"ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3" ป้องกัน"โอมิครอน" ต้องเว้นระยะห่างกี่เดือน

"ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3" ป้องกัน"โอมิครอน" ต้องเว้นระยะห่างกี่เดือน

หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องเร่ง"ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3"การกลายพันธุ์ของ"โอมิครอน" ดื้อด้านแค่ไหน ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ประชาชนจึงมีคำถามมากมาย อาทิ "ฉีดวัคซีนเข็ม 3" ยี่ห้อไหนดี,เว้นระยะการฉีดกี่เดือน ฯลฯ เรื่องเหล่านี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสองคนช่วยกันตอบ

ในช่วงนี้(เดือนธันวาคม 64 )ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เริ่มระบาดมากขึ้น หลายประเทศเร่งให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

แต่หลายคนสงสัยว่า ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดสองเข็มแล้ว จะต้องเว้นระยะห่างจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 กี่เดือนถึงจะสร้างภูมิคุ้มกันได้ดี ,การฉีดวัคซีนไขว้แบบไหนดีที่สุด ,วัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 จำเป็นไหม และการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง เหมาะสมหรือไม่ ฯลฯ

คำถามเหล่านี้ คุณหมอต้องตอบซ้ำๆ ทุกวัน ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงจัดรายการให้ความรู้ประชาชนทางเฟซบุ๊ค ไขปัญหากับอายุรแพทย์ “ตอบทุกคำถามเรื่องวัคซีนโควิด 19 โดย ศ.นพ.ธีรพงษ์ ตัณฑวิเชียร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร อายุรแพทย์เวชพันธุศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทุกคำถามที่ประชาชนสงสัย มีคำตอบจากคุณหมอที่เชี่ยวชาญด้านนี้

อยากให้เล่าถึงโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนสักนิด

หมอมานพ : ก็สร้างความแตกตื่นไปทั่วโลก ข้อมูลเบื้องต้นสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ค่อนข้างเยอะ อาจทำนายได้ว่า ดื้อพอสมควร

คงต้องรอผลการศึกษา แต่ไม่ว่าสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า วิธีการวินิจฉัยก็ยังคล้ายๆ แบบเดิม วิธีการตรวจหาสายพันธุ์ที่ใช้อยู่ ก็ยังใช้ได้  

ส่วนการรักษา ถ้าดูตำแหน่งการกลายพันธุ์ก็น่าเป็นห่วง เยอะพอสมควร  คงต้องรอข้อมูลการทดสอบของบริษัทยา ส่วนยาที่ใช้รักษาอยู่ น่าจะยังใช้ได้ เพราะตอนนี้ข้อมูลเรื่องนี้ยังมีน้อย

\"ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3\" ป้องกัน\"โอมิครอน\" ต้องเว้นระยะห่างกี่เดือน

วัคซีนที่มีอยู่จะจัดการกับสายพันธุ์โอมิครอนได้ไหม

หมอธีรพงษ์ : การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส เรามีอู่ฮั่นเป็นสายพันธุ์แรก ต่อมาอัลฟา ในสหราชอาณาจักร,เบตา เจอที่แอฟริกาใต้ ,แกมมา และเดลตา ซึ่งการกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดไวรัส 

แม้วัคซีนที่มีอยู่จะสูญเสียความสามารถต้านการติดเชื้อ แต่ยังคงป้องกันการป่วยหนักนอนโรงพยาบาลได้

สายพันธุ์โอมิครอนตัวนี้คนกลัว เพราะเหมือนการเอาสายพันธุ์ที่เปลี่ยนทั้งหมดมารวมในตัวเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า ความสามารถในการต้านการติดเชื้อน่าจะลดลง

จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายประเทศเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ด้วยความหวังว่าจะทำให้ประชาชนมีภูมิต้านทานสูงไว้ก่อน เพื่อสู้กับไวรัสตัวนี้  

วัคซีนสูตรไขว้จะเอาอยู่ไหม

หมอมานพ : ที่ผ่านมาคนที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ไม่ต้องกังวล ฉีดก่อนได้เปรียบ ไม่ว่าสูตรไหน สิ่งสำคัญคือ ฉีดวัคซีนหรือยัง เพราะวัคซีนป้องกันความรุนแรงทำให้ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เพียงแต่วัคซีนแต่ละสูตร จะมีภูมิคุ้มกันได้แค่ไหน ต้องฉีดกระตุ้นเมื่อไร

