7 สิ่งที่ต้องทำ ‘ก่อนตาย’ ในยุคของการแพร่ระบาดโควิด
การแพร่ระบาดของ"ไวรัสโควิด" ทำให้หลายคนจากไปอย่างกะทันหัน คนข้างหลังก็ไม่รู้ว่า มีสิ่งของและทรัพย์สมบัติอะไร ต้องจัดการอย่างไร ‘การเตรียมตัวตาย’ จึงเป็นเรื่องสำคัญ คนญี่ปุ่นจัดการอย่างไรและนักเขียนสวีเดนก็แนะนำเรื่อง‘death cleaning’
หลายประเทศในโลกใบนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กระแสที่กำลังมาแรงในประเทศญี่ปุ่นคือ ‘ชูคัทสึ’ (Syuukatsu) ‘กิจกรรม เตรียมตัวตาย’ คือ การคิดวางแผนล่วงหน้าถึงการจัดการในเรื่องของตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหรือสร้างความลำบากให้กับลูกหลานหรือคนรอบตัว หลังจากที่ตัวเองได้จากไปแล้ว
เช่น การเตรียมพินัยกรรม, การโอนทรัพย์สิน, การจดรหัส password, การจัดเอกสารให้เป็นระเบียบ แยกไว้ชัดเจนว่าอะไรทิ้งได้ อะไรทิ้งไม่ได้, การจัดข้าวของเป็นหมวดหมู่, ของชิ้นไหนจะเก็บไว้ให้ลูกหลานคนใด, ของชิ้นไหนทิ้งได้หลังจากตัวเองไม่อยู่ หรือข้าวของสะสมต่างๆ นั้นเอาไปขายที่ไหนถึงจะได้ราคาดี หรือว่าจะยกให้ใคร
- สิ่งที่อยากทำก่อนตาย
นอกจากนี้ คำว่า ‘ชูคัทสึ’ ยังหมายความว่า การวางแผนใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีความสุข เช่น เขียนจดหมายหาคนที่ไม่ได้คุยกันมานาน หรือคิดออกแบบงานศพของตัวเองว่าจะเป็นแบบไหน ถามบริษัทให้ตีราคาเลยว่า จะต้องใช้งบประมาณเท่าไร จะจัดที่ไหน จะเก็บเถ้ากระดูกไว้ที่ใด
กระแส ‘เตรียมตัวตาย’ ในญี่ปุ่นได้รับความนิยมมาก จนมีผู้ผลิต Ending Note สมุดโน้ตบันทึกเรื่องราว ที่อยากบอกเจตนาตัวเองให้กับลูกหลานได้รู้ วางขายอีกด้วย เพื่อบอกว่า ถ้าไม่สบายหนัก จะให้ถอดเครื่องช่วยหายใจหรือไม่ หรือบันทึกข้อมูลทรัพย์สมบัติต่างๆ หรือบันทึกประวัติชีวิตตัวเอง
- 4 เรื่องที่ควรจัดการไว้ก่อน
เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ส่วนมากจะแบ่งเป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
1) ด้านทรัพย์สิน ได้แก่ เงินออม, ประกัน, หุ้น, บัตรเครดิต, อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นๆ โดยจัดสรรแบ่งมรดกและเขียนพินัยกรรม
2) ด้านรักษาพยาบาลและการดูแล คือ การกำหนดสถานพยาบาลไว้ล่วงหน้าก่อนที่ตัวเองจะไม่สามารถขยับร่างกายหรือไม่สามารถตัดสินใจได้เอง
3) พิธีงานศพและหลุมศพ คือ การเลือกและจัดการรูปแบบพิธีกรรมและหลุมศพตามที่ตนปรารถนาหลังเสียชีวิต
