ระดมไอเดีย เปลี่ยนคนไทย ‘เพิ่มผัก ลดเค็ม’ ในมื้ออาหาร
การบริโภคอาหารรสเค็มจัดเป็นปัญหาใหญ่กับระบบสุขภาพเพราะเป็นสาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของคนไทย ฉะนั้นควรป้องกันตัวเองโดย ลดเค็มลง และทานผักให้มากขึ้น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) คือสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้นๆ ของคนไทย ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตโดยมีสาเหตุสืบเนื่องจากโรคไม่ติดต่อมากถึง 4 แสนคน เท่ากับทุกนาทีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ 1 คน
พญ.ดร.เรณู การ์ก เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ (โรคไม่ติดต่อ) องค์การอนามัยโลกประเทศไทยแสดงความกังวลกับปริมาณความเค็มในอาหารด่วนปรุงสำเร็จที่หาได้ตามร้านอาหารข้างทาง ซึ่งปกติเราได้รับโซเดียมจากอาหารอยู่แล้ว โดยปริมาณที่ร่างกายต้องการคือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน (เทียบเท่าเกลือ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลา 4-5 ช้อนชา) หรือ 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ หรือเพียง 0.12 ช้อนชาต่อมื้อเท่านั้น แต่อาหารที่เราบริโภคทั่วไปอย่าส้มตำไก่ย่าง มีเกลือเป็นส่วนผสมประมาณ 1,800 มิลลิกรัม บะหมี่สำเร็จรูปมีเกลือผสมอยู่มากถึง 1,935 มิลลิกรัม และต้มยำกุ้งมีปริมาณเกลือเป็นส่วนผสมมากถึง 2,200 มิลลิกรัม
“การบริโภคอาหารรสเค็มจัดเป็นปัญหาใหญ่กับระบบสุขภาพเพราะเป็นสาเหตุของโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมีแนวโน้มว่าประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับปัญหานี้เพิ่มสูงขึ้น” ดร.เรณู กล่าวในเวทีหารือสาธารณะ ในหัวข้อ “การออกแบบ “ไทยพร้อม” สู่การขับเคลื่อนผักและผลไม้เป็นวาระแห่งชาติ” ผ่านทางระบบออนไลน์ Zoom Meeting ที่มีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 200 คน
ในทางกลับกัน คนไทยกินเค็มมาก แต่กินผักผลไม้น้อย ส่วนใหญ่โดยเฉพาะวัยรุ่นคนหนุ่มสาวกินผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์เพียงแค่ 250 กรัมต่อวันในขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินผักผลไม้เฉลี่ย 400 กรัมต่อวัน การปนเปื้อนของสารเคมีในผักและผลไม้ การตลาดเชิงรุกขนมของคบเคี้ยวที่ไม่มีประโยชน์ ฉลากโภชนาการที่ไม่ได้ผล คือปัจจัยกำหนดการค้าและสังคมที่มีส่วนทำให้เยาวชนสามารถเข้าถึงอาหารหรือขนมที่ไม่มีประโยชน์ได้ง่าย
ดร.เรณู ให้คำแนะนำว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรทำงานร่วมมือกันหาแนวทางพัฒนาคุณภาพอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน ให้เพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในแต่ละมื้ออาหาร ยกเลิกหรือลดการขายเครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำอัดลมที่โรงเรียน ในแง่นโยบาย ควรมีการจำกัดการตลาดส่งเสริมการขายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกาย และควรมีการรณรงค์ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
โดยแนะนำมาตรการอุดหนุนทางภาษีและการเงินให้กับภาคธุรกิจผู้ผลิตอาหาร เช่นการลดภาษีผักและผลไม้จะมีผลทำให้ราคาผักผลไม้ถูกลง 10-30% ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ผลิตใช้ผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษี ในขณะเดียวกันควรมีนโยบายการเพิ่มภาษีความหวาน ความเค็ม จะช่วยลดการเข้าถึงอาหารขยะ ขนมขบเคี้ยว และสามารถพัฒนาและเปลี่ยนผ่านระบบอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบ
วอร์เรน ทีเค ลี เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านโภชนาการและอาหารปลอดภัย ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กล่าวว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยควรสามารถเข้าถึงอาหารจำพวกผักและผลไม้ได้มากขึ้น เพราะอาหารที่ไม่มีประโยชน์ทำให้เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประเทศไทย แนวทางที่จำเป็นตั้งแต่นโยบายจากต้นน้ำจะช่วยให้สามารถเปลี่ยนผ่านระบบอาหารตั้งแต่ฟาร์ม คือต้นทางการผลิต จนถึงส้อมคือการบริโภค ไม่วาจะเป็นเรื่องอาหาร โภชนาการ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รายได้ชุมชนและความยั่งยืน
“การพัฒนาระบบโภชนาอาหารจำเป็นต้องทำทั้งแนวราบคือความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและแนวดิ่งคือระดับนโยบาย จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของระบบอาหาร เพราะระบบอาหารไม่ใช่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับเรื่องการผลิตเท่านั้นแต่ยังมีผลกับความปลอดภัย คุณภาพอาหาร และการเข้าถึงอาหาร โภชนาการและสุขภาวะ และสภาพแวดล้อมด้วย” วอร์เรน ทีเค ลี กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.สนับสนุนนโยบายการเข้าถึงอาหาร ผักผลไม้ที่เพียงพอและปลอดภัยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการผลักดันให้ผักเป็นวาระแห่งชาติของประเทศ ซึ่งความมั่นคงทางอาหารเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของประเทศ อาหารที่ปลอดภัยและเพียงพอจะเป็นผลดีกับการพัฒนาระบบสุขภาวะ จากผลการศึกษาของหลายๆ ประเทศที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของผักและผลไม้ต่อการป้องกันสุขภาพจะโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
“การศึกษาในต่างประเทศอย่างแคนาดาพบว่า รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาลไปได้มากถึงหมื่นล้านดอลลาร์เพราะนะโยบายด้านการบริโภคอาหารจำพวกผักและผลไม้ และยังลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อและปัญหาเศรษฐสังคมอื่นๆ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญ สสส.ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับภาคยุทธศาสตร์อย่างกระทรวงเกษตรและเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารจำพวกผักและผลไม้ ส่งเสริมการมีสุขภาพดีและลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ เพื่อจัดการระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารปลอดภัยนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้าน ระพีพัฒน์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะผู้ประสานงานการประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (UNFSS Independent Dialogue in Thailand) กล่าวว่า ประเด็นการผลักดันให้ผักเป็นวาระแห่งชาติ และการบริโภคผักและผลไม้ที่ปลอดภัย เป็นหัวข้อสำคัญที่ไทยจะนำไปแสดงจุดยืนในเวทีดังกล่าวที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายนนี้ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำและระดับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกร่วมกันเร่งปฏิรูปนโยบายระบบอาหารเพื่อความยั่งยืนทางการเกษตรและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป