รู้เท่าทัน'โรคต้อ' ก่อนดวงตาจะถูกทำร้าย

รู้เท่าทัน'โรคต้อ' ก่อนดวงตาจะถูกทำร้าย

ถ้าไม่อยากให้ดวงตาถูกทำลายมากกว่านี้ ลองเช็คดูว่า คุณเป็น"โรคต้อ"หรือไม่ ต้อทั้ง 4 ชนิด มีต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน

 โรคต้อทางตาที่พบบ่อย ก็คือต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจก และต้อหิน ซึ่งมีอาการแตกต่างกันในแต่ละชื่อโรค โรคต้อบางชนิดถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการดูแลหรือรักษา อาจอันตรายถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

เราควรรู้เท่าทันโรคต้อทั้ง 4 เพื่อรับมือและสามารถรักษาดวงตาของเราให้ปลอดภัย 

พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์ จักษุแพทย์ผู้ชำนาญการด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตาโรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคต้อหรือตาต้อที่เกิดขึ้นกับดวงตานั้นเกิดจากหลากหลายสาเหตุ อาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ ระคายเคืองตา ไปถึงตามัว หรือทำให้ตาบอดได้

ต้อต่าง ๆ ในตาที่คุ้นชินกันดีมี 4 ชนิด คือ  

1.ต้อลม (Pinguecula) 

ลักษณะเป็นเนื้อนูนที่เยื่อบุตาด้านข้างกระจกตาหรือตาดำ จะอยู่เฉพาะที่เยื่อบุตาขาว (Conjunctiva) ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณหัวตาด้านในบริเวณใกล้จมูก แต่สามารถเกิดที่หางตาและหัวตาพร้อมกันได้

เมื่อเยื่อบุตานูนขึ้น จะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองตามากขึ้น สาเหตุมาจากรังสียูวี เช่น จากแสงแดด และเมื่อโดนลมหรือฝุ่นจะทำให้เคืองตามากขึ้นได้จากการอักเสบหรือผิวตาแห้งง่าย พบได้ทุกเพศทุกวัย พบมากในประเทศเขตร้อน เพราะสัมพันธ์กับการเจอแดด

โดยส่วนใหญ่อายุที่พบจะมากกว่า 30 ปีขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้นคือ  เคืองตา แสบตา คันตา ตาแดงอักเสบ การรักษาต้อลมขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

หากต้อมีขนาดเล็ก จะไม่รู้สึกระคายเคือง การรักษาในระยะนี้แพทย์จะแนะนำให้เน้นการป้องกัน เพื่อไม่ให้เป็นมากขึ้น โดยปกป้องดวงตาจากรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมแว่นกันแดดอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีกิจกรรมนอกอาคาร เพื่อไม่ให้ต้อเติบโตลุกลาม

ถ้ามีอาการระคายเคืองหากเกิดการอักเสบแดง แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาหยอดตาเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง ลดอาการอักเสบ 

162936852342

2.ต้อเนื้อ (Pterygium) 

มีลักษณะเป็นเนื้อสามเหลี่ยม โดยมีหัวอยู่ที่กระจกตา เนื้อเยื่อเหมือนเยื่อบุตา ซึ่งมีเส้นเลือดวิ่งเข้าไปเกาะอยู่บนกระจกตาดำ จะแดงมากน้อยขึ้นอยู่กับมีปริมาณเส้นเลือดบริเวณต้อเนื้อและการอักเสบ ต้อเนื้อส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณหัวตาด้านในใกล้จมูก แต่สามารถเกิดที่หางตาและหัวตาพร้อมกันได้เช่นเดียวกัน

ต้อเนื้อเกิดจากการถูกแสงอัลตราไวโอเลต (UV) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมักพบในคนที่อาศัยในเขตอากาศร้อน ใช้ชีวิตประจำวันกลางแจ้ง หรือโดนแสงแดดในบริมาณมาก

ถ้าต้อเนื้อมีการลุกลามเข้าไปบนกระจกตา และมีขนาดใหญ่ อักเสบเรื้อรัง รวมถึงมีการมองเห็นที่แย่ลง เพราะต้อไปกดกระจกตา แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ เพื่อเอาเนื้อเยื่อต้อเนื้อออกจากเยื่อตาและผิวกระจกตา ถึงจะผ่าตัดออกแล้วแต่ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นอีก

โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและผู้ที่ยังคงได้รับรังสี UV อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดต้อเนื้อซ้ำ แพทย์มักผ่าตัดด้วยวิธีปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่ โดยใช้เยื่อบุตาขาวของผู้ป่วยเอง หรือเยื่อหุ้มรกที่เตรียมพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบันโดยอาจใช้วิธีเย็บเนื้อเยื่อหรือใช้ Fibrin Glue 

