'ภาคีสุขภาพ' จับมือสู้ภารกิจ อย่าปล่อยให้ 'ผัก' หายไป ในปี 'ผักโลก'

'ภาคีสุขภาพ' จับมือสู้ภารกิจ อย่าปล่อยให้ 'ผัก' หายไป ในปี 'ผักโลก'

หากเราลองให้คุณสังเกตว่าในแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์ คุณมี "ผัก" อยู่ในสำรับอาหารบ้างหรือไม่? มากน้อยเพียงใด? อาจทำให้คุณเริ่มตระหนักว่า ทุกวันนี้เรากำลังกินผักกันน้อยลงทุกที

เหตุผลที่เรากำลังกิน ผัก กันน้อยลงทุกที นั่นเพราะด้วยวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างวิถีการบริโภคแบบใหม่ ทำให้ผักอยู่ในมื้ออาหารคนไทยน้อยลงมากขึ้น

แม้ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เราควรบริโภคผักเฉลี่ย 400 กรัมต่อวัน แต่ความเป็นจริงกลับสวนทาง เมื่อประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเมืองเกษตรกรรมปลูกผักปีละมากกว่าสองล้านไร่ และมีผักที่ปลูกในแปลงมากกว่า 80 ชนิด กลับสำรวจพบว่าคนไทยยังคงบริโภคผักไม่เพียงพอและบริโภคเพียงแค่ไม่กี่ชนิด

นานาชาติขจับมือดัน ผัก สู่วาระสำคัญของโลก

ดูเหมือนว่าวิกฤตการบริโภค "ผัก" ดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย เพราะประเด็นเรื่องผักและผลไม้กลายเป็นสิ่งที่ตระหนักมากขึ้นในเวทีระดับนานาชาติ และระดับโลก

ซึ่งจากความเชื่อว่าระบบอาหารเพื่อสุขภาวะจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้คนบริโภคผักผลไม้มากขึ้น ล่าสุดสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ จึงประกาศให้ ปี 2564 นี้ เป็นปีแห่งความสำคัญด้านสุขภาพอีกครั้ง นั่นคือการประกาศให้เป็นปีแห่งผักและผลไม้สากล” (International Year of Fruits and Vegetables, 2021)

โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก จึงมีการนำวาระดังกล่าวมาร่วมกันทบทวนหรือพัฒนานโยบายที่ให้ความสำคัญกับการกินผักและผลไม้เพื่อสุขภาพ และเพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมการกินผักผลไม้ ลดปริมาณผักผลไม้เหลือทิ้ง และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งในการจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS Independent Dialogue in Thailand)” ผ่านทางระบบ Zoom Meeting ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์พืชผักโลก (World Vegetable Center : WorldVeg) ยังช่วยสะท้อนถึงความสำคัญของผัก” ว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของพลเมืองโลกมากเพียงใด

162372699567

ในงานประชุม ดร.เดลฟีน ลาลูส ผู้อำนวยการศูนย์พืชผักโลก หรือ WorldVeg ภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวย้ำเจตนารมณ์ยินดีที่จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย และ สสส. ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบอาหาร เพื่อบูรณาการแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในการผลิตตลอดกระบวนการ เพื่อส่งเสริมการบริโภคผัก ที่สำคัญคือความจำเป็นในการเสริมสร้างนโยบายการกินผักที่เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะและการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น

ขณะที่ ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ประสานงานหลักของประเทศไทย (National Dialogues Convenor) สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก กล่าวว่า ในการประชุม UNFSS ประเทศไทยมีเป้าประสงค์สู่การขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืน 5 ด้าน คือ

1. การเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการโดยถ้วนหน้า

2. ปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภคเพื่อความยั่งยืน

3. การส่งเสริมระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. ส่งเสริมความเสมอภาคในการดำรงชีวิตและมีกระจายคุณค่าอย่างเท่าเทียม  

5. การสร้างความยืดหยุ่นปรับตัวได้ในทุกวิกฤตโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง

162372707961

คนเมือง-มีการศึกษา เมินผักมากที่สุด

ประเด็นน่าสนใจอีกด้านจากการนำเสนอของ ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวในหัวข้อผักจะเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร?” ว่า จากการวิจัยพบกลุ่มเด็กเป็นปัญหาที่สุด เนื่องจากธรรมชาติเด็กรับประทานผักน้อย แต่มองว่ายังสามารถปรับพฤติกรรมได้ แต่อีกกลุ่มที่น่ากังวลมากกว่า คือกลุ่มวัยทำงานที่อายุ 30-44 ปี นอกจากไม่ถึงเกณฑ์แล้วมีแนวโน้มลดลง

