ไร่ชาและผืนนาที่รักของ 'ริชชี่-อรเณศ'และเบิ้ล ปทุมราช

ไร่ชาและผืนนาที่รักของ 'ริชชี่-อรเณศ'และเบิ้ล ปทุมราช

ไม่ว่าจะโด่งดังแค่ไหน "ริชชี่-อรเณศ" และ"เบิ้ล ปทุมราช" ก็ไม่เคยลืมบ้านเกิดและชุมชนของพวกเขา และเมื่อมีโอกาสก็กลับไปช่วยเหลือญาติพี่น้องเกษตรกร

"ริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส" และเบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม คนบันเทิงที่หลายคนรู้ดีว่า มาจากครอบครัวเกษตรกร และนั่นก็เป็นความภูมิใจของทั้งสอง

ล่าสุดทั้งสองร่วมกับโครงการสหประชาชาติ ประเทศไทย และดีป้า เพื่อส่งต่อแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างความมั่งคั่งให้กับชุมชนด้วยการเกษตร

162312635872

ภาพจากเฟซบุ๊คริชชี่ 

ริชชี่ อัพเดตการทำไร่ชา

ครอบครัวริชชี่เป็นรุ่นที่ 4 เป็นผู้นำและช่วยดูแลคนในชุมชนดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พวกเขามีอาชีพหลักขคือการปลูกชา

“เมื่อก่อนสมัยคุณตานำเกษตรเข้ามาทดแทนการปลูกฝิ่น ในยุคที่ฝิ่นผิดกฎหมายเราได้รับชาต้นแรกจากในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงเปลี่ยนอาชีพจากปลูกฝิ่นทั้งหมดมาทำไร่ชา” ริชชี่ เล่า

และตั้งแต่นั้นมา บ้านของพวกเขาก็รับซื้อชา พัฒนาชา ไม่ใช่แค่ดอยปู่หมื่น แต่ยังเป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่คอยช่วยส่งเสริมการปลูกชาดอยข้างเคียงและพื้นที่รอบๆ จนปัจจุบันการทำไร่กลายเป็นอาชีพหลัก

ตามประสาคนรุ่นใหม่และคนบันเทิงที่มีคนรู้จักมากมาย ริชชี่พยายามช่วยเหลือชุมชนที่ดอยปู่หมื่น พยายามหาตลาดและเพิ่มผลผลิต รวมถึงสร้างแบรนด์ของตัวเอง

“อยากทำเป็นชาดีท็อกซ์ จึงนำมาแปรรูปเพิ่มยอดขาย ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น และอยากให้คนรู้จักที่มาที่ไป จึงพรีเซนต์เรื่องการท่องเที่ยวชุมชนบนดอย ทุกอย่างเป็นธรรมชาติหมด “

เพราะอยากส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสวิถีชาวบ้าน เก็บชา สร้างรายได้ สร้างแบรนด์ขายของทางออนไลน์ ริชชี่วางแผนไว้ว่าเมื่อเปิดประเทศจะส่งชาออกไปขาย

"บนดอยเป็นต้นน้ำ ทุกอย่างเป็นออร์แกนิค ชาผลิตด้วยกระบวนการธรรมชาติ อยากเพิ่มมูลค่าให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ไม่ต้องออกไปหางานทำ 

ริชชี่มองว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกคนทำได้ พัฒนาสิ่งที่มีในชุมชน รายได้ส่วนหนึ่งเอาไปช่วยชุมชน ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม”

 

เบิ้ล ปทุมราช : สิ่งสำคัญคือลงมือทำ

ส่วนหนุ่มเบิ้ล ปทุมราช แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในด้านการเกษตรจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรผสมผสานเบิ้ลยังร่วมกับแฟนคลับระดมทุนจัดกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อถ่ายทอดแนวคิดการเกษตรผสมผสาน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง

162312649062

ภาพจากเฟซบุ๊คเบิ้ล ปทุมราช

เบิ้ลเกิดในครอบครัวชาวนา ช่วงที่เบิ้ลเป็นนักร้อง เคยคุยกับพ่อ พ่อบอกว่าอยากทำนาไปตลอดชีวิต แม้ว่าเบิ้ลจะดังหรือไม่ เราทำการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9 เวลาได้ผลผลิต เหลือก็แบ่งปันญาติพี่น้อง”

ตามประสาคนรุ่นใหม่ที่รู้จักใช้เทคโนโลยีพัฒนาอาชีพการเกษตรของครอบครัว จนได้รับเชิญให้ไปร่วมแชร์แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ในแคมเปญ Decade of Action, Decade of Innovation ทศวรรษแห่งการลงมือทำ  ทศวรรษแห่งนวัตกรรม และตั้งใจว่าจะผลักดันผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรแบรนด์ไทยให้โกอินเตอร์ 

“แต่ละปีพวกเรานำงบประมาณจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เชิญชาวบ้านทุกคนมาดำนา ลงแขกเกี่ยวข้าว ประกวดแปลงเกษตรดีเด่น มีรางวัล แข่งขันในระดับตำบล และระดับอำเภอ แต่งบประมาณตรงนี้ยังไม่มาก เพราะเป็นงบประมาณส่วนตัวของเบิ้ลและแฟนคลับ

ตอนนี้เบิ้ลแบ่งรายได้ให้คุณพ่อและพี่ชายทำนา ไม่ต้องขายข้าว แต่ให้สหกรณ์เพื่อแบ่งให้ชาวบ้าน นอกจากนี้อยากมีผลิตภัณฑ์ข้าวจากชาวนา แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า และเป็นคนกลางช่วยชาวนาขายข้าวให้มีรายได้ ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ซึ่งไม่ต้องเจอกับความผกผันกับราคาข้าวในแต่ละปี”

เบิ้ล มองว่า ถ้าจะทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จ คิดอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดประโยชน์ ต้องลงมือทำด้วย

"บางคนคิดว่าเบิ้ลเป็นนักร้อง มีต้นทุน คนมักคิดว่า การทำอะไรสักอย่าง ต้องรอโอกาส รอจังหวะชีวิต เราสามารถสร้างโอกาสให้ตัวเอง มันจะมาไวกว่ารอโอกาส

ความสำเร็จของผม เกิดจากการปฏิบัติ  อยากส่งมอบแนวคิดนี้ให้ชาวบ้านและแฟนคลับที่ติดตามในโซเชียลผ่านเสียงเพลงและผลงาน”

การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)มีความสำคัญต่อการพัฒนาของโลกในอนาคต เพราะอาหารคือความมั่นคงที่ทุกคนขาดไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดโควิด-19 อาหารเป็นอีกหนึ่งธุรกิจหลักที่ยังดำเนินต่อไปได้ หลายปีมานี้เราจะเห็นคนบันเทิงหันมาทำการเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะคนบันเทิงรุ่นใหม่อย่างริชชี่ อรเณศ ดีคาบาเลส และเบิ้ล ปทุมราช