นักวิจัยจุฬาฯ พบสาร THC จาก"กัญชา"ในอาหาร(บางชนิด)เกินมาตรฐาน
อีกกลุ่มที่เรียกร้องให้ชะลอการนำกัญชาออกจากรายชื่อยาเสพติดประเภท 5 โดยนำเสนองานวิจัย อาหารคาวและหวานบางชนิดมีสาร
THC เกินมาตรฐาน 0.2 เปอร์เซ็นต์ จัดเป็นยาเสพติด
ปัจจุบันมีอาหารที่ผสมกัญชามีอยู่มากมาย ซึ่งผู้บริโภคไม่อาจรู้ได้เลยว่า มีสารTHC (Tetrahydrocannabinol) มากน้อยเพียงใด หากมีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 จัดเป็นยาเสพติด
ล่าสุดศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลการวิจัยวิเคราะห์ปริมาณสาร THC(Tetrahydrocannabinol) ของกัญชาเกินมาตรฐานในอาหารคาวหวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่มหลายชนิด
เนื่องจากสารดังกล่าวมีคุณสมบัติต่อจิตประสาท ทำให้ผ่อนคลายเคลิบเคลิ้ม แต่ถ้ามากเกินมาตรฐานก็อาจเกิดโทษต่อร่างกายได้
โดยศูนย์ดังกล่าวได้ทำการศึกษาตัวอย่างอาหารคาว หวาน อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 29 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ถึงมกราคม 2565
เพื่อตรวจดูว่า ในอาหารเหล่านั้นมีสาร THC เกินกว่ามาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 427 และ 429 พ.ศ. 2564 หรือไม่
ศ.ดร.จิตรลดา อารีย์สันติชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยาเสพติดฯ กล่าวถึงผลการศึกษาซึ่งพบว่า อาหารคาวและอาหารหวานหลายชนิดผ่านเกณฑ์คือ มี THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก แต่หลายผลิตภัณฑ์ไม่ผ่า เกณฑ์คือมี THC เกินมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นยาเสพติด
ได้แก่ เครื่องดื่มผสมสมุนไพรและผงชากัญชามี THC ร้อยละ 0.214-0.231 คุกกี้มี THC ร้อยละ 0.498
มาตรฐานกัญชาในอาหาร
ทางด้านผศ.ดร.อุษณีย์ พึ่งปาน นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยยาเสพติดฯ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงมากคืออาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผสมกัญชามี THC สูงถึงร้อยละ 32-51 โดยน้ำหนัก
"บะหมี่ดังกล่าว ตรวจพบว่าเกินมาตรฐานไปมาก สันนิษฐานว่าใบกัญชาที่นำมาใส่ อาจใกล้ช่อดอก หรืออาจมีการแอบผสมช่อดอกในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วย
เรื่องนี้น่าเป็นห่วง หากมีการปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติด คนจะนำไปใช้แบบผิดๆ ได้ เพราะคิดว่าไม่มีใครมาตรวจ ผู้ขายอาจแอบนำกัญชามาใส่ในอาหารในระดับที่มากเพื่อให้ขายดี”
ทางด้าน วัชรพงศ์ พุ่มชื่น ผู้แทนภาคประชาชนต่อต้านปัญหายาเสพติด กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลการเสวนาเรื่องมองรอบด้าน : ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือที่จะตัดกัญชาออก จากการเป็นยาเสตพิด พบว่า ปริมาณกัญชามีผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและเยาวชน รวมถึงมีผลต่อระบบหัวใจ อาจทำให้เสียชีวิตได้
“ถ้าปล่อยเสรีแบบนี้ เด็กและเยาวชนจะไม่เสพ THC ที่เป็นยาเสพติดกันทั่วประเทศหรือ นี่ยังไม่นับว่าเด็กจะเอาช่อดอกมาสูบ หากมีการปลูกที่บ้านอย่างเสรี”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางเครือข่ายวิชาการและภาค ประชาชนต้านภัยยาเสพติด นำโดย ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และนักวิชาการอีกหลายคน ฯลฯ ได้แสดงจุดยืน เห็นด้วยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด
และขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โปรดพิจารณาทบทวนและชะลอการนำพืชกัญชาออกจากชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ยส.5) ออกไปก่อน จนกว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและข้อมูลที่รอบด้าน และมีกฎหมายและแผน ในการควบคุมที่ชัดเจนที่เป็นฉันทมติร่วมกันของผู้คนในสังคม