"สมอง" บกพร่องมากแค่ไหน ถึงจะเป็น "อัลไซเมอร์"
เรื่อง"อัลไซเมอร์" ได้ยินได้อ่านมาก็เยอะ...แล้วรู้ไหมว่า ภาวะความรู้คิดบกพร่องแค่ไหน อยู่ในขั้นสมองเสื่อมแล้ว ขั้นไหนรักษาได้ และขั้นไหนรักษาไม่ได้
ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสูงอายุภายในประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพต่างๆ
หนึ่งในนั้น คือภาวะสมองเสื่อม ซึ่งโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด และพบได้ทั่วโลก
ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย( Mild Cognitive Impairment หรือMCI) เป็นสัญญาณเตือนหรือสัญญาณเริ่มต้นที่อยู่ระหว่างภาวะความสามารถของสมองถดถอยปกติตามวัย (normal aging) กับ ภาวะสมองเสื่อม (dementia)
ภาวะดังกล่าวเป็นเสมือนสัญญาณเตือนก่อนเกิดโรคอัลไซเมอร์ และมีประมาณ 15% อาจกลายเป็นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
ลองเช็คดูว่า สมองด้านไหนบกพร่องแล้ว
ในภาวะ MCI นั้นพบว่าการทำงานของสมองจะบกพร่องลงอย่างน้อย 1 ด้าน จาก 6 ด้านดังนี้
1 สมาธิจดจ่อน้อยลง ส่งผลให้เผลอลืมกิจกรรมที่ต้องการจะทำ หรือกำลังทำอยู่ เช่น ต้มน้ำเอาไว้บนเตาแล้วลืม วางกุญแจไว้แล้วหาไม่พบ เป็นต้น
2 ความไวในการใช้ความคิดลดลง การตัดสินใจช้าลง รวมถึงการคิดแก้ปัญหาที่ซับซ้อนต่างๆ ทำได้ยากขึ้น เป็นต้น
3 ความจำแย่ลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น เมื่อมีญาติมาเยี่ยมที่บ้าน วันต่อมาจำไม่ได้ว่ามีคนมาเยี่ยม หรือมีการพูดคุยกับใคร หรือพูดคุยเรื่องอะไรกัน เป็นต้น
4 ปัญหาเรื่องการใช้ภาษา เช่น เลือกใช้คำไม่ถูก พูดไม่รู้เรื่อง หรือฟังไม่เข้าใจ เป็นต้น
5 สูญเสียการจดจำทิศทาง ทำให้หลงทาง หรือสูญเสียทักษะในการทำงาน เช่น ไม่สามารถใช้เครื่องมือต่างๆที่เคยใช้ได้ เป็นต้น
6 ความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่น แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกมาในสังคม มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง ไม่สนใจที่จะเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง หรือมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า และมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เป็นต้น
ภาวะสมองเสื่อมแค่ไหนอันตราย
โดยสัญญาณเตือนของภาวะ MCI ในช่วงแรกอาจดูไม่แตกต่างจากอาการที่พบในผู้สูงอายุปกติทั่วไป แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป จะสังเกตได้ว่าผู้สูงอายุปกติ อาการเหล่านี้จะยังค่อนข้างคงที่
ส่วนผู้ที่มีภาวะ MCI อาการเหล่านี้อาจเลวลง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ MCI ยังคงมีสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันต่างๆได้
ในขณะที่ผู้ที่เข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมแล้ว อาการต่างๆ จะรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน จนผู้ป่วยอาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้
ซึ่งการวินิจฉัยภาวะ MCI และภาวะสมองเสื่อมนี้จำเป็นต้องได้รับการตรวจทางการแพทย์และจะต้องใช้การทดสอบทางจิตวิทยาคลินิกโดยผู้เชี่ยวชาญ
ในประเทศไทย ภาคกลางมีรายงานความชุกของภาวะ MCI อยู่ระหว่าง 16.7-43.5% ในขณะที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สูงถึง 71.4% และ 64.3% ตามลำดับ
โดยตัวเลขที่แตกต่างกันนี้อาจเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการศึกษาซึ่งประชากรในภาคกลางอาจจะเข้าถึงการศึกษาได้มากกว่าประชากรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้จากผลการวิจัยพบว่า ภายใน 1 ปี ผู้ที่มีภาวะ MCI ประมาณ 10 – 15% จะมีการดำเนินโรคที่รุนแรงขึ้น จนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ MCI มีได้หลายอย่างแต่พบสรุปได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆคือ
1.สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกายต่างๆซึ่งอาจรักษาหรือป้องกันได้
2.สาเหตุที่เกิดจากโรคเสื่อมของเซลล์สมอง ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ยังไม่อาจรักษาได้แต่ก็อาจจะมีวิธีการชะลอการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคได้ในระดับหนึ่ง
อัลไซเมอร์ รักษาไม่ได้
ภาวะ MCI ที่เกิดจากโรคเสื่อมของเซลล์สมอง ซึ่งยังไม่อาจรักษาได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ แต่ก็มีวิธีการที่อาจชะลอการเกิดหรือลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง
โดยการรักษาป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เกิดการเสื่อมของเซลล์สมอง เช่นการควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง งดการดื่มสุรา สิ่งเสพติดต่างๆ หรือการสูบบุหรี่ เป็นต้น
นอกจากนี้โรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันได้มีการค้นคว้าวิจัยซึ่งจะนำไปสู่การรักษาโรคนี้ได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งการรักษาดังกล่าวจำเป็นจะต้องทำการรักษาโรคนี้ในระยะเริ่มต้นหรือในระยะที่ยังอยู่ในภาวะ MCI ดังนั้นจะเห็นว่าการวินิจฉัยและการหาสาเหตุของภาวะ MCI จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์กัมมันต์ พันธุมจินดา นายกสมาคมโรคสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย และศาสตราจารย์กิตติคุณประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการดูแลทั่วไปในผู้ที่มีภาวะ MCI ว่า
"ถ้าจะลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดการเสื่อมของเซลล์สมอง ต้องหมั่นออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการฝึกสมอง การดูแลด้านโภชนาการให้ได้สารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน ตลอดจนการพักผ่อนหย่อนใจอย่างเพียงพอและการเข้าสังคมที่เหมาะสมกับวัย”
ในด้านโภชนาการ มีผลงานวิจัยที่พบว่า การบริโภคอาหารประเภทเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีน้ำมันมะกอก พืชวงศ์ถั่ว ผัก ผลไม้ และปลา เป็นส่วนประกอบ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MCI ได้
ในปัจจุบันได้มีการวิจัยคิดค้นอาหารทางการแพทย์ที่มีกลุ่มสารอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการทำงานของจุดเชื่อมต่อประสาท
และการวิจัยเกี่ยวกับยาต่างๆ ที่อาจนำมาใช้ในการรักษาอาการในภาวะ MCI ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับภาวะ MCI