“Youth Wellness” สร้าง “เด็ก” ให้เด็ดทั้งกายและใจ
สร้าง “เด็ก” ให้ร่างกายแข็งแรง และหัวใจแข็งแกร่ง ด้วยหลักการ “Youth Wellness” เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีคุณภาพและมีความสุข
เด็ก วัยเรียนเป็นวัยแห่งการเตรียมพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ถ้าเด็กได้รับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทุกๆ ด้าน ก็จะปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างราบรื่น
การสร้าง Youth Wellness ทำให้ เด็ก ในวัยนี้มีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่เข้าโรงเรียน ช่วงอายุของเด็กในวัยเรียน 6-12 ปีนั้น ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆ ทางด้านสติปัญญา
Youth Wellness พัฒนากาย-ใจ
อาจารย์ ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และเป็นนักกิจกรรมบำบัดเด็ก ให้ข้อมูลเรื่องการสร้าง Youth Wellness ในงาน STAGE Open house: Youth wellness ซึ่งจัดโดย STAGE Find The Real U คลับด้านสุขภาพครบวงจรว่า เด็ก ในช่วงวัย 6-12 ปี แม้จะเจริญเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าช่วงวัยเด็กตอนต้น แต่มีพัฒนาการด้านทักษะร่างกายต่างๆ ที่ดีมาก
โดยเด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-3.5 กิโลกรัม ต่อปี ส่วนสูงเพิ่มขึ้น 6-7 เซนติเมตรต่อปี รอบศีรษะเพิ่มขึ้น 2-3 เซนติเมตร ฟันน้ำนมเริ่มหลุดเมื่ออายุประมาณ 6 ปี การเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว การใช้สายตา และมือประสานกันทำกิจกรรมต่างๆ มีความคล่องแคล่ว แม่นยำมากขึ้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทางเพศ โดยเฉพาะเพศหญิงอาจมีการเข้าสู่วัยสาวที่อายุ 7-8 ปี
ในแง่การเรียนรู้ เด็ก วัยนี้มีความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ของตนเอง และของคนรอบข้าง ชอบ ซักถาม ชอบแข่งขันและแสดงออก เพื่อให้ได้รับความสนใจและยอมรับจากครอบครัว เพื่อน และครู
“เด็กจะอ่อนไหวกับความรู้สึกสำเร็จหรือล้มเหลวเมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีความสำเร็จ เด็กจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความมุมานะพยายามที่จะเรียนต่อไป นำไปสู่การมีบุคลิกที่มั่นคง สร้าง สัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดีในทางตรงกันข้าม หากเด็กรู้สึกล้มเหลว ไม่มีความสามารถเด็กจะท้อแท้และ รู้สึกด้อย มีผลต่อภาพลกัษณ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในภายหลัง
ในด้านสังคม เด็กจะอยู่กับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันและเพศเดียวกัน มีการกำหนดบทบาททางเพศ หรือแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน (gender identity) เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เรียนรู้มารยาททางสังคม รู้จักกฎ กติกา การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง ทำให้ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดีขึ้น”
Youth Wellness พัฒนาทักษะ-การเรียนรู้
นักกิจกรรมบำบัดเด็ก อธิบายว่าเด็กอายุ 6-10 ปี จะคิดอย่างใช้เหตุผลเชิงรูปธรรม (concrete operation) เช่น ความเข้าใจเรื่องความคงอยู่ (conservation) ของน้ำหนัก ปริมาตร และมวลสาร ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างไร ความเข้าใจเรื่องเวลา การจัดหมวดหมู่ คิดเลขในใจได้ วาดรูปสามมิติง่ายๆ ได้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจริงโดยใช้การสังเกต ทดลอง
เด็ก วัยนี้เล่นและทำกิจกรรมกลุ่มแบบร่วมมือกันโดยเข้าใจบทบาทของแต่ละคนรู้จักการอดทนรอคอย ประนีประนอม และการต่อรอง มีทักษะการบริหารจัดการ (Executive function: EF) ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้ควบคุมตนเอง ยืดหยุ่นทางความคิด และวางแผนจัดการต่างๆ ได้ดีขึ้น
“ด้านภาษา เด็กวัยนี้จะพูดได้ชัด เข้าใจความหมายของคำและเลือกใช้คำอย่าง ถูกต้องมากขึ้น เข้าใจประโยคที่ซับซ้อนรวมทั้งความหมายของโคลงกลอน อ่านจับใจความ อ่านในใจได้และวิเคราะห์เรื่องราวที่ได้อ่านหรือฟังมา พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล แสดงความคิดเห็นได้ชัดเจน เชื่อมโยงเหตุผลได้ดี พูดคุยสื่อสารได้เหมือนผู้ใหญ่”
