“ยาสามัญประจำบ้าน” ตัวไหนบ้าง ควรมีติดบ้านช่วง “โควิด-19” ระบาดหนัก?

“ยาสามัญประจำบ้าน” ตัวไหนบ้าง ควรมีติดบ้านช่วง “โควิด-19” ระบาดหนัก?

เปิดลิสต์ “ยาสามัญประจำบ้าน” ต้องมีติดบ้านไว้อุ่นใจกว่า หากติดเชื้อ “โควิด-19” ควรกินยาตัวไหนเพื่อประคองอาการในเบื้องต้น และหลังจากเข้าระบบการรักษาแล้ว แพทย์จะจ่ายยาตัวไหนเพิ่มเติมให้อีกบ้าง?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย ยังอยู่ในระดับน่ากังวล เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเตรียม “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ใช้ “รักษาอาการโควิด-19” เบื้องต้น จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าจะเสี่ยงติดเชื้อเมื่อใด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้จัก "ยาสามัญประจำบ้าน" ที่ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการโควิด-19 ที่ควรมีติดบ้านไว้ และหากติดเชื้อโควิดและติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าระบบการรักษาแล้ว แพทย์จะจ่ายยาตัวไหนให้ผู้ป่วยเพิ่มเติมบ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1. ยาสามัญประจำบ้านที่ควรมีไว้เพื่อรักษาโควิด-19

ในเมื่อตอนนี้ใครๆ ก็สามารถติดโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากโควิดโอมิครอนมีการกลายพันธุ์เพิ่มอีก และยิ่งแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิม ดังนั้นทุกคนต้องรู้เท่าทันข่าวสารและเตรียมพร้อมไว้เสมอ โดยเฉพาะการเตรียม "ยาสามัญประจำบ้าน" และ "อุปกรณ์เช็กอาการป่วย" ที่ต้องมีติดบ้านไว้ ได้แก่

ยาสามัญประจำบ้านช่วงโควิด-19

  • ยาประจำตัว

หากใครมีโรคประจำตัวช่วงนี้ควรวางแผนในการสำรองยาให้สามารถรับประทานได้ระยะยาว 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลบ่อยๆ 

  • ยาพาราเซตามอล

ยาพาราเซตามอลเป็นยาที่ใช้เมื่อมีไข้สูงเกิน 37 องศาเซลเซียส เนื่องจากอาการโควิด-19 มักทำให้มีไข้สูง และเกิดอาการต่างๆ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ร่างกายอ่อนเพลีย ตามมาได้ จึงต้องกินยาลดไข้เพื่อให้ร่างกายไม่อ่อนเพลียจนเกินไป

โดยการกินยาพาราเซตามอล หากมีน้ำหนัก 35-50 กิโลกรัม ให้ทานยา 1 เม็ด น้ำหนัก 51-61 กิโลกรัม ให้ทานยา 1 เม็ดครึ่ง และหากมีน้ำหนัก 62 กิโลกรัม ขึ้นไป ให้ทาน 2 เม็ด ทานยาห่างกัน 4 ชั่วโมง และใช้ยาเมื่อมีอาการเท่านั้น

  • ยาฟ้าทะลายโจร

ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาช่วยบรรเทาอาการในผู้ติดเชื้อโควิดที่ยังไม่มีอาการรุนแรง ใช้เมื่อตนเองมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก เริ่มมีไข้ แต่ไม่ควรทานเกินวันละ 180 มิลลิกรัม โดยให้แบ่งทานวันละ 3-4 ครั้งต่อวัน และไม่ควรทานต่อเนื่องเกิน 5 วัน (ควรซื้อยาที่ผ่านการรับรองจาก อย. เท่านั้น)
อ่านเพิ่ม : ตรวจ ATK "ติดโควิด" กินยา "ฟ้าทะลายโจร" ได้กี่เม็ดต่อวัน?

 

  • ยาแก้ไอแบบเม็ด

ยาแก้ไอแบบเม็ด (Dextromethorphan) ใช้ในการบรรเทาอาการไอเยอะ แต่ไม่สามารถใช้ในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบได้ เพราะร่างกายควรที่จะต้องขับเสมหะออกตามธรรมชาติ จึงไม่ควรใช้ยาเพื่อกดอาการไอ 

  • ยาลดน้ำมูก

ยาลดน้ำมูก (Chlorpheniramine: CPM) เป็นยาลดเสมหะ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นในผู้ที่มีอาการเยอะ แต่อาจทำให้คอแห้ง ปากแห้ง มีอาการง่วงซึมได้ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

  • ยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ (Fexofenadine) สามารถช่วยลดอาการน้ำมูกไหล รับประทานเท่าที่จำเป็นภายใต้คำแนะนำของแพทย์

  • ผงเกลือแร่

ผงเกลือแร่ (Oral Rehydration Salts: ORS) ช่วยทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ป้องกันอาการท้องเสีย ควรจิบเรื่อยๆ ทั้งวัน 

  • ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป

นอกจากนี้ยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ ที่ควรมี ได้แก่ ยาลดกรด ยาธาตุน้ำแดง ผงถ่านลดอาการท้องเสีย ยาถ่ายพยาธิลำไส้ ยาแก้ไอน้ำดำ ยาดมแก้วิงเวียน น้ำเกลือล้างแผล ยาทาแก้ผื่นคัน เป็นต้น

2. อุปกรณ์ที่ควรมีติดบ้าน วัดไข้/ออกซิเจนในเลือด

  • ปรอทวัดไข้ 

ปรอทวัดไข้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้วัดไข้เมื่อคิดว่าตนเองมีอาการเสี่ยงโควิดหรือในช่วงที่เป็นโควิด-19 ตามระยะเวลาเช้าและเย็น 

  • เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด

เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดส่วนมากเป็นเครื่องวัดแบบหนีบที่ปลายนิ้ว ซึ่งสามารถแสดงผลค่าออกซิเจนเบื้องต้นได้ เหมาะสำหรับการใช้ในผู้ที่ติดเชื้อแล้ว แต่ยังต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือผู้ที่รอเตียงอยู่ เพื่อเช็กอาการของตนเองว่าแย่ลงหรือไม่ หากมีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 95 ต้องพบแพทย์โดยด่วน

  • แผ่นเจลลดไข้

แผ่นเจลลดไข้ ใช้สำหรับช่วยลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงได้เร็วขึ้น ใช้เมื่อมีไข้สูง ควรมีติดไว้ทุกบ้าน 

3. เมื่อติดโควิด-19 แพทย์จะจ่ายยาอะไรให้บ้าง?

นอกจากนี้ หากท่านตรวจ ATK หรือ RT-PCR แล้วพบว่าตนเองติดโควิด-19 จะต้องพิจารณาว่าตนเองมีอาการในระดับไหน (เขียว/เหลือง/แดง) เพราะจะมีการแจกจ่ายยาให้แตกต่างกันไป ตามแนวทางการรักษาของแพทย์ที่กำหนดโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (ล่าสุด 22 มี.ค. 65) ดังนี้

โดยก่อนอื่นต้องรู้ว่า ยารักษาโควิด 4 ชนิด มีอะไรบ้าง?

  • ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) 
  • เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) 
  • โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) 
  • แพกซ์โลวิด (Paxlovid)

อาการโควิด-19 แบบไหน จะได้ยารักษาตัวใด?

  • อาการ: ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ

ยาที่จะได้รับ: จ่ายยาแบบผู้ป่วยนอก และจะจ่ายยาฟ้าทะลายโจรตามดุลยพินิจของแพทย์

  • อาการ: ติดเชื้อแบบแสดงอาการ

ยาที่จะได้รับ: ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เร็วที่สุด

  • อาการ: ติดเชื้อแบบมีอาการเล็กน้อย มีโรคประจำตัวร่วมด้วย และเริ่มมีอาการปอดอักเสบ

ยาที่จะได้รับ: - ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนหรือเคยได้แค่ 1 เข็ม จะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงเยอะ จะให้ยาเรมเดซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด 

- ถ้าได้รับวัคซีน 2 เข็มหรือมากกว่านั้น จะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ 5-10 วัน

  • อาการ: ติดเชื้อแบบอาการหนัก ปอดอักเสบ ออกซิเจนต่ำ

ยาที่จะได้รับ: ให้ยาเรมเดซิเวียร์ 5-10 วัน และหากมีอาการมากขึ้นอาจพิจารณาให้ยาสเตียรอยด์

4. ข้อกำหนดการใช้ “ยาโมลนูพิราเวียร์” และ “แพกซ์โลวิด"

การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์

  • ผู้ติดเชื้อต้องมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
  • มีปัจจัยเสี่ยง หรือโรครุนแรงที่ทำให้เสียชีวิต เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน ตับแข็ง ภาวะอ้วน และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ไม่เคยรับการฉีดวัคซีน หรือฉีดเพียงแค่ 1 เข็ม
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์

การใช้ยาแพกซ์โลวิด

  • ใช้ในกลุ่มเสี่ยง ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์

------------------------------

อ้างอิง: โรงพยาบาลวิชัยเวช, สาธารณสุข