‘นวัตกรรมตัวช่วยเลิกบุหรี่’ จากภาคีคนชวนเลิกสูบ
“นวัตกรรมตัวช่วยเลิกบุหรี่” ถูกริเริ่มและพัฒนาโดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีงานวิจัยหลากหลาย จะมีตัวช่วยใดบ้างในการเลิกบุหรี่ต้องมาติดตาม
"นวัตกรรมตัวช่วยเลิกบุหรี่" ด้วยตนเองที่ สสส. ร่วมพัฒนากับภาคีเครือข่ายนั้น ถูกริเริ่มและพัฒนาโดย รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีประสบการณ์ทํางานในชุมชนให้เลิกบุหรี่ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานมาอย่างยาวนาน จึงมีการผลิตนวัตกรรมช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นผลมาจากการทํางานที่พบว่าบางกลุ่มที่อยากเลิกบุหรี่ต้องการตัวช่วย และตัวกระตุ้นหลากหลายรูปแบบ บางคนใช้ใจ บางคนอยากได้ยา บางคนอยากได้อะไรสักอย่างมาเป็นตัวช่วย ให้เขารู้สึกว่าพอได้ใช้แล้วมีกําลังใจที่จะเลิกได้
นวดกดจุดเท้าช่วยเลิกบุหรี่ด้วยมือ
เริ่มต้นจากการวิจัยนวดกดจุดเท้าด้วยการใช้มือคน ซึ่งจุดหลักที่นวดจะอยู่ที่บริเวณนิ้วโป้งเท้า ซึ่งเป็นศูนย์รวมของประสาท มีผลเบื้องต้นต่อความรู้สึก ทําให้ไม่อยากบุหรี่ ทําให้วิงเวียน เปลี่ยนรส เหมือนให้ยาเลิกบุหรี่ทั่วไป
จากการติดตาม 6 เดือน ในคนเกือบ 1,500 คน พบว่า ได้ผลประมาณ 20% ถือว่าดีในแง่ที่ไม่ต้องลงทุนสูง มีบาง รพ.สต. ได้ผลสูงถึง 40% ซึ่งล่าสุดยังมีการต่อยอดทําวิจัยเพิ่มเติม โดยการตรวจการสร้างภาพการทํางานของสมอง (fMRI) ตรวจกลไกสมองระหว่างการนวดกดจุดเท้า ซึ่งขณะนี้งานวิจัยสําเร็จเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์ในต่างประเทศ
รองเท้านวดไฟฟ้า
เป็นการใช้กระแสไฟฟ้าในการใช้นวด เริ่มแรกใช้ถ่าน และพัฒนามาเป็นแบตเตอรี่ในตัว เพื่อใช้กําลังไฟต่ำทําให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น กระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจะเท่ากับ 3 โวลต์ สามารถปรับโหมดการนวดได้ 6 โหมด และปรับระดับความเข้มหรือความแรงในการกระตุ้นได้ 9 ระดับ
รองเท้านวดไฟฟ้าผลิตโดยทีมวิศวกรซึ่งเป็นสตาร์ทอัพมาช่วยพัฒนา ได้มีการนําไปทดลองใช้ใน 18 รพ.สต. แห่งละ 30 คน และติดตามในระยะเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน พบว่าได้ผลในการเลิกบุหรี่ที่ดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอจดสิทธิบัตร
สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่
สมุนไพรหญ้าดอกขาว (หญ้าหมอน้อย) มีสารประกอบชีวภาพ ที่มีฤทธิ์ในการต้านนิโคติน ปัจจุบันมีการใช้ผงหญ้าดอกขาวเพื่อลดการอยากบุหรี่ ในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้กันแพร่หลายอยู่ในรูปแบบชาชง และมีการผลิตสมุนไพรทั้งจากสารสกัดหญ้าดอกขาว กานพลู มะขามป้อม และโปร่งฟ้า ในรูปแบบของผงฟู่ ใส่ลงไปในน้ำ
นอกจากนี้ ยังมีลูกอมเยลลี่ และลูกกลอน การใช้ยาสมุนไพรมีข้อดีคือ เจ้าหน้าที่ใน รพ.สต. สามารถจ่ายสมุนไพรให้ประชาชนได้เอง จะทําให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น สิ่งที่เป็นความหวังสูงสุดคือ การผลักดันให้สมุนไพรเหล่านี้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
ยาเลิกบุหรี่ “ไซทิซีน”
นับเป็นอีกความหวังนักสูบไทย เมื่อวิจัยยาเลิกบุหรี่ “ไซทิซีน” ใกล้สำเร็จ โดย สสส. กับภาคีเครือข่าย ผลักดันยาเลิกบุหรี่ชนิดใหม่ในประเทศไทยที่ชื่อว่า “ไซทิซีน” (Cytisine) สารสกัดจากสมุนไพร “เมล็ดจามจุรีสีทอง” หรือมะรุมป่า มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน ทำให้ผ่อนคลายไม่หงุดหงิดในขณะที่เข้าสู่กระบวนการเลิกบุหรี่ ถือเป็นยาเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพดีและปลอดภัยสูง
ขณะนี้งานวิจัยได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยในกลุ่มตัวอย่าง โดยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลผลของการกินยาของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยาไซทิซีนและไม่ได้รับยา ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เมื่อได้ผลการวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว อภ. จะทำการขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผลักดันยานี้ให้เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติต่อไป
“ไซทิซีน เป็นยาเม็ด ขนาด 1.5 มิลลิกรัม เป็นยาที่ดี ปลอดภัย อภ. จะขายในราคาถูก เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงยาช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทั่วถึง การมียาเลิกบุหรี่คุณภาพดี ราคาถูกผลิตได้เองโดยภาครัฐ จึงนับเป็นก้าวย่างสำคัญของบริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยที่จะช่วยให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นและหลีกหนีจากผลิตภัณฑ์ยาสูบได้อย่างถาวรยิ่งขึ้น” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
วิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นผลเสียที่มากมายของบุหรี่ ควรใช้การโอกาสนี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสเลิกบุหรี่ทุกชนิดเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงโควิด-9 และเพื่อสุขภาพของตนเองและคนรอบข้าง