ลองเช็คดู...อาการวิตกกังวลแบบไหน เป็น 'โรคแพนิค'
เคยไหม...จู่ๆ ก็มีอาการระคายคอ ไอแห้งๆ หรือสบายๆ อยู่ กลับรู้สึกอ่อนเพลีย จนกลายเป็นวิตกกังวลไปหมดทุกเรื่อง แล้วอาการแบบไหนจะเรียกว่า "โรคแพนิค"
โรคแพนิคไม่ใช่โรคที่ทำให้เกิดอาการน่ากังวล แต่ความกังวลต่างหากที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคนี้ขึ้น ปฏิกิริยาแรกที่เกิด คืออาการตื่นตระหนก ตกใจกลัว
อาการของโรคนี้ เกิดได้หลายสาเหตุใกล้ตัวจนเกิดความเครียดถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ความเร่งรีบในชีวิต การอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือเป็นเวลานาน พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลัง
หรือแม้แต่คำสั่งล็อกดาวน์ ก็อาจมีส่วนของโรคแพนิคได้เช่นกัน และถ้าไม่นับสาเหตุจากความเครียดแล้ว ผลกระทบที่เกิดกับจิตใจอย่างรุนแรง เช่น การสูญเสีย ความผิดหวัง หรือเหตุการณ์รุนแรงอื่นๆ ที่มากพอ จะเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนได้ จนส่งผลต่อสารเคมีในสมองเสียสมดุลการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป
เหล่านี้ก็เป็นส่วนที่ก่อให้เกิดอาการแพนิคฉับพลันได้เช่นกัน และอาจนับรวมถึงเหตุไกลๆ ในปัจจัยด้านพันธุกรรม ที่ผู้ป่วยบางคนมีโอกาสเกิดโรคแพนิคได้มากกว่า เนื่องจากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล
จริงๆ แล้วในทางการแพทย์ก็มีแบบประเมินเบื้องต้นในลิสต์นี้ว่า เป็นแพนิคอยู่หรือเปล่า แต่ก่อนที่จะเช็คก็ขอแนะนำให้ผ่อนคลายร่างกายลงบ้างเล็กน้อย เพื่อไม่เพิ่มความกังวล
-มีอาการใจสั่น ใจเต้นแรง หรือใจเต้นเร็วมาก
-เหงื่อออก
-ตัวสั่น มือเท้าสั่น
-หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจติดขัด
-รู้สึกอึดอัด หรือแน่นอยู่ข้างใน
-เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
-คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
-วิงเวียน โคลงเคลง มึนตื้อ หรือจะเป็นลม
-ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ เหมือนจะเป็นไข้
-รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่าๆ (paresthesia)
-รู้สึกเหมือนสิ่งรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป (derealization หรือ depersonalization)
-กลัวคุมตัวเองไม่ได้ หรือกลัวเป็นบ้า
-กลัวว่าตนเองกำลังจะตาย
โรคแพนิคไม่ใช่โรคที่ทำให้เกิดอาการน่ากังวล แต่มันจะเป็นอีกกรณีหนึ่ง หากผู้ป่วยมีอาการข้างต้นมากกว่า 4 อาการขึ้นไป รวมถึงอาการยังเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยคาดการณ์ไม่ได้ และตามมาด้วยพฤติกรรมทางลบในหลายๆ ด้านเช่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่กล้าอยู่คนเดียว ไม่กล้าใช้ชีวิตประจำวันที่เคยทำเป็นประจำ
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คืออาการของ ‘PANIC ATTACK’ และที่น่ากังวลที่สุดคือ สิ่งนี้มักมาพร้อมกับอาการที่น่าเป็นห่วงอื่นๆ ซ้ำยังมีแนวโน้มว่า จะเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1 เดือน (หรือมากกว่านั้น) เช่น โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia), โรคกลัวเฉพาะอย่าง (Specific Phobia), โรคกลัวสังคม (Social Phobia) รวมถึงโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือแม้แต่กับโรคซึมเศร้า
แม้อาการครึ่งหลังของโรคแพนิคจะเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ใช่ว่าโรคนี้จะไม่มีทางรักษา
แพทย์หญิงพรทิพย์ ศรีโสภิต ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่าโดยทั่วไป โรคแพนิคจะแบ่งการรักษาออกเป็น 2 วิธี
หนึ่งคือการรักษาด้วยยา โดยใช้ตัวยาเข้าไปปรับสมดุลสารสื่อประสาทในสมอง ใช้เวลารักษาประมาณ 8-12 เดือน ขึ้นกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคในแต่ละตัวบุคคล
อีกวิธีหนึ่งคือการรักษาทางใจ หรือการทำจิตบำบัดประเภทปรับความคิดและพฤติกรรม สามารถทำได้หลากหลายแบบ เช่นพยายามรู้เท่าทันอารมณ์และมีสติบอกกับตัวเองว่า อาการดังกล่าวเป็นเรื่องชั่วคราว สามารถหายได้
หรือใช้วิธีการฝึกฝนเพื่อรักษาอาการในรูปแบบต่างๆ ทั้งการฝึกคลายกล้ามเนื้อ, การฝึกสมาธิ, การฝึกคิดในทางบวก และฝึกหายใจในกรณีผู้มีอาการหายใจไม่อิ่ม โดยหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ เพื่อเบนความสนใจของอาการ และทำให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวจนเริ่มผ่อนคลายและอาการค่อยๆ ดีขึ้น
“โดยการรักษาโรคแพนิคให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด คือ ใช้วิธีการสองด้านทั้งตัวยาและการรักษาจิตใจควบคู่กันไป พร้อมกับมีสติไม่แตกตื่นกับโรคมากเกินไป เพื่อให้ผู้ป่วยหลังการรักษากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ และไม่ต้องกังวลใจกับอาการนั้นๆ อีกต่อไป” คุณหมอพรทิพย์ สรุป
ติดตามข่าวสารและความรู้เพิ่มเติมได้ทาง www.praram9.com