เช็ค! 5 ข้อสังเกตตนเอง เสี่ยงรู้สึกสิ้นหวัง
กรมสุขภาพจิต ชูแคมเปญ “See You Tomorrow แล้วเจอกันวันพรุ่งนี้” แนะ 5 ข้อสังเกตตนเองมีความเสี่ยงในการรู้สึกสิ้นหวังหรือไม่ เนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกประจำปี 2564 เน้นทุกคนร่วมมือกันสร้างและส่งต่อความหวัง เพื่อลดความสูญเสียด้านสุขภาพจิต
วันนี้ (9 กันยายน 2564) กรมสุขภาพจิต เดินหน้ารณรงค์ประชาสัมพันธ์ด้านสุขภาพจิตเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกประจำปี 2564 หรือ World Suicide Prevention Day 2021 โดยผลักดันแคมเปญ “See You Tomorrow แล้วเจอกันวันพรุ่งนี้” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของความหวังและพลังใจในการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ สามารถสร้างความหวังจาก สิ่งเล็กๆ น้อยรอบตัวและส่งต่อให้คนรอบข้างเพื่อพบกันในวันพรุ่งนี้ด้วยสุขภาพจิตที่ดีและลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย พร้อมกิจกรรมแถลงข่าวการเสวนาออนไลน์ และกิจกรรมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศอีกมากมายตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน เป็นต้นไป
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกประจำปี 2564 หรือ World Suicide Prevention Day 2021 ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายนของทุกปี กรมสุขภาพจิตได้ผลักดันและรณรงค์เพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีเพื่อลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตายในประเทศไทย โดยในปีนี้เป็นปีที่ประชาชนต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมหาศาลหลายคนรู้สึกหมดหวังและท้อแท้จากสถานการณ์ที่ต่อเนื่องยาวนานเกิดภาวะเหนื่อยล้าจากโรคระบาดและปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก กรมสุขภาพจิตเล็งเห็นว่า การที่ทุกคนในสังคมสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความหวังและพลังใจ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการฝ่าฟันวิกฤตในครั้งนี้
กรมสุขภาพจิตจึงผลักดันแคมเปญ “See You Tomorrow แล้วเจอกันวันพรุ่งนี้” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงการสังเกตตนเองว่ามีความเสี่ยงในการรู้สึกสิ้นหวังหรือไม่ โดยสามารถสังเกตได้จาก
1. ความคิดและความรู้สึกที่สุดขั้ว เช่น รู้สึกไร้ทางออกโดยสมบูรณ์ รู้สึกผิดอย่างไม่สามารถให้อภัยได้ หรือโกรธเกลียดอย่างรุนแรง ซึ่งความคิดและความรู้สึกเช่นนี้เป็นปัจจัยนำไปสู่การสิ้นหวังหรือหมดใจได้ง่าย
2. รู้สึกยอมแพ้ไปหมด เชื่อมั่นว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว อาจบ่นและตำหนิมากขึ้นแต่ขาดแรงที่จะเดินเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น
3. แยกตัวจากสังคม ซึ่งยิ่งแยกตัวมากเท่าไหร่ ก็จะทำให้ตัวเราเองนั้นจมอยู่กับความเชื่อและความสิ้นหวังของตนเองมากขึ้น การตัดขาดจากสังคมจะนำไปสู่ความวิตกกังวลและอาการซึมเศร้าที่มากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกสิ้นหวังมากขึ้นตามไปด้วย
ซึ่งหากเราหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้ อาจนำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียด้านสุขภาพจิตและการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด
การสร้างความหวังและพลังใจในสถานการณ์ที่ยากลำบากและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ทุกคนมีศักยภาพในการสร้างความหวังให้ตนเองและส่งต่อให้คนอื่นได้ โดยมีแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้ดังนี้
1. สำรวจความคิดและอารมณ์ของตนเอง โดยหากมีลักษณะสิ้นหวังหรือสุดขั้ว ให้ลองพยายามปรับมุมมองและพยายามควบคุมความคิดและอารมณ์ให้คงที่เท่าที่จะทำได้
2. จัดการในสิ่งที่พอจัดการได้ โดยเริ่มแบ่งสัดส่วนของปัญหาต่าง ๆ โดยเริ่มจัดการเรื่องเล็กน้อยที่พอทำได้ก่อน แล้วจึงขยับไปจัดการเรื่องที่ใหญ่ขึ้น โดยพักเรื่องที่จัดการไม่ได้เอาไว้ก่อน
3. เชื่อมต่อกับคนรอบข้าง โดยเน้นการเปิดใจ พูดคุยกับคนในครอบครัว หรือคนที่สนิทและพร้อมที่จะรับฟัง
4. หาตัวอย่างของความหวัง โดยอาจหาได้จากสื่อต่าง ๆ หรือจากเรื่องราวจากคนรอบข้างที่ผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ในอดีต เพื่อให้เชื่อมั่นว่าเราสามารถเติบโตจากวิกฤตได้
5. ช่วยสร้างความหวังให้ผู้อื่น โดยผ่านการทำงานจิตอาสาหรือช่วยเหลือคนที่กำลังยากลำบาก จะทำให้เกิดมุมมองต่อความหวังที่ดีขึ้น
โดยกิจกรรมในวันที่ 10 กันยายน หรือวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลกประจำปี 2564 จะประกอบด้วย ในช่วง 11.00 – 12.00 น. เป็นกิจกรรมเสวนาและแถลงข่าวเนื่องในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก โดยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ผู้แทนสื่อมวลชน และผู้แทนภาคประชาชน จากนั้นในช่วง 18.00 – 19.00 น. จะมีการเสวนาออนไลน์ผ่านทาง TikTok ร่วมกับ KOLs ในหัวข้อ “See You Tomorrow แล้วเจอกันวันพรุ่งนี้” และปิดท้ายด้วยการเสวนาออนไลน์ผ่านทาง Twitter Spaces ร่วมกับสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “Creating Hope Through Action รวมพลังสร้างความหวัง” ในเวลา 19.00 – 20.00 น. ทั้งนี้ท่านที่สนใจสามารถติดตามรับชมกิจกรรมดังกล่าวผ่านทาง Facebook, TikTok และ Twitter ของกรมสุขภาพจิต ได้อีกด้วย