แก้ไขการพูดและการได้ยิน :"นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย" ช่วยแก้ปัญหาได้
นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย เป็นอีกอาชีพที่ขาดแคลนในโรงพยาบาล ปัจจุบันมีคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งเดียว ผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการสื่อสาร ทั้งการได้ยินและการพูด
ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายประมาณ 382,615 คน หรือร้อยละ 18.87
แต่มีแห่งเดียวที่เปิดสอนคือ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมาย และความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดมานานกว่า 45 ปี
เพื่อผลิตนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย หรือนักแก้ไขการพูดและการได้ยิน เพื่อช่วยฟื้นฟูผู้บกพร่องทางการสื่อสารให้สามารถสื่อสารได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศมีนักเวชศาสตร์สื่อความหมายเพียง 400 คน
ตามปกติแล้ว คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมีคนไข้เข้ามารักษาด้านนี้กว่า 28,000 ครั้งต่อปี เนื่องจากคนไข้ที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร จำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง
กลุ่มผู้ป่วยที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้ามีทุกประเภท เช่น กลุ่มอาการออทิสติก ประสาทหูพิการ กลุ่มเรียนรู้บกพร่อง เป็นต้น
คาดคะเนว่าประมาณร้อยละ 56.90 อยู่ในวัย 1 ปี 6 เดือน- 30 ปี ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสียความสามารถด้านการสื่อความเนื่องจากภาวะผิดปกติของระบบในสมอง ซึ่งพบได้ตั้งแต่อายุ 40 – 80 ปี
เมื่อไม่ได้ยิน...ก็พูดไม่ได้
อาจารย์ ดร. นิตยา เกษมโกสินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้มีปัญหาด้านภาษาและการพูด มีอยู่หลายกลุ่ม มีทั้งพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้า ได้แก่ กลุ่มออทิสติก กลุ่มที่สูญเสียการได้ยินเสียงผิดปกติ รวมถึงกลุ่มที่มีความผิดปกติในการกลืน
“นักแก้ไขการพูดจะดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ต้น ทั้งการตรวจ การประเมินให้คำแนะนำ วางแผนการบำบัดรักษา เพื่อฟื้นฟูการฟัง”
ฝน พูนสิน คุณแม่น้องปุณิกา วัย 10 ขวบ เล่าถึงความผิดปกติของลูกสาวว่า เกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 2 เดือน เวลาเรียกจะไม่หัน ไม่ตอบสนอง พาไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คุณหมอบอกว่าปกติ จนอายุ 2 ขวบ อาการผิดปกติเริ่มชัดขึ้น
เมื่อไม่ได้ยิน ก็ไม่สามารถสื่อภาษา จึงตัดสินใจพาน้องมาตรวจอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
“ตอนลูกเป็นหวัด ทำให้หูทั้ง 2 ข้างดับสนิท ต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ทำให้ปัญหาการได้ยินในระดับรุนแรงกลับมาได้ยินอีกครั้ง ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นประถม 4 มีความฝันอยากเป็นหมอ”
อาชีพนี้ขาดแคลน
45 ปีที่แล้ว หลังจากรามาธิบดี เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และเมื่อพบว่า วิชาชีพนี้ขาดแคลน จึงขยายหลักสูตร เปิดสอนในระดับปริญญาตรี เมื่อปี 2548 เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางการสื่อความหมายจำนวนมาก
นักเรียนส่วนใหญ่ที่มาเรียนต่อสาขานี้ มีทั้งแพทย์ นักจิตวิทยา นักภาษาศาสตร์ แต่กลุ่มที่มีมากที่สุดคือกลุ่มพยาบาล
หลักสูตรระดับปริญญาตรีเปิดรับปีละ 30 คน เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 2 สาขาคือ สาขาการแก้ไขการพูด และ สาขาการแก้ไขการได้ยิน
เนื่องจากปัจจุบันนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ยังเป็นที่ต้องการในสังคม เพราะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็กระจายทำงานในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ
.................
ร่วมสมทบทุนสนับสนุนการผลิตบุคลากรการแพทย์ จัดซื้อเครื่องมือแพทย์ โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บริจาคออนไลน์
www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111