'วันงดสูบบุหรี่โลก 2564' ชวนนักสูบ รัก(ษา)ปอด เพิ่มทางรอดจาก 'โควิด-19'

'วันงดสูบบุหรี่โลก 2564' ชวนนักสูบ รัก(ษา)ปอด เพิ่มทางรอดจาก 'โควิด-19'

คําขวัญใน "วันงดสูบบุหรี่โลก" ในปี 2564 นี้ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดคือ Commit to quit หรือ "มุ่งมั่นที่จะเลิกสูบ" ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เรียบเรียงมาเป็นคำขวัญของไทยคือ "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้" หรือ I Quit You Can Too 

หากย้อนกลับไปในวันที่กิจกรรมวันงดสูบบุหรี่โลก หรือ World No Tobacco Day ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 31 พฤษภาคม .. 1988 จะพบว่า กว่าหลายสิบปีของเส้นทางการรณรงค์ให้คนทั่วโลกมีสุขภาพดีขึ้น และห่างไกลจากอันตรายของบุหรี่ น่าจะมีทั้งหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่บางพื้นที่ต้องประสบความล้มเหลวไปบ้างในช่วงกว่า 34 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนนักสูบให้เลิกสูบได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยผลพวงจากความต่อเนื่องของการจัดกิจกรรมในทุกปียังเป็นการตอกย้ำให้โลกได้ตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่และยาสูบ อีกทั้งยังกระตุ้นภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้กําหนดนโยบายด้านการควบคุมยาสูบได้เห็นความสําคัญของประเด็นปัญหาสุขภาพของประชาชนมากขึ้น

162243440485

วันงดสูบบุหรี่โลก ยุคโควิด-19

“Commit to quit” หรือมุ่งมั่นที่จะเลิกสูบคือคําขวัญในวันงดสูบบุหรี่โลกในปีนี้ ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ซึ่งยังถูกเรียบเรียงมาเป็นคำขวัญของประเทศไทยที่สื่อสารเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือเลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้ หรือ I Quit You Can Too 

นัยยะสำคัญคือการเชิญชวนให้ทุกคนเลิกบุหรี่เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากโรคต่างๆ โดยเฉพาะลดความเสี่ยงการติดเชื้อและการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากโควิด-19

อย่างที่ทราบว่า วันงดสูบบุหรี่โลก ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่เรายังต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น เพื่อรับมือศึกด้านสุขภาพครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติครานี้ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งหลังจากวิกฤตโควิดที่ยืดเยื้อมาเข้าสู่ปีที่ 2 ในแวดวงสุขภาพมีทั้งเรื่องน่ายินดีและน่ากังวลใจในเวลาเดียวกัน

เรื่องน่ากังวลใจคือ จากข้อมูลของ WHO รายงานพบว่า กลุ่มประชากรที่สูบบุหรี่จะต้องรับมือกับความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย และอาจเกิดอาการรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น เนื่องจากสารพิษจากควันบุหรี่ทําให้ภูมิคุ้มกันลดลง และทําให้ผู้สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจ วัณโรค รวมถึง โควิด-19

ยังพบรายงานจากหลายประเทศสรุปตรงกันว่า คนที่สูบบุหรี่เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโควิดรุนแรงและเสียชีวิต โดยสหรัฐอเมริกาพบว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5-7 เท่า และยังมีงานวิจัยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้าทําอันตรายต่อเซลล์บุทางเดินหายใจ ทําให้เม็ดเลือดขาวสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง ทําให้ขนเล็กๆ บนผิวเซลล์ที่โบกขจัดของเสียทํางานลดลง ภูมิต้านทานปอดลดลง การแลกเปลี่ยนก๊าซของปอดผิดปกติ โควิด-19 จึงจู่โจมและทําอันตรายจนปอดบวม

แต่ก็ยังมีเรื่องน่ายินดีเล็กน้อย เมื่อพบว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีการสำรวจพบว่า สามารถทำให้ชาวอังกฤษเลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 1 ล้านคน หลังจากทราบว่า การสูบบุหรี่เป็นความเสี่ยงกับปอดมากแค่ไหน  