ค้นศักยภาพเด็กด้วย Youth Wellness
การทำความเข้าใจ เด็ก ในแบบที่เขาเป็น คือหัวใจสำคัญของการเลี้ยงเด็ก
พรสวรรรค์หรือความสามารถพิเศษของเด็กมีได้หลายด้านที่ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีมุมอื่นๆ ที่ ดร.กันนิกา บอกว่าให้สังเกต เช่น ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ ด้านภาษา เป็นต้น แล้วผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกันอย่างใจเย็นและไม่กดดัน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ จะมีส่วนช่วยให้ลูกได้ค้นพบความถนัดของตัวเองเมื่อถึงเวลา ในแบบของตัวเอง
“ตัวช่วยในการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของเด็กได้ โดยอาศัยทั้งวิธีการสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำตามปกติและการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป เพราะโดยปกติแล้วเด็กจะมีความสามารถครอบคลุมในหลายด้านแต่มีมากน้อยลดหลั่นกันไป การค้นหาและพัฒนาศักยภาพจึงจำเป็นต้องให้เวลาและโอกาสกับเด็กได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจและโดดเด่นเป็นพิเศษอย่างแท้จริง”
เทคนิคง่ายๆ สร้าง Youth Wellness รอบด้าน
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรคำนึงถึงหลักการและแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
(1) เลือกรูปแบบกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถภาพทางกาย ควรยึดแนวคิfที่ว่า “การฝึกที่ถูกต้องจะช่วยให้การปฏิบัติกิจกรรมสามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และได้รับประโยชน์สูงสุด”
(2) ความแตกต่างระหว่างเพศ เพศหญิงและเพศชายมีความแตกต่างกันตามธรรมชาติ ทั้งในด้านการเจริญเติบโต รูปร่าง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความคล่องแคล่วว่องไว ดังนั้นในการเลือกกิจกรรมที่นำมาใช้ในการฝึกต้องให้มีความเหมาะสม
(3) วัย ในแต่ละช่วงวัยมีความเหมาะสมกับรูปแบบของกิจกรรมที่แตกต่างกัน เช่น ช่วงวัยเด็กควรมีช่วงของการสร้างเสริมระบบการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปให้มีประสิทธิภาพเป็นเบื้องต้น
(4) สภาพร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สภาพร่างกายของแต่ละคนมีความเหมาะสมกับกิจกรรมต่างกัน แม้ในคนคนเดียวกัน ในแต่ละช่วงเวลาก็อาจแตกต่างกันได้ เพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้นควรมีความพร้อมทางด้านจิตใจและอารมณ์ โดยทำจิตใจให้ปลอดโปล่ง อารมณ์ดี มีความสุขไปกับการปฏิบัติกิจกรรม
(5) ความปลอดภัย ไม่ว่าจะเลือกกิจกรรมใดๆ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ปฏิบัติในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้
(6) เวลาในการปฏิบัติกิจกรรมควรมีความเหมาะสม กิจกรรมที่จะนำมาใช้ฝึกควรคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมในการปฏิบัติกิจกรรมนั้นๆ ไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป
(7) ความสนใจและความถนัด การเลือกกิจกรรมที่ตนเองมีความสนใจ และมีความถนัดจะทำให้ผู้เลือกเกิดความพึงพอใจ สนุกสนาน มีความมั่นใจ และประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติกิจกรรมนั้นๆ เป็นอย่างดี
(8) เลือกปฏิบัติกิจกรรมในรูปแบบหลากหลาย ควรหมุนเวียนกันไป เพราะแต่ละกิจกรรมจะให้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป
(9) ลักษณะกิจกรรมที่เลือกนำมาใช้ปฏิบัติ ควรเริ่มจากกิจกรรมที่ออกแรงเบาก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณหรือเพิ่มระยะเวลาที่ใช้ในการปฏิบัติขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
“การส่งเสริมพัฒนาการในเด็กวัยนี้ควรให้ความสำคัญกับทุกด้าน ไม่ใช่การเน้นเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว ควรเน้นเรื่องร่างกาย เรียนรู้ทักษะชีวิต เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอย่างใจเย็นและไม่กดดัน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ” นักกิจกรรมบำบัดเด็กฝากไว้