\"ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3\" ป้องกัน\"โอมิครอน\" ต้องเว้นระยะห่างกี่เดือน

การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ถ้าเป็นไฟเซอร์กำหนดไว้ว่า ต้องเว้นระยะห่างสามสัปดาห์ โมเดอร์นาสี่สัปดาห์ ถ้าจะฉีดเร็วกว่าเดิมจะมีปัญหาไหม

หมอธีรพงษ์ : จากการศึกษากำหนดให้ห่างกันสี่สัปดาห์ แต่เรารู้ดีว่า วัคซีน mRNA เข็มแรกก็ออกฤทธิ์แล้ว หลังจากฉีดวัคซีน 7 วันก็มีภูมิคุ้มกันแล้วอย่างน้อย 3 เดือน

ถ้าต้องฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 3 สัปดาห์ ถือว่าไม่ค่อยดี เพราะการกระตุ้นภูมิคุ้มกันถี่เกินไป ถ้าต้องฉีดก็เป็นไปตามตารางที่กำหนด

วัคซีนโควิดเข็มแรกและเข็มสองควรไขว้แบบไหน

หมอมานพ : ที่มีหลักฐานยืนยัน การฉีดวัคซีนที่ดีที่สุด เข็มแรกและเข็มสองควรเป็นยี่ห้อเดียวกัน ถ้าเข็มแรกเป็นไฟเซอร์ เข็มสองก็ควรเป็นไฟเซอร์ แต่ถ้ามีข้อจำกัด หาเข็มสองยี่ห้อเดิมไม่ได้ ก็มีข้อมูลว่า การสลับยี่ห้อ จากไฟเซอร์มาเป็นโมเดอร์นาสามารถทำได้

ถ้าเป็นผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัว ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มแล้ว วัคซีนกระตุ้นเข็ม3  ควรเป็นยี่ห้ออะไร ห่างกันกี่เดือน

หมอมานพ : กลุ่มเสี่ยงสูงอายุและมีโรคร่วม ภูมิคุ้มกันจะตกเร็ว แอสตร้าเซนเนก้า เมื่อฉีดครบแล้ว ภูมิคุ้มกันขึ้นระดับหนึ่งไม่สูงมาก ถ้าฉีดเข็มกระตุ้นน่าจะเป็น mRNA คือไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา 

ส่วนระยะเวลาห่างระหว่างเข็ม 2 และ 3 ควรมีระยะ 6 เดือน ในอังกฤษประกาศให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภายใน 3 เดือน เพราะสายพันธุ์โอไมครอนมีโอกาสสูงในการระบาด อาจต้องเร่งฉีดให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น จึงฉีดเร็วขึ้น แต่มาตรฐานตอนนี้ภายใน 6 เดือน

หมอธีรพงษ์ : คนที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มแล้ว มีคำถามต่อว่า จะเว้นระยะ 3 หรือ 6 เดือน เพื่อฉีดเข็มกระตุ้น ก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกัน 

ซึ่งพบว่า แอสตร้าเซนเนก้าสองฉีด ฉีดไปแล้ว 4-5 เดือน ภูมิคุ้มกันตกลง 4-5 เท่า โดยเฉพาะคนสูงอายุ การป้องกันการติดเชื้อ มีอาการเป็นหวัด จึงป้องก้นได้น้อย แต่ยังสามารถป้องกันการป่วยรุนแรง

ก่อนหน้านี้ไม่แนะนำให้ประชาชนตรวจระดับภูมิคุ้มกัน ? 

หมอมานพ :  แม้จะรู้ว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง แต่ไม่มีจุดตัดว่า สูงแค่ไหนถึงจะพอ และภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ได้อยู่คงทน ฉีดไปสองสัปดาห์ภูมิคุ้มกันสูง ผ่านไปภูมิคุ้มกันก็ลดลงเรื่อยๆ แต่ยังป้องกันได้อยู่ 

อีกอย่างโควิดแต่ละสายพันธุ์ความดื้อต่อความภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน คำแนะนำโดยรวม ไม่สามารถนำข้อมูลระดับภูมิคุ้มกันมาตัดสิน จึงไม่แนะนำให้ประชาชนไปตรวจระดับภูมิคุ้มกัน

ถ้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์สองเข็มแล้ว เข็มกระตุ้นควรเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา ? 