โดยในปี 2562 ผลสำรวจพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้ไม่เพียงพอสูงถึงร้อยละ 62.5 โดยแม้จะพบว่าคนไทยมีแนวโน้มกินผักและผลไม้เพิ่มมากขึ้น แต่ผลสำรวจพบว่าอยู่ที่ประมาณ 370 กรัม ยังคงกินไม่ถึงเกณฑ์ที่ WHO กำหนดอยู่ดี

เสริมด้วยข้อมูลจาก ผศ.ดร.สิรินทร์ยา พูลเกิด สถาบันวิจัยประชากรสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเชิงพฤติกรรมศาสตร์จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผักคนไทยในช่วงระหว่างปี .. 2561-2562 ว่าแม้จะสำรวจพบคนไทยมีพฤติกรรมกินผักผลไม้มากขึ้น แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนต่ำไม่ถึง 40% โดยเฉพาะในวัยเด็ก พบกลุ่มที่ตกหล่นคือกลุ่มเด็กวัย 6-14 ปี ดังนั้นจึงควรเพิ่มความเข้มข้นในการรณรงค์ในกลุ่มนี้

ส่วนเกณฑ์ชี้วัดด้านภูมิศาสตร์ เราจะพบว่าคนไทยที่อยู่อาศัยนอกเขตเมืองมีสัดส่วนการบริโภคผักมากกว่าคนที่อยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีประชากรบริโภคผักน้อย ขณะที่กลุ่มคนโสดบริโภคผักมากกว่ากลุ่มที่แต่งงานมีครอบครัว หรือหย่าร้าง ที่น่าสนใจคือ คนระดับปริญญาตรีขึ้นไปกลับมีสัดส่วนการกินผักเพียงพอน้อยที่สุด และในปี 2562 ยังมีแนวโน้มลดลงจากปี 2561 โดยเฉพาะคนทำงานบริษัทเอกชน มีสัดส่วนบริโภคผักน้อยที่สุด

162372753347

หันมามองคนที่กินผักอย่างเพียงพอล่ะ พวกเขาเป็นใคร?

จากข้อมูลพบว่าเกือบ 50% ของกลุ่มนี้ เป็นคนที่มีแนวโน้มปลูกผักเพื่อบริโภคเองที่บ้าน รองลงมือกลุ่มที่หาซื้อบริโภคด้วยตัวเอง และกลุ่มสุดท้ายคือขอจากเพื่อนบ้าน

จริง แล้ว ยังมีข้อมูลด้านสุขภาพที่พบว่า การกินผักผลไม้ไม่เพียงพอ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 5 ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพราะจากสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดอุดตัน อีกโรคสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย อีกงานวิจัยที่พบ ก็มีการระบุว่าการกินผักผลไม้ มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มคะแนนการมีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตของคนไทยด้วย

แล้วทำไมคนไทยไม่กินผัก?

ว่าไปแล้ว จุดเริ่มต้นของระบบอาหารสุขภาพที่มีผักเป็นส่วนประกอบ ต้องเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ผักเมล็ดพันธุ์ที่ดีถือเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่คุณภาพของผลผลิตการเกษตรที่ดี เป็นส่วนช่วยพัฒนานวัตกรรมการเกษตรของไทย ทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพผลผลิต และเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญของความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

แต่ปัจจุบันเรายังพบอีกอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไม่บริโภคผักคือ ความกังวลต่อสารเคมีที่ไม่ปลอดภัยในผักผลไม้

ข้อมูลของ ดร.สิรินทร์ยา ช่วยเจาะลึกไปถึงอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยไม่กินผักผลไม้นั้น เกิดจากคนไทยยังกังวลเรื่องสารเคมีในผักผลไม้ ด้วยพบว่า มีความกังวลประเด็นนี้ถึง 45.7% ในปี 2561 และในปี 2562 ตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงกว่า 57.2% ซึ่งจากการศึกษายังพบว่าคนที่กังวลเรื่องสารเคมีตกค้างมีการบริโภคผักเพียงพอน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่กังวล

ผลจากการวิจัยดังกล่าว หากนำไปแปรเป็นนโยบายที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคผักผลไม้มากขึ้น ผศ.ดร.สิรินทร์ยา เสนอแนะว่า ควรมีสามประเด็นหลักที่จำเป็นต้องขับเคลื่อน คือ การส่งเสริมการบริโภคผักผลไม้ที่กินง่าย การส่งเสริมการปลูกผักผลไม้กินเอง และทำผักผลไม้ให้ปลอดภัย ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงผักผลไม้ของคนไทยมากขึ้น

เราพบว่า 1 ใน 3 คนไทยรู้จักแคมเปญส่งเสริมบริโภคผักของ สสส. 2:1:1 แต่ในด้านความเข้าใจมีประมาณ 40% และการพบเห็นสื่อส่วนใหญ่มาจากช่องทางสื่อทีวี ทำให้มองว่า หากจะสร้างการรับรู้เรื่องการรณรงค์ควรทำต่อเนื่อง และทำผ่านช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคเป้าหมายมากขึ้น เพราะที่ผ่านมายังเป็นเพียงกลุ่มผู้ใหญ่ตอนปลายส่วนใหญ่

เรื่องเล่าผัก จากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

ด้านกลุ่มภาคีที่เกี่ยวข้องในแวดวงผักผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ยังร่วมกันส่งเสียงสะท้อนถึงสถานการณ์จริงจากแปลงผักผลไม้ไทยในเวทีนี้ ซึ่งสรุปประเด็นภายใต้ 5 ประเด็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในด้าน สถานการณ์ผักของชุมชนหรือสังคมไทย ในแง่การเข้าถึง ความเพียงพอ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ และความเป็นธรรม ในด้านการผลิต ประเด็นเทคโนโลยีและนวัตกรรม การตลาด และผู้บริโภค

จากการพูดคุยหลายฝ่ายสะท้อนปัญหาที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง อาทิ การมีผักที่เข้ามาในไทยช่วง 70 ปีหลัง มีศัตรูพืชมาก อาทิ ผักสลัด ทำให้ต้องใช้สารเคมีมากตาม โดยมีการแนะนำว่าควรปลูกพืชแนวทางใหม่ โดยอิงระบบนิเวศน์ อาทิ การใช้สารชีวภัณฑ์ หรือสิ่งมีชีวิตกำจัดศัตรูพืชรวมถึงการใช้หลักการสร้างสภาพนิเวศน์การเพาะปลูกพืชหลากหลาย การปลูกในระบบเว้นพื้นที่ การใช้แมลงกำจัดวัชพืชแทน รวมถึงพืชผักพื้นเมืองควรได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เนื่องจากมีความต้านทานโรคมากกว่า

162372781676

จงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.และผู้จัดการโครงการเด็กไทยแก้มใส เอ่ยว่า การส่งเสริมให้เกิดการบริโภคผักในเด็กและเยาวชน เด็กจะมีโอกาสได้บริโภคผักมากที่สุดคือมื้อกลางวันที่โรงเรียน ถ้าโรงเรียนทั่วประเทศไทยส่งเสริมให้เด็กได้รับผักประมาณหนึ่งร้อยกรัมที่ปลอดภัยในทุกมื้อกลางวัน แต่ปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนงบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนไทยห้าล้านคน ภายใต้งบประมาณ 21 บาทอาจไม่เพียงพอ จึงอยากฝากให้หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถจับมือทำงานร่วมกัน เพื่อเชื่อมโยง ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดภัยให้สามารถส่งผักปลอดภัยป้อนสู่โรงเรียนโดยตรง ซึ่งอาจมีการวิจัยต่อไปว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณแท้จริงเท่าไหร่

ด้าน ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ THAI-PAN สะท้อนสถานการณ์เรื่องความปลอดภัยว่าไทยแพนมีการมอนิเตอร์สารตกค้างในผักผลไม้ พบว่า มีสารเคมีจำนวนมากกว่า 300 ชนิด แต่การมอนิเตอร์มีศักยภาพจำกัด จึงยังโฟกัสเพียงที่สารกำจัดแมลง 4 กลุ่ม แต่จากการสุ่มตรวจที่แล็บ พบว่าผักทุกแหล่งแม้แต่ผักไฮโดรโปนิก หรือผักปลูกบนดิน หรือแม้แต่ผลไม้มีสารตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ประมาณ 58% ทั้งจากกลุ่มตัวอย่างที่เก็บจากตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า พบว่ามีสารตกค้างมากไม่แตกต่างกัน และยังมีสารอื่น ที่นอกเหนือจากที่ไทยแพนมอนิเตอร์

สิ่งที่อยากสะท้อนคือ หนึ่ง ไทยแพนไม่แน่ใจว่าภาครัฐมีกระบวนการควบคุมการใช้สารเคมีถูกต้องตามฉลากหรือไม่ สอง กระบวนการตรวจสอบรับรองมองว่ายังไม่ได้มาตรฐานแท้จริง แม้จะเป็นมาตรฐานรับรองที่เป็นสากล สาม ระบบการเฝ้าระวังอาจไม่เท่าทันการใช้สารเคมีในประเทศและผักผลไม้นำเข้า คำถามคือจะทำอย่างไรให้ระบบการตรวจสอบเฝ้าระวังและการรับรองเข้าไปทำหน้าที่และแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงนโยบายของรัฐในการส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการปลูกพืชผักปลอดภัยในระยะยาว