4) สิ่งที่ระลึก คือ จัดทำอัลบั้มรูปภาพ บันทึกประจำวันเกี่ยวกับตนเองและครอบครัว 'การเตรียมตัวตาย' จึงมีประโยชน์ช่วยลดภาระให้ครอบครัวที่กำลังเศร้าโศกเสียใจแล้วต้องมาดำเนินสิ่งต่างๆ จนเสร็จสิ้นงานพิธีศพ
- ‘จัดบ้าน’ ก่อนเจ็บหนักหรือป่วยตาย
วรากรณ์ สามโกเศศ ได้เคยกล่าวไว้ในบทความ 'จัดบ้าน' ก่อนตาย ใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ว่า
“สถานการณ์ที่ส่วนใหญ่คนประสบคือ ‘ของล้นบ้าน’ ทุกคนล้วนมีสิ่งของที่รักและหวงแหน ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตา, เครื่องแก้ว, พระเครื่อง, ปืน, แสตมป์, นาฬิกา, แหวน, ตุ้มหู, หนังสือ, อัลบั้มรูปภาพครอบครัว, มีด, ปากกา, ไฟแช็ค ฯลฯ ที่เก็บสะสมมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กหรือช่วงเป็นหนุ่มสาว
ความจริงที่โหดร้าย คือ เมื่อท่านจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีอะไรจะประกันได้ว่าคนอื่นเขาจะรักใคร่ใยดี ทะนุถนอม เห็นคุณค่า ของสิ่งของเหล่านี้เหมือนตัวท่าน เพราะเขาไม่ใช่ท่าน ย่อมมีรสนิยมที่แตกต่างไป รูปภาพบางรูป เช่น รูปที่ถ่ายกับพ่อ/แม่ ที่ท่านรักดังดวงใจ อาจถูกโยนทิ้งลงถังขยะไปก็ได้ เพราะคนอื่น เขาไม่เห็นว่ามีความหมาย”
ในบทความนี้ ได้พูดถึงหนังสือชื่อ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning (2018) ที่เขียนโดย Margareta Magnusson สามารถให้คำตอบแก่สถานการณ์ดังกล่าวได้
"เพื่อความสุขของท่านและลูกหลาน และเพื่อปิดบังสิ่งที่ท่านไม่ต้องการให้ลูกหลานรู้ หรืออาจทำให้ลูกหลานหมางใจกัน หรือทำให้เกิดความรู้สึกดูแคลนท่าน
เกือบทุกคน ล้วนมีของติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เป็นหนุ่มสาว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เอกสาร หนังสือ เฟอร์นิเจอร์ ถ้วยโถโอชาม อัลบั้มรูปภาพ ของสะสมเก่าใหม่ เก็บซ่อนสะสมในกล่อง ในตู้ ในเซฟ หรือ กองไว้ที่ไหนสักแห่งในบ้าน แค่คิดจะรื้อโยนทิ้งไปบ้าง เพราะรกบ้าน ก็อ่อนใจแล้ว
ลองคิดดู ถ้าท่านตายไป ลูกหลานจะเหนื่อยเป็นภาระแค่ไหน กับการที่ต้องรื้อสิ่งของเหล่านี้ ต้องเสียเวลา และแรงงานคัดเลือกของ หรือไม่ก็โยนทิ้งไปเสียทั้งหมด"
Magnusson นักเขียนสวีเดน บอกว่า ตนเองอายุ 80 ปีแล้ว อยู่มาทั่วโลก ย้ายบ้าน 17 หน มีลูก 5 คน สามีจากไปเมื่อแต่งงานได้ 48 ปี ตัวเธอเองต้องย้ายจากบ้านมาอยู่อพาร์ทเมนท์ ทำให้นึกถึงคำว่า ‘death cleaning’ กระบวนการจัดบ้านให้เรียบร้อย เมื่อตระหนักว่าตนเองเป็นไม้ใกล้ฝั่ง เธอให้คำแนะนำดังนี้
- 7 สิ่งที่ต้องทำก่อนตาย
