"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง” ทางเลือกก่อนแพ้ยา

"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง” ทางเลือกก่อนแพ้ยา

การ "ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง" เพื่อป้องกัน "โควิด" น่าจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับคนมีโรคประจำตัวหรือแพ้ยา เพราะปริมาณที่ฉีด และผลข้างเคียงน้อยกว่าการ "ฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ" แต่โรงพยาบาลที่เปิดบริการเรื่องนี้ยังมีอยู่น้อย

คนจำนวนไม่น้อยไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เนื่องจากเกรงว่า จะแพ้วัคซีน ป่วยและเสียชีวิต

ทั้งๆ ที่โดยรวมแล้วผลข้างเคียงที่ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมีจำนวนน้อยมาก แต่คนจำนวนหนึ่งก็เกิดความไม่เชื่อมั่นในการฉีดวัคซีน เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงไม่เหมือนกัน 

อาการไม่พึ่งประสงค์จากการฉีดวัคซีน 

อาการไม่พึ่งประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด มีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ยกตัวอย่างอาการเฉพาะที่ ปวด บวม แดง คันและมีรอยช้ำ พบได้บ่อยภายหลังการฉีดวัคซีนไม่ว่าชนิดใด อาการเหล่านี้จะหายภายใน 1-3 วัน 

ส่วนอาการที่เกิดกับระบบทั่วร่างกาย อาทิ อ่อนล้า ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ บางรายมีอาการอาเจียน เป็นลม ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งอาการส่วนใหญ่เกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อวัคซีน 

อาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนชนิดใด ส่วนใหญ่เป็นการฉีดวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ จึงเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวได้มากกว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA

ส่วนอาการแพ้ยา เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการหลั่งสารสื่อบางชนิด ส่งผลให้ร่างกายแสดงอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นขึ้น ลมพิษ ริมฝีปากบวม ขอบตาบวม เยื่อเมือกทางเดินหายใจบวม หลอดลมหดตัว หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ 

และในวัคซีนชนิด  mRNA ที่มีส่วนผสมของสารโพลีเอทิลีนไกลคอลหรือพีอีจี (polyethylene glycol หรือ PEG) ซึ่งใช้เคลือบโมเลกุลของ  mRNA เพื่อพาเข้าสู่ภายในเซลล์ร่างกาย

\"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง” ทางเลือกก่อนแพ้ยา

สารชนิดนี้มีใช้ในวงการยา เครื่องสำอาง และอาหาร แต่เป็นสารใหม่ที่ใช้กับวัคซีน ผู้ที่แพ้สารพีอีจีแบบแอนาฟิแล็กซิส ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิด mRNA  

ทำนองเดียวกันกับวัคซีนชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ (วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า) จะมีสารโพลีซอร์เบต 80 (polysorbate 80 หรือที่บางคนคุ้นเคยกับชื่อการค้าว่า Tween 80) ผสมอยู่ จึงห้ามฉีดวัคซีนชนิดดังกล่าว 

ส่วนอาการที่พบได้น้อย แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ก็คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดร่วมกับมีเกล็ดเลือดต่ำ (thrombosis with thrombocytopenia syndrome) เกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ส่วนใหญ่เกิดภายใน 3 สัปดาห์หลังการฉีด 

นอกจากนี้ยังมีอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่เกี่ยวกับ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) พบได้น้อย ความผิดปกติเหล่านี้เกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน 

พบภายหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สองมากกว่าเข็มแรก และส่วนใหญ่เกิดภายใน 14 วันหลังจากฉีดวัคซีน ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจถี่ ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ

อย่างไรก็ตาม แม้การเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนจะมีรายงานเสนอในเบื้องต้น และยังไม่สามารถพิสูจน์สาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งการพิสูจน์จะใช้เวลานาน 

\"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง” ทางเลือกก่อนแพ้ยา

 การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง

น่าจะเป็นอีกทางเลือกในเรื่องความปลอดภัย เพราะใช้ในปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ใช้วัคซีนเพียง 10 ไมโครกรัม ต่างจากฉีดเข้ากล้ามเนื้อใช้ปริมาณ 100 ไมโครกรัม

แต่การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะมีผลข้างเคียง มีตุ่มนูนแดงที่ผิวหนัง 7-10 วันแล้วจะยุบไปเอง ส่วนผลการขึ้นภูมิคุ้มกันเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ  

“อีกทางเลือกหนึ่งคือ การรับวัคซีนในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือ การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal) ที่อาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงจากคณะแพทย์ใหญ่ได้ทดลองและยืนยันมาตลอดว่าได้ภูมิไม่น้อยกว่าการฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ (intramuscular)

แต่ผลข้างเคียงน้อยกว่าการฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อมาก จึงจะเป็นวิธีที่ลดความกลัวของประชาชนกลุ่มนี้ลงได้

เพราะวัคซีนบางชนิดใช้ปริมาณเพียงหนึ่งในสิบของการฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ ขณะนี้มีผู้ต้องการฉีดวัคซีนแบบ I.D.(intradermal) เป็นจำนวนมาก แต่ยังหาที่ฉีดไม่ได้” ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา เขียนในเฟซบุ๊ก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

\"ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง” ทางเลือกก่อนแพ้ยา

ทางเลือกการฉีดวัคซีน

หากถามว่า คนไทยทางเลือกในการฉีดวัคซีนแล้วปลอดภัยหรือไม่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลไว้ในเฟซบุ๊กว่า

 “การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ไม่ใช่ประหยัดอย่างเดียว แต่เพื่อความปลอดภัยสูงสุดด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ประหลาดมหัศจรรย์ ในการนำวัคซีนทุกประเภทมาใช้ในการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ทั้งนี้ประโยชน์ที่จะได้รับนั้นคือ การที่จะสามารถประหยัดวัคซีนลงได้มหาศาล โดยเฉพาะในเรื่องของวัคซีนโควิด” 

ที่ผ่านมาคุณหมอมีความพยายามให้ข้อมูลเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้โรงพยาบาลทั่วประเทศสร้างทางเลือกให้ประชาชนในการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังมากขึ้น

"ในเรื่องของความปลอดภัยและผลแทรกซ้อน การฉีดเข้าชั้นผิวหนังจะใช้ปริมาณน้อยมาก ดังนั้นการกระตุ้นทำให้เกิดผลแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจะน้อยกว่า ทั้งนี้ ทั้งนั้นยังสามารถอธิบายได้จากการที่ฉีดเข้าชั้นผิวหนังนั้น กลไกในการกระตุ้นภูมิจะแยกออกอีกสายที่เรียกว่าเป็น Th2 ในขณะที่การฉีดเข้ากล้ามการกระตุ้นจะเป็นสาย Th1

และสาย Th1 นี้เองที่เป็นขั้นตอนกระบวนการของโควิดที่ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ต่อจากเม็ดเลือดขาว นิวโตรฟิล (กระบวนการ NETS สุขภาพพรรษา กลไกที่ทำให้เกิดเสมหะเหนียวขุ่นคลั่กและพังผืด) และต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดมีลิ่มเลือดอุดตันหรือเนื้อเยื่อและอวัยวะอักเสบทั่วร่างกาย รวมกระทั่งถึงกล้ามเนื้อหัวใจและสมองอักเสบที่เราเรียกว่ามรสุมภูมิวิกฤติ (cytokine storm)"

"ต้องไม่ลืมว่าวัคซีนนั้นคือ ร่างจำลองของไวรัสโควิดนั่นเอง และส่วนที่วัคซีนทุกยี่ห้อนำมาใช้นั้นจะมีส่วนหรือชิ้นของไวรัสที่เกาะติดกับเซลล์มนุษย์ และเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดการอักเสบ จาก ACE2 รวมกระทั่งถึงการทำให้มีความเบี่ยงเบน ขาดสมดุลระหว่าง Th1 และTh2 โดยออกไปทาง Th1 และ ต่อด้วยอีกหลายสายย่อยรวมทั้ง 17 เป็นต้น....

การฉีดเข้าชั้นผิวหนังยังนำมาใช้ในทวีปแอฟริกา กับวัคซีนไข้เหลือง และยังรวมไปจนถึงวัคซีนสมองอักเสบ JE วัคซีนตับอักเสบบี และแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้อนุมัติจากองค์การอนามัยโลกและสหรัฐ ที่ใช้จนถึงปัจจุบันนี้ก็ใช้วิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังเช่นกัน"

นอกจากนี้คุณหมอยังตั้งคำถามในเฟซบุ๊กของเขาว่า มีผู้สงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมไม่เอาวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนังตั้งแต่ต้น

"คำถามนี้เป็นคำถามตั้งแต่ 37 ปีที่แล้ว และเราก็ได้ทราบคำตอบจากบริษัทวัคซีนหลายแห่งว่าเพราะขายได้น้อยลง แต่เราก็ช่วยอธิบายว่าถ้าสามารถใช้ได้ทั่วทุกคนจำนวนที่ขายแท้จริงแล้วก็ไม่ได้ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

