ยาจาก‘ใบกระท่อม’ ตัวแรกของไทย อนาคตที่รออยู่

ยาจาก‘ใบกระท่อม’  ตัวแรกของไทย อนาคตที่รออยู่

“พืชกระท่อม” สมุนไพรที่ถูกปลดล็อคจาก“ยาเสพติดให้โทษ”เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กำลังพัฒนาเป็นยา ซึ่งในอนาคต คนไทยคงจะได้ใช้ยาเหล่านั้น

“เรามองเห็นศักยภาพพืชกระท่อม เนื่องจากระยะหลังองค์กรต่างๆ ที่ดูแลพืชเสพติด เริ่มมีแนวคิดเอามาทำเป็นยาทางการแพทย์แล้ว " ผศ.ดร.สมชาย ศรีวิริยะจันทร์ หัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (เภสัชวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.)วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา  กล่าวในฐานะทีมนักวิจัยพืชกระท่อม

หลังจากที่มีการปลด“กระท่อม”ออกจากยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่8)พ.ศ. 2564 สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เต็มที่มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้แพทย์แผนไทยได้ใช้พืชกระท่อมรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยร่างกาย นอนไม่หลับ ปวดท้องและท้องเสีย ฯลฯ 

163002956010

(ใบกระท่อม สรรพคุณมากหลาย คลายกล้ามเนื้อก็ได้ แก้ปวดเมื่อยได้ด้วย)

 

งานวิจัย“พืชกระท่อม”

ก่อนที่จะมีการปลดล็อคพืชกระท่อม ทีมวิจัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา โดยคณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ และคณะแพทย์ศาสตร์ ได้ร่วมกันทดลองสมุนไพรตัวนี้ ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งวัฒนธรรม พฤติกรรม สุขภาพ วิทยาศาสตร์และกฎหมาย ตั้งแต่ปี2545 จนถึงปัจจุบัน

ล่าสุดพัฒนาเป็นเภสัชตำรับ(สารที่ใช้ในการบําบัดรักษาโรค  รวมถึงข้อกําหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับคุณภาพยาฯลฯ ) เพื่อทำเป็นยาบำบัดผู้เสพยาเสพติด ยาแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และยาอีกหลายชนิดในอนาคต 

อาจารย์สมชาย บอกว่า ในส่วนเภสัชตำรับเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังศึกษาเรื่องความเป็นพิษ และประสิทธิภาพการรักษา โดยทดลองในสัตว์แล้ว การทดสอบความเป็นพิษทำไปพอสมควร กว่าจะเสร็จออกมาเป็นยา คงอีก 4-5 ปี และต้องหาผู้ร่วมทุนบริษัทยา เนื่องจากใช้ทุนวิจัยสูง ต้องศึกษาความเป็นไปได้และการทดลองทางคลีนิคอีก

“ก็น่าจะเป็นยาจากใบกระท่อมตัวแรก ถ้าไม่นับสูตรตำรับที่เป็นแพทย์แผนไทย ที่มียาประสระใบกระท่อม ยาหนุมานจองถนนปิดมหาสมุทร ที่ใช้ในการรักษาโรคทางเดินอาหาร

ปกติแล้วคนที่ติดมอร์ฟีนหรือฝิ่น รวมถึงยาเสพติดประเภทอื่น แพทย์ในโรงพยาบาลจะรักษาโดยใช้ยาเมทาโดน เพื่อลดอาการถอนของคนที่เข้ารับการบำบัดสารเสพติด ยาชนิดนี้นำเข้าจากต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ 

เราจึงทำต้นแบบยาจากใบกระท่อมออกมาและทำเสร็จแล้ว ต้นแบบมีทั้งยาน้ำ ยาเม็ด ง่ายต่อการปรับขนาด เพราะผู้ป่วยแต่ละคนที่รับการบำบัดจะใช้ขนาดต่างกัน  ซึ่งเป็นที่มาของการวิจัย” 

 

 

ยาจากใบกระท่อมตัวแรก

เมื่อถามไปว่า เป็นยาที่ใช้พืชกระท่อมตัวแรกของไทยใช่ไหม

อาจารย์สมชาย บอกว่า เป็นยาแผนปัจจุบันพัฒนาจากสมุนไพรตัวแรก พัฒนาขึ้นต้นแบบ 8 ตำรับเภสัชภัณฑ์ (ยาเตรียม ทางเภสัชศาสตร์ศึกษาโดยตั้งสูตรตำรับยา และกระบวนการผลิตยาในรูปแบบต่างๆ ตามเภสัชตำรา ทั้งรูปแบบเม็ด ยาน้ำ ยาแก้ปวดแคปซูล ยาผง ยาอม ) และมีตัวยาในกลุ่มโอปิออยด์ ใช้บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 

นอกจากนี้ทีมงานวิจัยยังใช้องค์ความรู้ทดลองยาจากสารสกัดพืชกระท่อมถอนอาการมึนเมาแอลกอฮอล์ ทดลองในหนูแล้วพบว่า ถอนอาการติดแอลกอฮอล์ได้

