยากคือ ผลงานวิจัยบางอย่างมัน “ล้ำยุค” ไปมาก ทำให้คณะกรรมการคัดเลือกไม่แน่ใจว่า งานดังกล่าวมีความหนักแน่นทางวิชาการมากเพียงพอหรือไม่ ก็แม้แต่คนในวงการ (ในตอนนั้น) ยังถกเถียงกันว่าจริงหรือไม่เลยครับ !
ตัวอย่าง งานวิจัยของ บาร์บารา แมกคลินทอกค์ (Barbara McClintock) เกี่ยวกับ “ยีนกระโดด (jumping gene)” หรือในชื่อแบบทางการมากกว่าก็คือ ชิ้นส่วนพันธุกรรมที่เปลี่ยนตำแหน่งได้ (transposable element) ซึ่งอธิบายแบบย่อๆ ก็คือ เธอพบว่ามียีนหรือสารพันธุกรรมบางแบบในข้าวโพดที่สามารถย้ายตำแหน่งไปมาในโครโมโซมได้ เธอค้นพบเรื่องนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1950-1960 แต่เป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าจะเชื่อได้อยู่นาน กว่าจะมีหลักฐานเพิ่มขึ้นจนหนักแน่นพอให้เธอจะได้รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ก็ต้องล่วงเข้าปี 1983 นู่น !
หากนับจากรายงานวิจัยฉบับแรกที่ตีพิมพ์ ก็ต้องรอนานถึง 26 ปี และกว่าจะได้รับรางวัล เธออายุถึง 81 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็สมศักดิ์ศรีมากเพราะนับถึงวันรับรางวัลนี้ เธอเป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ โดยไม่ต้องแบ่งรางวัลร่วมกับคนอื่นเลย
อีกรายหนึ่งที่ต้องรอนานมาก คือ เพย์ทัน เราส์ (Payton Rous) เขาศึกษาเกี่ยวกับเนื้องอกในสัตว์ปีก และพบว่ามีไวรัสชนิดหนึ่งเป็นตัวก่อเนื้องอกและมะเร็ง
ปัจจุบันเรียกไวรัสกลุ่มนี้ว่า Rous sarcoma virus เพื่อให้เกียรติแก่เขา (คำว่า sarcoma คือ มะเร็งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) โดยสัตว์ปีกสามารถถ่ายทอดไวรัสจำพวกนี้ให้แก่กันได้
เขาศึกษาเรื่องดังกล่าวในต้นทศวรรษ 1910 แต่กว่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ก็ปาเข้าไปปี 1966 หรือกว่า 50 ปีให้หลัง วันที่ประกาศชื่อนั้นเขามีอายุ 87 ปีเข้าไปแล้ว ดีที่คุณปู่แกอายุยืน เพราะมีข้อห้ามสำหรับผู้ได้รับรางวัลโนเบลข้อหนึ่งคือ วันที่ประกาศชื่อต้องยังมีชีวิตอยู่ หรือพูดง่ายๆ รางวัลนี้ไม่มอบให้ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง (มีข้อยกเว้นน้อยมาก)
ที่กล่าวมายังไม่ใช่การเมือง แต่เป็นความยากลำบากในการคัดเลือกและให้รางวัล แต่เรื่อง “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นเป็นระยะสำหรับรางวัลโนเบล หากไม่นับเรื่องเชื้อชาติและสัญชาติของผู้ได้รับรางวัลแล้ว แบ่งออกได้เป็น 3 แนวใหญ่ๆ เรื่องแรกคือคนที่สมควรได้ กลับไม่ได้ กรณีต่อมาคือให้รางวัลแบบผิดฝาผิดตัวจนขัดใจคนในวงการ และสุดท้ายคือให้ความสำคัญน้อยกับนักวิทยาศาสตร์หญิงน้อย
กรณีที่โด่งดังของคนที่ควรได้แต่อด ก็คือ ออสวอลด์ เอเวอรี (Oswald Avery) ที่เป็นผู้ค้นพบว่า ดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรม จากการทดลองการเหนี่ยวนำเชื้อแบคทีเรียไม่ก่อโรคให้กลายเป็นเชื้อก่อโรคด้วย “สารบางอย่าง” ที่ควบคุมการแสดงออกทางพันธุกรรมได้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้กัน แต่เขาพิสูจน์ได้ในเวลาต่อมาว่าคือ ดีเอ็นเอ นั่นเอง เขาได้รับการเสนอชื่อหลายครั้งเต็มที แต่ไม่เคยได้รับรางวัลจนกระทั่งเสียชีวิตไป
