"ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน" เรื่องที่หลายคนมองข้าม แต่จำเป็นต้องรู้
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ มีคนหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน หรือหยุดหายใจ หากไม่รู้วิธีการ"ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน" ก็ทำได้แค่เรียกคนมาช่วย ซึ่งอาจไม่ทันเวลา เพราะถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที คนๆ นั้นก็เสียชีวิตได้
อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจ จัดเป็นอันดับต้นๆ และอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนไปโรงพยาบาล
ปกติที่พบเห็นในสังคมไทย คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้ วิธีช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และไม่รู้วิธีการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED)ในภาวะฉุกเฉิน ทำให้คนป่วยมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก
การเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่ว่าด้วยโรคหัวใจ พิษแมลงสัตว์กัดต่อย ไฟฟ้าดูด จมน้ำ สำลักควันไฟ ผู้ป่วยเหล่านี้หัวใจจะหยุดเต้นกะทันหัน ถ้าปล่อยไว้นานเกิน 4 นาที แม้จะฟื้นคืนชีพมาได้ ก็เกิดภาวะการตายของสมอง
ดังนั้นหากผู้พบเห็นหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยมีความรู้และทักษะการประเมิน วินิจฉัยและช่วยฟื้นชีวิตในภาวะฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต
วินาทีที่ต้องรีบช่วย
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และส่วนใหญ่คนที่เข้าไปช่วยเหลือได้ต้องรู้กระบวนการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน
ในหลายประเทศประชาชนต้องได้รับการอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และสอนให้รู้จักการใช้เครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) ซึ่งมีไว้ตามพื้นที่สาธารณะ
เนื่องจากเวลาที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น สมองจะขาดเลือดมาเลี้ยงอวัยวะ จึงหมดสติภายใน 10 วินาที ซึ่งเป็นจังหวะที่ต้องช่วยเหลือทันที
ดังนั้น วิธีการกู้ชีวิต หรือ CPR : Cardiopulmonary resuscitation เพื่อฟื้นการทำงานของระบบไหลเวียนเลือดที่หยุดทำงานอย่างกระทันหัน ให้หัวใจกลับมาเต้นเองได้ตามปกติ โดยไม่เกิดความพิการของสมอง จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน
ในวินาทีที่ต้องตัดสินใจช่วยเหลือคนหัวใจหยุดเต้น มีหลักการ 4 ข้อคือ
1.ประเมินการตอบสนองของผู้ป่วยว่ามีสติหรือไม่ โดยการปลุกเรียก ดูการเคลื่อนไหวที่หน้าอกว่าหายใจหรือไม่
2 ขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์ฉุกเฉิน ตามเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED)
3 ปฎิบัติตามขั้นตอน อาทิ ช่วยกดหน้าอก การเปิดทางลมหายใจให้โล่ง การช่วยหายใจ และ 4 การช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ โดยใช้เครื่อง AED
เขตนภันต์ จุลจิรวัฒน์ วิทยากรการช่วย CPR พลิกวิกฤตเสี้ยวนาทีชีวิต ในคอร์สฝึกอบรมช่วยชีวิตเบื้องต้น ให้ข้อมูลว่า ให้ใช้วิธีตบบ่าและไหล่ และเรียกให้รู้สึกตัว ไม่ควรเขย่าตัว เนื่องจากคนที่เข้าไปช่วยเหลือไม่รู้ว่า มีอวัยวะส่วนไหนได้รับบาดเจ็บ
จากนั้นให้โทรขอความช่วยเหลือจาก 1669 บอกรายละเอียด สถานที่ อาการผู้ป่วยให้ชัดเจน และถ้ามีคนอื่นๆ อยู่ตรงนั้นด้วย ก็ไหว้วานให้เขาช่วยโทรศัพท์ติดต่อ
“ตอนที่เรามาช่วย เราก็ไม่รู้ว่าหยุดหายใจไปกี่นาทีแล้ว หลักๆ เลย สมองขาดออกซิเจนได้ไม่เกินสี่นาที ตั้งแต่ล้มลงไป”
ประเมินสถานการณ์ก่อนช่วยเหลือ
- ก่อนจะช่วยเหลือใคร ต้องประเมินความปลอดภัยสถานที่เกิดเหตุ อาทิ มีไฟฟ้าลัดวงจรไหม สภาพแวดล้อมต้องปลอดภัยต่อคนช่วยและผู้ป่วย
- สำรวจการรับรู้ถึงภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยการปลุกผู้ป่วยให้รู้สึกตัว และเมื่อพบว่า หมดสติ ไม่หายใจ หรือหายใจเฮือกๆ ไม่ตอบสนอง ภายใน 10 วินาทีให้ขอความช่วยเหลือ
- ขอความช่วยเหลือจากหน่วยช่วยชีวิตฉุกเฉิน EMS (1669)
- กรณีต้องช่วยเหลือคนเดียว ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ให้ทิ้งผู้ป่วยไปครู่หนึ่ง เพื่อหาโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือหน่วย EMS เพื่อจะได้นำเครื่อง AED มาก่อนทำ CPR
- กรณีมีคนอื่นอยู่ด้วย ให้เริ่มทำ CPR ทันที จนเมื่อเครื่อง AED พร้อมใช้
-ระหว่างการทำ CPR อัตราการกดหน้าอกต่อการช่วยหายใจที่ปราศจากท่อช่วยหายใจ ปั๊มหัวใจ 30 ครั้งสลับการเป่าปาก 2 ครั้ง
-อัตราการกดหน้าอกต่อเนื่อง 100-120 ครั้งต่อนาที ช่วยหายใจ 1 ครั้งทุก 6 วินาที
.....................
การจัดอบรมช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน มีหลายแห่ง หลักๆ คือศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย