เช็คอาการ "มะเร็งสมอง" แค่ไหนที่ต้องระวัง
เช็คสัญญาณเตือน "โรคมะเร็งสมอง" ภัยร้ายที่คร่าชีวิต "อ๊อด คีรีบูน" มีวิธีการสังเกตอาการเบื้องต้น และแนวทางการป้องกันอย่างไร รวมถึงทำความรู้จัก "โรคเนื้องอกในสมอง" ที่นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งสมองได้
จากข่าวร้ายกรณีการสูญเสีย "รณชัย ถมยาปริวัฒน์" หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อ๊อด คีรีบูน" เป็นนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลงชาวไทย อดีตนักร้องนำและหัวหน้า "วงคีรีบูน" ได้เสียชีวิตลงด้วยวัย 57 ปี จาก "โรคมะเร็งสมอง" ทำให้เพื่อนร่วมวงการและแฟนเพลงต่างแสดงความไว้อาลัยกับจากไปของตำนานนักร้องชื่อดัง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความรู้จัก "โรคมะเร็งสมอง" รวมถึง "โรคเนื้องอกในสมอง" เพื่อเป็นแนวทางในการสังเกตอาการและการดูแล ป้องกันภัยร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองได้
มะเร็งสมองเกิดจากอะไร
มะเร็งสมอง (Brain Cancer) คือ โรคที่เกิดจากเนื้องอกบริเวณสมองที่กลายเป็นเนื้อร้าย เซลล์มะเร็งจะอาศัยเลือดและสารอาหารจากร่างกายไปหล่อเลี้ยงเนื้อร้ายให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเนื้อร้ายอาจเกิดขึ้นเองที่เนื้อเยื่อสมอง หรือเกิดจากการลุกลามของมะเร็งที่มาจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ปอด เต้านม ไต ลำไส้ใหญ่ หรือผิวหนัง เป็นต้น
โรคมะเร็งสมองสามารถแพร่กระจายและทำลายเนื้อเยื่อที่ดีในบริเวณรอบข้างได้ทำให้มีโอกาสที่มะเร็งสมองจะกลับมาได้อีกถึงแม้เคยผ่านการรักษามาแล้วก็ตาม
สัญญาณเตือน มะเร็งสมอง
อาการของโรคมะเร็งสมอง จะขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่พบของเนื้องอก ซึ่งอาการที่พบอาจมีสาเหตุหรือมีผลข้างเคียงมาจากความผิดปกติอย่างอื่นที่เป็น “สัญญาณเตือน” อาทิ
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงในตอนเช้า
- คลื่นไส้ อาเจียน
- เป็นลมหมดสติ
- ซึมลง มีอาการชัก
- อ่อนแรงและชาบริเวณแขนและขา
- กล้ามเนื้อกระตุก มีปัญหาการทรงตัวหรือเดินลำบาก
- มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ
- มีปัญหาในการพูดและการมองเห็น
- มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
ความเสี่ยงของมะเร็งสมอง
สิ่งใดบ้างที่เป็น ปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่มะเร็งสมอง
- การสูบบุหรี่
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคมะเร็ง
- เคยเป็นโรคมะเร็งในส่วนอื่น ๆ ของร่างกายที่สามารถแพร่กระจายมายังสมองได้ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma)
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
- การสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี รวมไปถึงยากำจัดศัตรูพืชที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
- การทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น พลาสติก ตะกั่ว ยาง น้ำมัน รวมถึงสิ่งทอบางชนิด
สัญญาณอันตรายอื่น ๆ ที่อาจเป็นมะเร็งสมอง
หากพบอาการร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- อาเจียนบ่อยและไม่สามารถอธิบายสาเหตุของการอาเจียนนั้นได้
- มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด โดยเฉพาะที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง
- ง่วงซึม หรือง่วงนอนอย่างผิดปกติ
- ปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
หากมีอาการหรือความเสี่ยงเหล่านี้ แพทย์มักแนะนำตรวจ MRI Brain (ตรวจสมอง) เพราะสามารถตรวจดูเนื้อสมอง ก้อนต่าง ๆ รวมไปถึงการแพร่กระจายของมะเร็งได้เป็นอย่างดีทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
นอกจากมะเร็งสมองแล้ว เนื้องอกในสมองก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังและสังเกตอาการตนเอง เพราะอาจนำไปสู่โรคมะเร็งสมองได้เช่นกัน
เนื้องอกในสมองคืออะไร