ทว่าเอาเข้าจริงแล้ว ยังมีนักสูบส่วนใหญ่อีกมาก ที่ยังคงไม่ตื่นตระหนกถึงอันตรายต่อสุขภาพมากพอ

162243358131

ในเรื่องนี้ .นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงสาเหตุที่เราต้องเลิกสูบบุหรี่นั้นว่า เพราะปอดเป็นอวัยวะภายในชนิดเดียวที่ติดต่อกับสิ่งแวดล้อม ภายนอกตลอดเวลา จากการหายใจเอาอากาศเพื่อนําออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย พร้อมขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเสียออกจากร่างกาย หากมีสิ่งแปลกปลอม หรือมีเชื้อโรคล่องลอยอยู่ในอากาศ ก็จะถูกลมหายใจพาเข้าสู่ปอดด้วย WHO ได้ประกาศว่า เชื้อโควิด-19 สามารถล่องลอยในอากาศเป็นเวลาหลายชั่วโมง หากอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือในห้องปรับอากาศ คนที่เป็นโควิดหากไอ จาม พูด หรือตะโกนเสียงดัง เชื้อก็จะล่องลอยอยู่ในอากาศในบริเวณนั้นด้วย ทําให้ง่าย ต่อการแพร่เชื้อไวรัส

เมื่อวิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นผลเสียที่มากมายของบุหรี่ หลายฝ่ายจึงมองว่าควรใช้การโอกาสนี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเลิกบุหรี่ทุกชนิดเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงและเพื่อสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง

ด้าน รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ข้อมูลว่า คนที่สูบบุหรี่และติดโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงของอุดตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายมือปลายเท้า เกิดภาวะขาดเลือด เสี่ยงต่อการถูกตัดมือตัดเท้า ไม่เพียงแค่นั้น คนที่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าแล้วติดโควิด-19 ยังมีโอกาสเป็นปอดบวมชนิดรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า และเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นเกิน 2 เท่า

ถึงแม้รอดชีวิตมาได้ ปอดของคนเหล่านี้ก็จะทำงานได้น้อยลงจากการที่เนื้อปอดถูกแทนที่ด้วยเยื่อพังผืดแทน ซึ่งความเสี่ยงในส่วนนี้มีมากกว่าคนที่ไม่สูบถึง 14 เท่าทีเดียว ดังนั้น การติดเชื้อ โควิด-19 ที่ว่าร้ายแรงแล้ว ผลแทรกซ้อนจากการติดเชื้อนี้กลับน่ากังวลกว่าเสียอีก  ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกคนสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงของตนเองได้ง่ายๆ เพียงแค่เลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจังเท่านั้นรศ.นพ.สุทัศน์เอ่ย

162243380517

ตัวเลขเกี่ยวกับบุหรี่ที่น่าสนใจ

คนส่วนใหญ่ตระหนักดีว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่เห็นภาพคือ บุหรี่ 1 มวน เมื่อเกิดการเผาไหม้ จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด และ 70 ชนิด เป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง ยังไม่นับสารพิษอีกนับร้อยชนิดที่ส่งผล ต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ เพียง 1 มวน จะทำให้อายุสั้นลง 7 นาที หากสูบ 1 ซอง จะทำให้อายุสั้นลง 2 ชั่วโมง 20 นาที

โดยข้อมูลจากวารสาร American Journal of Preventive Medicine ฉบับเดือนเมษายน 2564 รายงานผลการติดตามผู้สูบบุหรี่ 2,008 คน ระหว่างปี 2542-2543 และ ปี 2556-2557 พบว่า คนสูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนเวลาเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะสูบน้อยหรือมาก และยิ่งสูบมากก็ยิ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่สูบทุกวันความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตามจํานวนมวนของบุหรี่ที่สูบต่อวัน

ทางออกที่เราจะลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ลงได้นั้น ข้อมูลจากรายงานนี้ยังยืนยันว่า วิธีเดียวที่จะทำได้คือ การเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด

บุหรี่กระทบเศรษฐกิจ

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงงานวิจัยล่าสุดที่มีการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกกว่าห้าแสนรายพบว่า ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ที่เป็นโควิด-19 มีภูมิต้านทานน้อยกว่าคนปกติ ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคมากขึ้นถึง 1.55 เท่า ทั้งมีโอกาสป่วยรุนแรงเข้าไอซียูถึง 1.73 เท่าและเสียชีวิตเพิ่มเป็น 1.58 เท่า อีกทั้งเมื่อได้รับวัคซีนแล้วการสูบบุหรี่ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง 40% จากปกติ

แต่ยังมีความเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ช่วยป้องกันโควิด-19 ซึ่งมีการถอดถอนการวิจัยเหล่านี้ออกไปแล้ว เพราะสืบทราบว่าการวิจัยเหล่านี้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับอุตสาหกรรมบุหรี่

ดร.พญ.เริงฤดียังกล่าวต่อว่า ที่สำคัญนอกจากบุหรี่ทำลายสุขภาพแล้ว ยังสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งระดับบุคคลและเป็นภาระของประเทศชาติ เพราะต้องใช้งบประมาณรักษาพยาบาลผู้ป่วยอันเนื่องจากสาเหตุการสูบบุหรี่ เฉพาะผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 32,000 ล้านบาท

ในระดับครัวเรือนคนที่สูบบุหรี่ซึ่งมีรายได้น้อยหรือยากจนมีภาระค่าใช้จ่ายเรื่องบุหรี่และยาสูบถึง 20-40 % ของรายได้ นอกจากนี้ผู้สูบควันบุหรี่มือสอง หรือผู้ที่รับภัยควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิด พบว่ามีอัตราการเสียชีวิตถึงเกือบหนึ่งหมื่นคน จากผู้เสียชีวิตอันเนื่องจากการสูบบุหรี่โดยรวมเจ็ดหมื่นคนต่อปี

สถานการณ์เลิกบุหรี่กับคนไทย

อีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ผลักดันคนไทยให้ตระหนักถึงภัยบุหรี่ตั้งแต่เริ่มต้น ขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่อย่างเข้มข้น คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสุขภาพ (สสส.) ที่สานพลังกับภาคีเครือข่ายหลากหลายวงการเพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ต่อเนื่อง

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุม ปัจจัยเสี่ยงหลัก สสสกล่าวว่า ในการทำงานขับเคลื่อนรณรงค์เลิกบุหรี่ที่ผ่านมา สสส. ตระหนักถึงความสําคัญของผลกระทบ ทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่ จึงได้ริเริ่มการพัฒนานวัตกรรมกลไกการให้คําปรึกษาการเลิกบุหรี่ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการได้อย่างสะดวก และได้รับข้อมูลการเลิกบุหรี่ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ โดยมีกลไกทั้งการให้คําปรึกษาการเลิกบุหรี่ทั้งแบบเลิกด้วยตัวเอง และเลิกด้วยแพทย์ผ่านการบําบัดรักษา

สสส. ได้ดําเนินการควบคู่ไปกับประสานพลังร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดควันบุหรี่ โดยสนับสนุนมาตรควบคุมยาสูบในทุกระดับ ส่งเสริมมาตรการสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ การรณรงค์ให้ความรู้ แก่สังคม ตระหนักถึงอันตรายจากบุหรี่ เพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมการสูบบุหรี่ ส่งผลถึงพฤติกรรมเลิกสูบบุหรี่ในที่สุด โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ลงได้ตามเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือ ลดอัตราการสูบบุหรี่ให้เหลือ 15%ของประชากรทั่วโลก หรือมีจำนวนผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 9 ล้านคน ภายในปี 256รุ่งอรุณ กล่าว

162243416623

ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า การผลักดันการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ดังกล่าวนั้น ได้เห็นผลสัมฤทธ์ระดับหนึ่ง เพราะสามารถลดอัตราผู้สูบลดลงจาก 32% ในปี 2534 เหลือ 19.1% ในปี 2560

