ตอบทุกคำถาม 'ATK' ชุดตรวจ 'โควิด 19' ด้วยตนเอง

ตอบทุกคำถาม 'ATK' ชุดตรวจ 'โควิด 19' ด้วยตนเอง

ตอบทุกคำถาม "ATK" ชุดตรวจ "โควิด 19" ด้วยตนเอง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

แต่ก่อนที่จะหาซื้อ Antigen Test Kit หรือ ATK มาใช้ด้วยตนเอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนมาทำความเข้าใจเรื่อง ATK ด้วยการตอบทุกคำถามจากแพทย์วิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และดร.พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี

ทำไมถึงมีการนำเอทีเคมาใช้ตรวจหาโควิด 19 ในช่วงเวลานี้

นพ.โสภณ กล่าวว่า ATK เข้ามาใช้ในช่วงนี้ที่ได้ประโยชน์มาก เพราะมีการระบาดมาก การเจอเชื้อสูง การให้ความแม่นยำของการตรวจมากขึ้น หากเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โอกาสจะเจอโรคน้อย โอกาสที่จะพบผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น ลบหรือบวกปลอมก็มีได้มาก เมื่อตรวจคัดกรองด้วย ATK เป็นผลบวกเมื่อตรวจยืนยันก็เป็นลบ เพราะ ATK เป็นชุดตรวจคัดกรอง ผลตรวจอาจไม่แม่นยำเท่าวิธี RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐาน แต่ปีนี้ความชุกการติดเชื้อค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ค่อนข้างมั่นใจ ถ้าผลบวกก็จะเป็นบวกจริง การนำ ATK มาใช้จึงทำให้เข้าถึงการตรวจ ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ และได้รับการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น

หากไม่มีอาการใดๆ แต่กังวลว่าตนเองจะเป็นควรใช้ ATK ไหม

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK เหมือนการตรวจการตั้งครรภ์ อาจมีผลบวกลวง หรือผลลบลวง แต่ในสถานการณ์โรคระบาดกว้างขวางมากๆ ดังนั้น ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก ATK เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับเหมือนตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะ ก็บวกลบเทียมเกิดขึ้นได้แต่ต้องยอมรับ เพราะเป็นหนทางพึ่งตนเองของเรา อยากตรวจทุกกี่วันก็ไปซื้อมาตรวจ เป็นสิทธิของประชาชนที่มีสิทธิตรวจโควิดได้ด้วยตนเอง

พญ.นิตยา เสริมว่า ชุดตรวจATK9 ตรวจได้ซ้ำๆในผู้ที่สัมผัสเชื้อ สามารถตรวจได้ เพราะต้องให้ประชาชนรู้ว่าสามารถดูแลตนเองได้

เลือกซื้อ ATK แบบไหนดี

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK มี 2 แบบ คือ สำหรับเจ้าหน้าที่ และสำหรับประชาชนตรวจด้วยตนเอง การเลือกซื้อชุดตรวจก็เลือกจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง หรือถ้าเป็นชุดตรวจที่มีทั้ง อยและองค์การอนามัยโลกรับรองด้วยก็จะยิ่งดี

ไม่มั่นใจว่าจะตรวจแหย่จมูกได้ด้วยตนเอง จะทำอย่างไร

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ชุดตรวจจะมีทั้งการตรวจจากการเก็บสารคัดหลั่งจากน้ำลายและการแยงจมูก หากไม่มั่นใจที่จะแหย่จมูกด้วยตนเอง ก็ให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนที่ใกล้ชิดทำให้ดีที่สุด เพราะเพื่อนจะแหย่เต็มที่ทำให้เก็บสารคัดหลั่งได้ดี แต่หากเราทำเองอาจจะมียั้งมือ

นพ.โสภณ กล่าวว่า การตรวจด้วยน้ำลาย โอกาสเจอน่าจะน้อยกว่าการแหย่จมูกมาก เพราะการตรวจด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR จากน้ำลายบางครั้งยังตรวจไม่ค่อยเจอ ขณะที่การตรวจด้วย ATK มีความไวน้อยกว่า RT-PCR

ถ้าตรวจแล้วได้ผลบวก จะต้องทำอย่างไรต่อ

พญ.นิตยา กล่าวว่า เมื่อตรวจแล้วเจอผลบวก ต้องนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาอย่างเร็วที่สุด ในระบบแยกกักที่บ้าน(Home Isolation:HI) หรือแยกกักในชุมชน (Community Isolation:CI) ได้อย่างมีคุณภาพมากที่สุด โดยจะมียาที่จ่ายให้กับผู้ป่วยสีเขียวเข้มได้เร็ว ป้องกันไม่ให้เป็นสีเหลืองและแดง แต่หากเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโรงพยาบาลได้อาจจะดีที่สุด

ถ้าผลเป็นลบ ไม่ว่าจะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหรือต่ำ ต้องทำความเข้าใจว่าช่วงเวลาที่ตรวจนี้อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาทองที่ตรวจแล้วจะเจอเชื้อ และช่วงเวลาไหนที่ตรวจแล้วจะเจอเชื้อ และต้องมีการตรวจซ้ำหลังจากนั้นอาจจะอีก 3-5 วัน รวมถึงยังต้องแยกตัวจากคนอื่นๆ

ผลการตรวจATKด้วยตนเอง นำไปแจ้งหรือติดต่อหน่วยงานสาธารณสุขได้ไหม

พญ.นิตยา กล่าวว่า กรณีที่ประชาชนซื้อ ATK มาตรวจด้วยตนเอง เมื่อได้ผลเป็นบวก สามารถเข้าระบบการดูแลรักษาได้ด้วยการโทรประสานสายด่วนสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1330 หรือสแกนคิวอาร์โค้ดของสปสช. เพื่อนำตัวเองเข้าสู่ระบบของ HI หรือ CI โดยเร็วที่สุด จะมีการจับคู่คลินิกชุมชนอบอุ่นหรือศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม.ที่อยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยเป็นหน่วยดูแล ในการประเมินอาการ ดูแลระหว่างการรักษา การจัดส่งอุปกรณ์ที่จำเป็น การจ่ายยา การส่งอาหาร และติดตามอาการหากมีการเปลี่ยนแปลงจะประสานโณงพยาบาลในการส่งต่อไปรับการรักษา  

ตรวจเสร็จแล้ว จะทิ้งขยะอย่างไร

นพ.สุภัทร กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK นับเป็นขยะติดเชื้อ ในกรณีที่ไม่มีระบบทิ้งถุงแดงที่เป็นการทิ้งขยะติดเชื้อเมื่อตรวจแล้วนำใส่ถุงพลาสติกแล้วใช้ไฮเตอร์ที่น่าจะเป็นน้ำยาฆ่าเชื้อที่หาง่ายที่สุด หรือใช้แอลกอฮอล์เทลงไป เชื้อก็จะตาย ก็ทิ้งถุงดำตามปกติ