หมอมานพ : ถ้าเพิ่งฉีดเข็มสองเร็วๆ นี้ไม่ต้องกลัว ต่อให้มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าจำเป็นต้องฉีดจะเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาก็ได้

\"ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม3\" ป้องกัน\"โอมิครอน\" ต้องเว้นระยะห่างกี่เดือน

การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ถ้าเป็นโมเดอร์นา ต้องฉีดครึ่งโด้สหรือหนึ่งโด้ส แบบไหนดีกว่า

หมอธีรพงษ์ : กรณีฉีดวัคซีน mRNA สองเข็มแล้ว วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จะฉีดครึ่งโด้สก็ได้ ถ้าฉีดแอสตร้าเซนเนก้าสองเข็มแล้ว ตามด้วยโมเดอร์นาครึ่งโด้สได้ 

แม้ผมยังไม่เห็นเรื่องนี้ ในอังกฤษมีรายงานรับรอง แต่ยังไม่ตีพิมพ์ผลงาน ส่วนการฉีดวัคซีนแบบเชื้อตายสองเข็มแล้วตามด้วยครึ่งโด้ส ยังไม่มีข้อมูล 

ถ้ายังไม่มีข้อมูลก็ฉีดเต็มโด้สไปก่อน ที่ผมกล้าพูดเพราะการทดสอบโมเดอร์นาครึ่งโด้สหรือหนึ่งโด้ส ผลข้างเคียงไม่ต่างกัน วัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้องระวังผลข้างเคียง คนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องน่าจะฉีดเต็มโด้ส ในเยอรมันคนอายุ 70 ปีฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 เต็มโด้ส

ถ้าฉีดซิโนฟาร์มหรือซิโนแวคสองเข็ม ตามด้วยวัคซีนเข็มสาม แอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ แล้วเข็มสี่ต้องเป็นอะไร

หมอมานพ : ประโยชน์การฉีดวัคซีนเข็ม 4 ก็เพื่อใช้รับรองในการเดินทางไปต่างประเทศ แต่ข้อมูลวิทยาศาสตร์ยังไม่มีการยืนยันว่า วัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 จำเป็น เพราะวัคซีนเข็มสามจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมากแล้ว และน่าจะมีภูมิคุ้มกันอยู่ได้นาน เรามองสองด้าน ถ้าฉีดโดยไม่จำเป็นก็มีผลข้างเคียงได้

หมอธีรพงษ์ : คนไข้ก็ถามแล้วถามอีก หลักการสำคัญคือ วัคซีนเข็มกระตุ้นจะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงกว่าวัคซีนหลักเข็มแรกและสอง ไม่ว่าจะฉีดสูตรไหน 3 เดือนแรกป้องกันได้ ถ้าฉีดวัคซีนเข็ม 3 ระยะห่าง 3-6 เดือนข้างหน้าน่าจะปลอดภัย ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่

วัคซีนmRNA จะมีผลต่อร่างกายไหม

หมอมานพ : เทคโนโลยีใหม่ ไม่ได้แปลว่าอันตราย อย่าเพิ่งด่วนสรุป วัคซีนmRNA พัฒนามานานกว่า 10 ปี ไม่ใช่เพิ่งค้นพบเทคโนโลยีนี้ เพียงแต่โควิดมา ก็เลยนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ซึ่งดีมาก เรื่องที่คนกลัวคือ การกลายพันธุ์หรือทำให้เกิดผลต่อร่างกายนั่นเป็นข่าวลวง

เทคโนโลยี mRNA โดยตัวของมันเองเหมือนแม่พิมพ์การสร้างโปรตีน เมื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้แล้ว ตัวแม่พิมพ์ก็สลายไป ไม่สามารถผนวกรวมดีเอ็นเอกลายพันธุ์ ทำให้เรากลายเป็นอะไร

เทคโนโลยี mRNA เคยมีการทดสอบในเด็ก และคนท้อง แม้จะทดลองใช้มาเยอะ แต่ไม่ได้แปลว่า วัคซีน mRNA จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็มีผลข้างเคียง แต่พบน้อย

หมอธีรพงษ์  : มีข้อมูลมาตรฐานคือ เมื่อฉีดวัคซีนไปแล้วช่วง 3 เดือนแรกจะป้องกันโควิดได้ และวัคซีนเข็มกระตุ้นน่าจะเป็น mRNA ส่วนวัคซีนเข็ม 4 น่าจะรอให้มีระยะห่าง 6 เดือนในกรณีโอไมครอนยังไม่แพร่ระบาดเยอะ

การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

หมอธีรพงษ์ : ผมทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามานาน การฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง จะมีปัญหาสำหรับคนฉีด ข้อดีคือ ภูมิคุ้มกันขึ้นแน่นอน ใช้ปริมาณโด้สน้อยกว่า จากที่เราฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเข้าชั้นผิวหนัง เทคนิคนี้ฉีดยากมาก จะไม่สามารถใช้กับคนเป็นพันเป็นหมื่น

วัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์จำเป็นไหม

หมอมานพ :  แม้บุคลากรทางการแพทย์จะเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ก็ยังไม่แนะนำให้ฉีดเข็ม 4 แม้จะยังไม่มีข้อมูลว่า เข็ม3 จะคุ้มครองได้นานแค่ไหน

หมอธีรพงษ์ : หลักการฉีดวัคซีนคือไม่กระตุ้นโดยไม่จำเป็น ทุกๆ เข็มที่กระตุ้นจะก่อให้เกิดผลข้างเคียง เหมือนการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้สัตวแพทย์ทุกปี ก็จะมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง ไม่ได้สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ต้องฉีดทุกปี เพราะภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ตกทุกปีและสายพันธุ์เปลี่ยน

คนที่เคยติดเชื้อโควิด แล้วฉีดวัคซีนเข็มแรกซิโนแวค ควรฉีดวัคซีนเข็มสองอย่างไร

หมอธีรพงษ์ : การติดเชื้อไวรัสแล้ว พิสูจน์มาหลายแห่งแล้วว่า ทำให้มีภูมิคุ้มกันดีมาก ยิ่งติดเชื้อแล้วฉีดวัคซีนเข้าไป ต่อให้เป็นซิโนแวคเข็มเดียว มีข้อมูลว่า จะมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าคนฉีดวัคซีนสองเข็ม 

ถ้าถามว่า ติดเชื้อแล้วต้องฉีดวัคซีนเพิ่มไหม ข้อมูลในอเมริกาพบว่า ถ้าไม่ฉีดวัคซีน มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนที่ฉีดวัคซีน และการติดเชื้อซ้ำจะมากกว่าคนฉีดวัคซีน

ในหลายประเทศให้ฉีดสองเข็ม เพราะไม่รู้ว่า ระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะไม่รู้ธรรมชาติการลดลงของภูมิคุ้มกัน แต่โดยส่วนตัว ผมว่าเข็มเดียวก็อยู่ได้นาน

หมอมานพ : คนที่ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งแล้วเกิดติดเชื้อระหว่างนั้น เมื่อหายแล้ว ก็ควรฉีดวัคซีนเข็มสองกระตุ้น

ส่วนคนฉีดวัคซีนสองเข็มครบ ยังไม่ถึงสองอาทิตย์เกิดติดเชื้อ ต้องฉีดเข็มกระตุ้นไหม ยังไม่มีข้อมูล แต่ข้อแนะนำปัจจุบันในหลายประเทศให้ฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพราะะระดับภูมิคุ้มกันที่ฉีดสองเข็มอาจไม่พอ

หมอธีรพงษ์ : คิดง่ายๆ บางประเทศวางไว้ว่าประชาชนทุกคนต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิดอย่างน้อยสองเข็ม

การเว้นระยะห่างในการฉีดวัคซีนระหว่าง 3 เดือนกับ 6 เดือน มีผลข้างเคียงต่างกันไหม

หมอธีรพงษ์ : หลักการของวัคซีนคือ ยิ่งฉีดห่างภูมิคุ้มกันจะขึ้นดี แต่ภูมิคุ้มกันขึ้นดีกับผลข้างเคียงไม่เกี่ยวกัน ดังนั้นการฉีดเว้นระยะห่างได้ประโยชน์จริง แต่การเว้นระยะห่างเสี่ยงกับการติดเชื้อระหว่างทาง จึงไม่อยากให้ห่างมาก

ข้อมูลส่วนใหญ่คนฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกจะมีปัญหา เข็มหลังๆ จะไม่เป็นไร แต่ประโยชน์ที่ได้ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น แต่บอกไม่ได้เรื่องผลข้างเคียง