อยากเลิกบุหรี่ ใครช่วยได้บ้าง

  • คลินิกฟ้าใส เครือข่ายการรักษาและบริการเลิกบุหรี่ตั้งแต่ในระดับชุมชนที่ได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งเชื่อมโยงสถานพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ โดยมีระบบการจัดเก็บข้อมูลระดับชาติเพื่อนําไปสู่การออกแบบ วางแผน และพัฒนาระบบการให้บริการบําบัดรักษาการติดนิโคตินอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายคลินิกฟ้าใส 589 แห่งทั่วประเทศ และพัฒนาแอปพลิเคชัน คลินิกฟ้าใส สําหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้บริการและช่วยเหลือ คู่มือคลินิกฟ้าใสไร้ควันสำหรับผู้ที่ต้องการหรืออยากเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง
  • สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ เพื่อให้บริการคําปรึกษาทางโทรศัพท์ในการเลิกบุหรี่ สนับสนุนเป็นกําลังใจให้ผู้ต้องการเลิกบุหรี่ โดยมีผู้ใช้บริการปีละนับแสนครั้ง มีการติดตามผู้เลิกบุหรี่อย่างเป็นระบบ พร้อมเชื่อมต่อกับสถานบริการสุขภาพ สถานประกอบการ และชุมชน เพื่อช่วยให้ผู้ติดบุหรี่ได้รับการบําบัด
  • ร้านยาอาสาพาเลิกบุหรี่ ระบบบริการพยาบาลเพื่อเลิกบุหรี่แบบ One Stop Service ที่ สสส. สนับสนุนเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อควบคุมยาสูบ ในการส่งเสริมร้านยาทั่วประเทศแสดงบทบาทในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้แก่ ร้านยาปลอดบุหรี่ 100% ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ และไม่ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบในบริเวณร้านยา เภสัชกรในร้านยายังคัดกรอง ส่งต่อ และช่วยเหลือผู้ที่ติดบุหรี่ให้เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ได้อย่างเหมาะสม โดยมีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมเครือข่าย 553 ร้านยาใน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ
  • เครือข่ายวิชาชีพทันตแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ การส่งเสริมประชาชนเลิกบุหรี่ในคลินิกทันตกรรม พร้อมทั้งให้คําปรึกษาในการช่วยเหลือผู้ติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ มีการพัฒนาศักยภาพของทันตบุคลากร พัฒนาต้นแบบคลินิกทันตกรรมช่วยเลิกบุหรี่ ในคลินิกทันตกรรม สังกัดสํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร จํานวน 70 แห่ง นอกจากนี้ได้ดําเนินการพัฒนารูปแบบ ทันตแพทย์ในภาคเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ต้องการเลิกบุหรี่ผ่านโครงการ “Dentist Hero” ปัจจุบันมีทันตแพทย์ภาคเอกชนเป็นสมาชิกโครงการ 500 ราย
  • อสม. ช่วยคัดกรอง และชวนคนเลิกบุหรี่ สสส. ยังทํางานร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในการพัฒนาศักยภาพ อสม. ทั่วประเทศให้สามารถช่วยคนในชุมชนเลิกบุหรี่ และพัฒนาชุมชนต้นแบบให้คนเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งรณรงค์สร้างกระแสสนับสนุนให้เกิดบ้านปลอดบุหรี่ในชุมชนต้นแบบใน 2 จังหวัด 4 อําเภอ ได้แก่ .คอนสวรรค์ .ชัยภูมิ, .วังทอง .เนินมะปราง และอ.วัดโบสถ์ .พิษณุโลก ซึ่งมี อสม. ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ 1,016 ราย และมี อสม. ผ่านการพัฒนาศักยภาพ 853 ราย ที่สามารถเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการช่วยเลิกบุหรี่ในระดับพื้นที่ ช่วยเหลือให้คนในชุมชนเลิกบุหรี่ได้จํานวนมาก

162243462612