คำถามที่ว่าการฉีดยุ่งยากแท้จริงแล้วเป็นการฉีดที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาลปฏิบัติกัน ด้วยความช่ำชองยกตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน บีซีจี ในเด็กแรกเกิด เป็นต้น และแม้แต่การฝึกการฉีดเพียง 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงก็ฉีดเป็น โดยใช้กระบอกฉีดยาที่ใช้ฉีดในคนเป็นเบาหวานและใช้เข็มขนาดเล็กมาก

โดยประโยชน์ที่ได้รับ และทำให้คนเข้าถึงได้ทุกคน เท่าเทียมกันในระยะเวลาอันรวดเร็ว อีกทั้งมีความปลอดภัยมากกว่า

ทั้งนี้จนกระทั่งถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 คณะทำงานประสานทีมต่างๆ ของเราอันประกอบไปด้วย อาจารย์หมอเขตต์ ศรีประทักษ์ สถาบันโรคทรวงอก อาจารย์หมอทยา กิติยากร โรงพยาบาลรามาธิบดี และอาจารย์ดอกเตอร์อนันต์ จงแก้ววัฒนา ไบโอเทค สวทช และหมอเองและคณะศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่คณะแพทยศาสตร์จุฬา

ได้ทำการทดสอบการฉีดเข้าชั้นผิวหนังไม่ต่ำกว่า 400 ราย ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงเป็นเฉพาะที่ตุ่มแดงหรือคันโดยผลข้างเคียงรุนแรงไข้ปวดหัว ปวดเมื่อย และอาการร้ายแรงอื่นๆ ไม่ปรากฏหรือน้อยมาก ซึ่งประสบการณ์การศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ก็ได้แสดงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในลักษณะเดียวกัน โดยผลข้างเคียงที่เกิดแก่ระบบทั่วร่างกาย ต่ำกว่าการฉีดเข้ากล้าม 10 เท่าหรือมากกว่า"

5 วิธีในการนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย

การนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย นอกจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อยังมีวิธีการอื่นๆ อีก

1. การกิน (oral route)

ใช้ในกรณีที่ต้องการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ โดยมากใช้กับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เช่น วัคซีนโปลิโอ วัคซีนไทฟอยด์ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันทั้งในลำไส้และกระแสเลือด

คงเคยได้ยินคำว่า หยอดวัคซีนโปลิโอให้เด็ก ถ้าเด็กพ่นออกมาหรืออาเจียนออกมาภายใน 5-10 นาที ก็จะรู้ว่ายาออกมาหมด สามารถหยอดซ้ำได้ แต่ถ้าเห็นว่ายาที่หยอดเข้าไปมีโอกาสดูดซึมผ่านเยื่อบุภายในช่องปากแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องหยอดซ้ำ

2.การพ่นทางจมูก 

เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในทางเดินหายใจได้ด้วย

3. การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal)

เป็นวิธีที่สามารถใช้กับการฉีดวัคซีนโควิด แต่ยังใช้น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

วิธีการนี้ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะกระตุ้นเซลล์ในผิวหนังและดูดซึมไปยังท่อน้ำเหลือง กระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดเซลล์เป็นสื่อได้ดี ใช้วัคซีนปริมาณน้อย การฉีดทำได้ยาก ต้องอาศัยความชำนาญ เคยใช้ฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค(วัคซีน BCG) วัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

4.การฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (subcutaneous route)

ใช้กับวัคซีนที่ไม่ต้องการให้ดูดซึมเร็วเกินไป อาจเกิดปฏิกิริยารุนแรง และเป็นวัคซีนที่ไม่มีสารดูดซับ (adjuvant) เช่น วัคซีนรวมหัด คางทูม และหัดเยอรมัน (MMR) วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) เป็นต้น

วิธีการนี้ฉีดผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อไขมัน( fatty tissue) อยู่ใต้ชั้นผิวหนัง และอยู่เหนือชั้นกล้ามเนื้อ

5.การฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ (intramuscular route)

บริเวณที่เหมาะสมสำหรับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อมีอยู่ 2 ที่คือ บริเวณต้นแขน (deltoid) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการดูดซึมตัวยาได้ดีที่สุด เพราะไขมันไม่มาก เลือดหล่อเลี้ยงดี และแขนมีการเคลื่อนไหวทำให้การดูดซึมยาได้ดี

วัคซีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ได้แก่ วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (DTP) วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) และวัคซีนพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

 ................

ที่มาข้อมูล : 

1.บทความ "ผลไม่พึงประสงค์ของวัคซีนโควิด-19 และการเฝ้าระวัง" เขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

2. "ช่องทางนำวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย" ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์