เนื่องจากพืชกระท่อมมีสารสำคัญคือ ไมทราไจนีน(Mitragynine) ซึ่งเป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกับยาบ้า และเซเว่นไฮดรอกซีไมทราไจนีน(7-hydroxymitragynine) สารสำคัญในการยับยั้งการตอบสนองต่อความเจ็บปวด

การใช้ใบกระท่อมจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนหลายกรณี และอาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน รวมถึงบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท

กระท่อมมีฤทธิ์ในการระงับปวด รักษาอาการท้องเสีย ต้านการอักเสบ ต้านอาการซึมเศร้า ยับยั้งกลุ่มอาการถอนยาจากเอทานอล ลดอาการวิตกกังวลจากกลุ่มอาการถอนยากลุ่มสารฝิ่น 

สำหรับอาการถอนยาที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้พืชกระท่อมจะไม่แสดงอาการก้าวร้าวต่างจากกลุ่มที่ติดสารเสพติดประเภทอื่น เช่น ยาบ้า ไอซ์ เป็นต้น ที่มักจะแสดงอาการก้าวร้าวออกมาให้เห็นได้ชัด

 

อาจารย์สมชายบอกว่า ชาวบ้านที่ใช้ใบกระท่อมรู้ดีว่า ฤทธิ์ใบยาไม่สูงเท่ากัญชา ขณะที่กัญชามีฤทธิ์ทำให้ง่วง ใบกระท่อมปริมาณไม่มากมีฤทธิ์กระตุ้นร่างกายให้รู้สึกกระปรี่กระเปร่า

“พืชกระท่อมตอนนี้ปลูกได้เสรี แต่จำกัดเรื่องการนำเข้าและส่งออก และงดเรื่องการจำหน่ายจ่ายแจก ตอนที่เราทดลองยังต้องขออนุญาตจากทาง อย.เพราะยังเป็นพืชเสพติด ประเภทที่ 5

ระหว่างที่ทำวิจัย เราไม่ได้ทำแค่ขึ้นผลิตภัณฑ์ ศึกษาความเป็นพิษและประสิทธิภาพทำคู่ขนานกันไป เราทำทุกด้านมาประกอบกัน เพื่อนำมาประเมินทั้งหมด เพราะทำงานวิจัยร่วมกันหลายคณะ นักวิชาการญี่ปุ่นเคยเอาใบกระท่อมไทยไปเปรียบเทียบสารสำคัญกับทางมาเลเซีย ก็พบว่า มีสารไมทราไจนีนสูงกว่าทางมาเลเซีย

การปลดล็อคกระท่อม ทำให้งานวิจัยเกิดได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องขออนุญาตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  แต่ต้องขออนุญาตตอนทำเป็นผลิตภัณฑ์ ต่อไปคงมีงานวิจัยเกี่ยวกับใบกระท่อมเยอะขึ้น" อาจารย์สมชาย กล่าวและให้ความรู้เพิ่มเติมว่า

"กัญชากินแล้วทำให้อยากกินอาหาร กระท่อมกินแล้วไม่อยากอาหาร จะทำให้คนทำงานได้มากขึ้น คนกรีดยางจะกินใบกระท่อม ทำให้ขยัน กรีดยางได้นานขึ้น เพราะมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ

ต้องไม่ลืมว่า กระท่อมเคยเป็นยาเสพติด มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ความรุนแรงของกระท่อมเทียบกับกัญชา และมอร์ฟีน มีผลต่อร่างกายน้อยกว่า แต่ก็ต้องจำกัดปริมาณ"

ปกติแพทย์พื้นบ้านใช้ใบกระท่อมรักษาเบาหวาน แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ยืนยันชัดเจน อาจารย์สมชาย เล่าถึงงานวิจัยที่ทำร่วมกับทีมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่า มีการทดลองใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน  

"เนื่องจากคนป่วยเป็นเบาหวาน น้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์ไปสร้างพลังงาน แต่อยู่ในกระแสเลือด แล้วจะทำยังไงให้น้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เราก็ใช้สมุนไพรตวนี้นำส่งกลูโคสเข้าสู่เซลล์

จากการเก็บสถิติตัวเลข ยังต้องวิจัยเพิ่มเติม แม้ที่ผ่านมาแพทย์พื้นบ้านจะบอกว่ากระท่อมใช้รักษาเบาหวานได้จริงๆ แต่ผมยังไม่ยืนยัน ในทางวิทยาศาสตร์ต้องหาคำตอบ เพียงแต่มีแนวโน้มสามารถรักษาได้ อาสาสมัครที่ใช้ใบกระท่อมก็เล่าว่า ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลง"

เหล่านี้คือ อีกก้าวของการพัฒนาพืชกระท่อมเป็นยารักษาโรคชนิดแรกในเมืองไทย ซึ่งไม่รวมยาในกลุ่มแพทย์พื้นบ้าน และคงต้องรออีกหลายปีกว่าจะได้ใช้ยากลุ่มนี้ และถ้าเมื่อไรผลิตออกมาเป็นยา จะสามารถทดแทนยาที่นำเข้าจากต่างประเทศได้มหาศาล