“นอนไม่หลับ” นานๆ อันตรายต่อร่างกายและจิตใจ กรมการแพทย์เตือน ควรไปพบแพทย์

“นอนไม่หลับ” นานๆ อันตรายต่อร่างกายและจิตใจ กรมการแพทย์เตือน ควรไปพบแพทย์

การนอนหลับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต หากนอนไม่หลับเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ร่างกายเจ็บป่วย ส่งผลกระทบกับอวัยวะทำให้เกิดโรคต่างๆ อีกทั้งยังทำให้สุขภาพจิตไม่ดี ในเรื่องนี้ แพทย์มีคำตอบ

การนอนหลับ เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ เพราะเป็นเวลาที่ร่างกายได้หยุดพัก ฟื้นฟูดูแลร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ จัดระบบให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด

กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก มองเห็นว่า ปัญหาการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

การนอนหลับสำคัญอย่างไร

นายแพทย์วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การนอนหลับที่ดีจะทำให้สุขภาพดี

“การนอนหลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญของการดำรงชีวิต หากเรานอนหลับพักผ่อนได้ดีและเพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง สดชื่นแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย

แต่ในบางคนที่พบว่าตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับการ นอนไม่หลับ เช่น นอนหลับได้ยากนอนหลับไม่สนิท ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น และง่วงนอนในเวลากลางวัน

หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคตได้ โรคนอนไม่หลับสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ

ส่วนมากมักจะเกิดในผู้หญิงและผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และเกิดได้จากหลายปัจจัย จึงแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง”

อะไรทำให้นอนไม่หลับ

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับมีมากมาย

“โรคนอนไม่หลับเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ลักษณะของบุคคล นอนหลับไม่ลึก  หูไว ตื่นง่ายหรือมีความวิตกกังวลง่าย

มีปัจจัยกระตุ้น เช่น การเปลี่ยนงาน การเสียชีวิตของคนที่รัก การหย่าร้าง พฤติกรรมของผู้ป่วย อย่าง การนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานานๆ การดื่มกาแฟช่วงเวลาเย็นหรือก่อนนอน นอนกลางวันหลังบ่ายสามโมง  เป็นต้น

โดยผู้ป่วยสามารถสังเกตอาการของการนอนหลับได้ เช่น นอนหลับได้ยาก นอนหลับไม่ต่อเนื่อง นอนหลับไม่สนิท ตื่นเร็วกว่าเวลาที่ควรจะตื่น

รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง สมาธิลดลง ความสนใจและความจำลดลง อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดง่าย และเกิดอาการง่วงนอนตอนกลางวัน อาการเหล่านี้อาจบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ

ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่าและยังสามารถเพิ่มโอกาสการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด

ภาวะหัวใจวาย ความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน และอาจเพิ่มอัตราการเสียชีวิต นอกจากนี้โรคนอนไม่หลับเรื้อรังยังเพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถและอุบัติเหตุจากการทำงานได้”

จะแก้ไขได้อย่างไร

นายแพทย์เอนกกล่าวว่า ทางออกของปัญหานี้ก็คือ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ ให้ช่วยรักษา

“การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ หากพบว่ามีอาการนอนไม่หลับหรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนหลับ

เพื่อตรวจหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายและลดการอุบัติเหตุอันตรายต่างๆ ได้อีกด้วย”