การป้องกันจะเหมือนต้อลม คือ ควรหลีกเลี่ยงแดดจ้า โดยเฉพาะช่วยสายถึงบ่ายต้น ๆ หากทำกิจกรรมกลางแจ้งควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้ง และพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลม ฝุ่น ควัน ที่ส่งผลทำให้กระตุ้นการอักเสบระคายเคืองมากขึ้นได้ 

 

3.ต้อกระจก (Cataract) 

การเสื่อมของเลนส์ตาตามอายุทำให้เลนส์แก้วตาขุ่นลง มักพบในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน เช่น เป็นตั้งแต่กำเนิด หรือจากอุบัติเหตุกับดวงตา หรือการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ เป็นต้น

ทุกคนมีโอกาสเป็นต้อกระจกตามวัยเพราะความเสื่อมของร่างกาย อาจเป็นเร็วช้าต่างกัน อาการที่พบ คือ มองเห็นเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบัง เห็นสีเพี้ยน ภาพซ้อน ตามัวในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เมื่ออยู่กลางแดดตาจะสู้แสงไม่ได้ ยังไม่มีการรักษาด้วยการกินยาหรือหยอดตา

เมื่อสายตามัวลงจะมีผลต่อการใช้ชีวิตควรได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันวิธีที่เป็นมาตรฐานที่นิยมคือ วิธีสลายต้อกระจกด้วยเครื่องสลายต้อและใส่เลนส์แก้วตาเทียม (Phacoemulsification with Intraocular Lens) โดยส่วนใหญ่ใช้เพียงแค่ยาชาเฉพาะที่ ผ่าตัดเร็ว แผลมีขนาดเล็ก กลับมามองเห็นได้เร็ว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่ทดแทนเมื่อนำต้อกระจกออกแล้ว ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายชนิดตามความต้องการของคนไข้ มีทั้งเลนส์ที่ชัดระยะเดียว มองไกลได้ชัดเจนมากขึ้น หรือเลนส์ชัดหลายระยะ ใส่แว่นน้อยลง กลับมาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น  หรือถ้าคนไข้มีสายตาเอียงสามารถแก้สายตาเอียงไปพร้อมกันได้จากการเลือกเลนส์ให้เหมาะสม

การป้องกัน แนะนำให้ใส่แว่นกันแดดทุกครั้งเมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต ไม่ให้ดวงตาถูกกระแทก เลี่ยงการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น และเมื่ออายุมากขึ้น ควรตรวจตาปีละครั้ง เพราะส่วนใหญ่การเกิดต้อกระจกสัมพันธ์กับความเสื่อมตามวัย 

4.ต้อหิน (Glaucoma) 

โรคที่มีความเสื่อมของเส้นประสาทและขั้วประสาทตา ทำให้สูญเสียการมองเห็น ลานสายตาแคบลง มักพบความดันในลูกตาสูงซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้โรคแย่ลง ส่งผลทำลายเส้นประสาทตาและขั้วประสาทตา ทำให้เกิดการสูญเสียลานสายตาอย่างถาวรได้ 

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่า ตนเองเป็นโรคนี้ เพราะกลุ่มใหญ่ๆ ของต้อหินไม่มีอาการบอกล่วงหน้า แต่ถ้าเป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดตา ตาแดง ต้อหินบางชนิดความดันลูกตาไม่สูง แต่ต้องคุมความดันตาให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมมากขึ้น

ถ้าหากไม่ทำการรักษาจะทำให้ลานสายตาค่อย ๆ แคบลงจนตาบอดได้ในที่สุด สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุแต่ที่พบมากคืออายุ 40 ปีขึ้นไป ต้อหินที่พบมีทั้งต้อหินเฉียบพลันที่มีอาการปวดตาในทันทีทันใด และเห็นแสงสีรุ้งรอบดวงไฟ

และต้อหินเรื้อรังที่ไม่มีอาการใด ๆ ต้องตรวจตาและวัดความดันลูกตาถึงสามารถรู้ได้ การรักษาแม้ไม่ได้ช่วยให้หายขาด แต่ช่วยควบคุมไม่ให้อาการแย่ลง

ส่วนใหญ่รักษาเพื่อควบคุมความดันลูกตาตาให้เหมาะสม โดยมีทั้งการใช้ยาหยอดตา ยารับประทาน การใช้เลเซอร์รักษาตามชนิดต้อหิน และการผ่าตัดที่ใช้เมื่อรักษาด้วยยาและเลเซอร์ไม่ได้ผล โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจักษุแพทย์เพื่อคุมความดันลูกตาให้อยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจเช็กสายตาเป็นประจำทุกปี 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุ รพ.กรุงเทพ โทร.1719  หรือ แอดไลน์ @bangkokhospital