1) ยอมรับก่อนว่าความตาย เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงวัยมีโอกาสสูงที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งไม่ต้องการให้ความตายของตนเองเป็นภาระแก่ผู้อื่น
2) วัยที่ควรเริ่ม ‘จัดบ้าน’ คือ 65 ปี ยังแข็งแรงพอจัดการได้ หรือ การจากไปของคนรัก กำลังจะเลิก หย่าร้าง หรือมีบ้านที่เล็กลง เตรียมตัวไปอยู่บ้านคนชรา
3) death cleaning ไม่ใช่แค่จัดให้เป็นระเบียบ แต่หมายถึง พิจารณาสิ่งของที่มีทั้งหมดอย่างละเอียด ว่า อะไรจะทิ้ง อะไรจะมอบให้ใคร อะไรจะขาย อะไรจะเก็บไว้ เพื่อการมีชีวิตอยู่จนถึงบั้นปลาย
4) เริ่มต้น ‘จัดบ้าน’ โดยมุ่งไปที่ของใหญ่ ที่เก็บไว้โดยไม่ใช้ก่อน เช่น ตู้เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ ตู้พลาสติก 4 ลิ้นชัก อุปกรณ์กีฬา ที่ไม่ใช้แล้ว มอบให้คนที่ต้องการ ลูกหลาน คนชอบพอกัน
อย่าเริ่มที่สิ่งเล็กๆ เช่น จดหมายเก่า รูปเก่า ภาพเก่า เพราะใช้เวลานาน ในการอ่านการเลือกทิ้งของเหล่านี้ ทำให้นึกถึงความหลัง เกิดความรู้สึกเก่าๆ จนเหนื่อยใจเสียก่อน‘จัดบ้าน’ได้สำเร็จ
5) เมื่อจัดการของชิ้นใหญ่ได้ โดยตัดใจเรื่องความผูกพันทางใจกับสิ่งของเหล่านี้ที่มีมาแต่อดีต จงคิดว่า ตายไปก็ไม่พบมันอีก และไม่รู้ชะตากรรมของมัน จัดการมันตอนนี้ยังกำหนดได้ว่าให้ใครเป็นเจ้าของ
(6) สิ่งสำคัญคือ จงทำลายจดหมาย บันทึกเอกสาร สิ่งพิมพ์ รูปถ่าย ข้อเขียน สิ่งของ ที่เปิดเผยความลับส่วนตัว เพราะทำให้ตนเองดูไม่ดี ไม่อยู่ในทำนองครองธรรม ในสายตาลูกหลาน สร้างความรู้สึกลบเกี่ยวกับตนเองโดยไม่จำเป็น
(7) รูปภาพทั้งหมด แปรให้อยู่ในไฟล์ดิจิทัล เพื่อความคงอยู่ต่อไป หากลูกหลานสนใจ หากเก็บไว้เป็นภาพอย่างเก่า อาจผุพัง และถูกโยนทิ้ง เพราะไม่เห็นความสำคัญ
(คุยกับลูกหลานในเรื่องความตายอย่างเปิดเผยว่า จะให้สิ่งใดแก่ใคร เมื่อตายไปแล้ว พร้อมด้วยเอกสารแสดงเจตจำนง เพื่อไม่ให้ลูกหลานทะเลาะกัน อิจฉาริษยากัน ต้องใส่ใจประเด็นนี้ ไม่สมควรให้การตายของตน เป็นสิ่งบั่นทอนความรักสามัคคีของลูกหลานต่อไปในอนาคต)
Magnusson บอกว่า ลูกหลานอยากได้ของดีๆ บางชิ้น ที่ได้เลือกสรรมาแล้วแต่ ไม่ต้องการของทั้งหมด เพราะในสายตาของเขานั้น ส่วนหนึ่งเป็นขยะ
ให้คิดว่า เมื่อเกิดมา ก็ไม่ได้มีอะไรติดมือมา ตอนจากไป สิ่งของที่เราสะสมมานั้น เป็นสมบัติชั่วคราว ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราอยู่บนโลกนี้ ไม่ควรทำให้มันตกเป็นภาระของลูกหลาน มันควรเป็นสิ่งสร้างสรรค์สำหรับลูกหลานในชั่วคนต่อไป