การค้นพบโครงสร้างเกลียวคู่ของดีเอ็นเอก็มีปัญหาเช่นกัน รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ปี 1962 มอบแก่เจมส์ วัตสัน (James Watson) ฟรานซิส คริก (Francis Crick) และมอริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins) วัตสันกับคริกใช้ข้อมูลการทดลองจากฝีมือ โรสลินด์ แฟรงคลิน (Rosalind Franklin) ขณะที่มอริส วิลคินส์ ก็เป็นหัวหน้าแล็บที่แฟรงคลินไปทำวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ด้วย แต่นอกจากไม่ค่อยลงรอยกันแล้ว ก็ดูเหมือนจะไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยในงานนี้สักเท่าไหร่
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่างานของทุกคนจะได้ตีพิมพ์ในปี 1953 แต่ก็ทิ้งช่วงไปจนถึงปี 1962 กว่าจะได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งแฟรงคลินก็ชิงลาโลกเสียชีวิตไปก่อนในปี 1958 เลยกลายเป็นว่า คนทำวิจัยตัวจริง (แม้ว่าจะแปลผลไม่ได้เป๊ะเหมือนวอตสันกับคริกก็ตาม) ชวดรางวัลไปซะยังงั้น
เลยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเสียชีวิตของแฟรงคลินไปก่อน ทำให้คณะกรรมการไม่ต้องกลุ้มใจว่าจะตัดชื่อใครออกดี แต่ก็ทำให้เกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เข้าข่ายว่า คณะกรรมการโนเบลไม่ค่อยจะเห็นนักวิทยาศาสตร์หญิง “อยู่ในสายตา” สักเท่าไหร่
ดังจะเห็นได้จากนับตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้ในปี 1901 จนถึงปีก่อน มีผู้หญิงได้รับรางวัลรวม 48 คน จากทั้งหมด 870 คน และ 23 องค์กร (รวมในทุกสาขา) แต่มองอีกแง่หนึ่งวงการวิทยาศาสตร์ก็ถูกผูกขาดโดยผู้ชายมาอย่างช้านานอยู่แล้ว
ตัวอย่างกรณีสุดท้ายที่ถกเถียงกันอย่างกว้างคือ กรณีการค้นพบอินซูลิน (insulin) เพราะชื่อคนที่ได้รับรางวัลคือ เฟรเดริก แบนทิง (Frederick Banting) และจอห์น แมกลีออด (John Macleod) โดยที่แบนทิงเป็นคนที่อนุมัติเงินสนับสนุนการวิจัยและมีส่วนผลักดันโครงการ แต่ไม่ได้มีส่วนลงมือวิจัยเองจริงๆ
ขณะที่นักวิจัยหลัก (ตัวจริง) ในทีมของแมกลีออกคือ ชาร์ลส์ เบสต์ (Charles Best) กลับตกหล่นไม่มีชื่อไปเสียอย่างนั้น ยังไม่นับคือ เบอร์แทรม คอลลิพ (Bertram Collip) ที่เข้ามาทีหลัง และมีส่วนร่วมในการเตรียมอินซูลินบริสุทธิ์ เพื่อใช้ทดสอบในคน ซึ่งก็พลาดรางวัลไปเช่นกัน
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับการแข่งขันที่ต้องใช้กรรมการ คล้ายๆ กับเวลาเราดูกีฬานั่นแหละครับ ที่บางครั้งผลการตัดสินก็ขัดตาคนดูไปบ้าง แต่โดยรวมๆ คณะกรรมการ “โนเบลวิชาการ” ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีทีเดียว ไม่ค่อยขัดสายตาผู้ชม
ทั้งนี้คงไม่รวม “โนเบลสันติภาพ” ที่มีความเป็นการเมืองสูงมากและทำเอาคนดูถอนหายใจด้วยความผิดหวังอยู่บ่อยครั้ง !