เนื้องอกในสมองเป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กเล็กๆ วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเอง แต่อาจมีผู้ป่วยบางรายที่พบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็น ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมองจะทำให้มีญาติพี่น้องเป็นโรคทุกคน ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น การเป็นมะเร็งที่ส่วนอื่นของร่างกายซึ่งมีโอกาสกระจายไปที่สมอง
ประเภทของเนื้องอกในสมอง
โดยทั่วไป เนื้องอกในสมองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- เนื้องอกของเซลล์ที่อยู่ที่สมองเอง ซึ่งจะแบ่งออกเป็นชนิดที่เป็นเนื้อร้ายกับชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้าย โดยส่วนใหญ่มักพบชนิดที่ไม่ใช่เนื้อร้ายมากกว่า
- เนื้องอกที่กระจายมาจากส่วนอื่นของร่างกายและลุกลามมาที่สมอง
อาการของเนื้องอกในสมอง
อาการของโรคเนื้องอกในสมองมีหลายรูปแบบ แต่อาการที่พบได้เป็นส่วนใหญ่และควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- อาการปวดศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งโดยทั่วไปผู้ป่วยโรคทางสมองประมาณ 60-70% จะมีอาการปวดศีรษะอยู่แล้ว แต่สำหรับโรคเนื้องอกในสมองจะมีอาการเฉพาะเจาะจง เช่น
- อาการปวดศีรษะติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพอสมควร อาจจะหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน และมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- อาการปวดศีรษะตอนกลางคืน จนอาจทำให้ต้องตื่นขึ้นมากลางดึก
- อาการอ่อนแรงของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือมีการทำงานของเส้นประสาทบางเส้นอ่อนแรงไป ส่วนใหญ่อาการนี้มักค่อยเป็นค่อยไป และจะมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลา เช่น แขนอ่อนแรง อาจเริ่มจากอ่อนแรงเล็กน้อย เมื่อเวลาผ่านไปก็อ่อนแรงมากขึ้น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหน้าเบี้ยวหรือหูไม่ได้ยินได้
- อาการที่เกิดจากมีการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท เช่น อาการกระตุก ชัก โดยเฉพาะอาการชักเฉพาะที่ เช่น ชักเฉพาะแขน หรือชักเฉพาะขา หรือมีหน้ากระตุกอย่างเดียว เป็นต้น หรืออาการชักในผู้สูงอายุที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน ก็อาจมีสาเหตุจากเนื้องอกได้เช่นกัน
วิธีวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง
สำหรับการวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง นอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจสมองโดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เห็นภาพในสมอง ช่วยให้แพทย์สามารถบอกชนิดของเนื้องอกหรือคาดการณ์ได้มากขึ้นว่าเนื้องอกนั้นน่าจะเป็นอะไร รวมถึงช่วยวางแผนในการรักษาได้ด้วย
การรักษาเนื้องอกในสมอง
ปัจจุบัน แนวทางการรักษาเนื้องอกในสมองมีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเลือกแนวทางการรักษาโดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ อาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก
หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ได้ทำให้เกิดอาการและมีขนาดเล็กมาก อยู่ในตำแหน่งของสมองที่ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียการทำงานของร่างกาย อาจเพียงแค่ติดตามอาการเพื่อดูว่ามีการขยายตัวของเนื้องอกเพิ่มขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจึงค่อยทำการรักษา
แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่พอสมควรและทำให้เกิดอาการ เช่น อ่อนแรงหรือปวดศีรษะมาก ก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนเนื้องอกออกไป ในกรณีที่ผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว พบว่าเป็นเนื้อร้ายก็อาจต้องทำการฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
----------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์