ขณะที่ ทัศนีย์ วีระ กันต์ ตัวแทนจากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เอ่ยถึงพฤติกรรมการบริโภคที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ปลูกผักในไทยว่า ความจริงประเทศไทยมีผักที่หลากหลายเยอะมาก แต่ปัญหาคือเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักผักหรือรู้จักน้อยมาก ดังนั้น อาจให้ความสำคัญกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่มากขึ้นแนะนำให้รู้จักและรับประทานผักให้เป็น และหลากหลายมากขึ้น ป้องกันการเกิดปรากฏการณ์ผักเอ็มเคคือการบริโภคผักเพียงไม่กี่ชนิด เพราะการบริโภคผักหลากหลายจะทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ค่อนข้างเยอะในผักอื่น นอกจากที่มีในผักกลุ่มตลาดอีกมาก

ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคจะส่งผลต่อการปลูกผักแต่ละแปลงด้วยเธอเอ่ย

ผักควรถูกบรรจุเป็นวาระของชาติ 

หากมองถึงโอกาสที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงผักผลไม้ในระยะยาว มีเสียงตอบรับจากภาคีสุขภาพหลายภาคส่วนที่เห็นด้วยกับการที่จะนำประเด็นการสร้างระบบความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะเรื่องผัก เข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

รวมถึง ดร.สิรินทร์ยา ที่เห็นด้วยว่าการเสนอประเด็นดังกล่าวในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 เพื่อยกระดับ food system และการสร้างความมั่นคงทางอาหารไทยเป็นวาระแห่งชาติ ก็จะเป็นกลไกที่ช่วยผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีทิศทางขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการทำงานร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน และกลไกที่มีประสิทธิภาพ

ด้าน ดร.นพ. ไพโรจน์ กล่าวว่า สสส. ได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการกิน ผัก และผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อเตรียมผลักดันเข้าสู่กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยกินผักผลไม้ปลอดภัยอย่างเพียงพอเพิ่มขึ้น นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

อาหารเป็นวาระที่ต้องอยู่ในแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ 13 รวมถึงการทำงานที่จะขยายต่อไปคือภาคส่วนที่เป็น non health sector อาทิ เกษตรกร โดยเราต้องมองระบบอาหารให้เป็นระบบ และมองให้เห็นตลอดห่วงโซ่ ทั้งระบบการผลิต ระบบกระจาย และผู้บริโภค รวมถึงยังมีนวัตกรรใหม่ๆ ที่เราต้องเสริมที่ต้องพัฒนาร่วมกัน รวมถึงการทำงานใน Setting สำคัญเช่นในโรงเรียน สถานประกอบการ ชุมชน แม้แต่โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารมั่นคงและปลอดภัย

โดย ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.ยังมองว่าการจัดกิจกรรมระดับโลกในครั้งนี้ ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะกระตุ้น จุดประกายให้ระบบ สสส. และภาคีเครือข่ายใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อน โดยเฉพาะการวาง infrastructure ให้พร้อม

การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องทำทั้งระบบตั้งแต่ระบบผลิต ปลูก และกระจายให้ถึงกลุ่มผู้บริโภค ทุกฝ่ายล้วนมีบทบาทสำคัญ รวมถึงเสียงเรียกร้องผู้บริโภคก็สำคัญ

เราเคยคิดว่าประเทศไทยมีความมั่นคงทางอาหารระดับหนึ่ง แต่วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้พบว่าสังคมไทยยังขาดอาหาร หรือเข้าถึงอาหารไม่ได้ อาหารไม่เพียงพอหรือมีราคาแพง ทำให้เราต้องกลับมาดู ว่าโมเดลการทำงานด้านสุขภาพเดิมที่เราอาจพูดถึงหมอ การรักษาและยา แต่ในทัศนะใหม่ของการดูแลสุขภาพเราไม่ได้มองแค่ individual health แต่เรามองที่ระบบสุขภาพ การเมือง นโยบายสาธารณะ ชุมชน องค์กรและประชาชน ถือเป็นแลนด์สเคปสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพในทุกเรื่อง

ดังนั้น สสส.ขอแสดงเจตจำนงร่วมมือ โดยใช้เครื่องมือและเครือข่ายที่มีหนุนเสริมเรื่องนี้ โดยยังคาดหวังว่าจะขับเคลื่อนให้ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนควบคู่ไปกับการที่คนไทยมีสุขภาพดีคู่กัน