"เหงื่อออกมือ" สัญญาณเตือน "โรคหัวใจ" จริงไหม? เหงื่อออกแบบไหน ต้องพบแพทย์
เคยเป็นไหม? อาการ "เหงื่อออกมือ" แม้กระทั่งนั่งอยู่ในห้องแอร์เย็นๆ ก็ยังมีเหงื่อ.. เรื่องนี้ถือว่า "ผิดปกติ" ไหม แล้ว "เหงื่อออก" แบบไหนที่ต้องพบแพทย์
เรื่อง "เหงื่อ" แม้จะเป็นเรื่องธรรมชาติ ที่ใครๆ ก็ต้องมีเหงื่อออกกันบ้าง แต่สำหรับอาการ "เหงื่อออกมือ" ในบางกรณีอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา ซึ่งจากบทความเรื่อง "บอกลาเหงื่อออกมือ ปัญหากวนใจ" โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้อธิบายถึงภาวะ "โรคเหงื่อออกมือ" พร้อมตอบคำถามว่า เหงื่อออกมือ สัมพันธ์กับ "โรคหัวใจ" จริงหรือไม่ รวมถึงข้อสังเกตอาการ ว่า แบบไหนควรต้องระวัง และพบแพทย์
- ทำไมคนเราถึงมี "เหงื่อ"
หมอศิระ อธิบาย “เหงื่อ” เป็นกลไกหนึ่งของร่างกายที่ให้ร่างกายเราเย็นลง โดยระบบประสาทจะกระตุ้นต่อมเหงื่อให้ทำงานเมื่ออุณหภูมิร่างกายเราสูงขึ้น เพื่อทำให้เกิดสมดุลของร่างกาย แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการ “เหงื่อออกเฉพาะที่” โดยบริเวณ “มือ” และ “เท้า” มากกว่าปกติ โดยที่ไม่เกี่ยวกับความร้อน อุณหภูมิหรือการออกกำลังกาย
ผลเสียจากภาวะดังกล่าว นำไปสู่อาการคันและอักเสบบริเวณที่มีเหงื่อมากหรือการมีกลิ่นตัวเนื่องจากการสะสมของแบคทีเรียบนผิวหนังหรือการเปลี่ยนแปลงของผิว เช่น รอยคล้ำหรือสีผิวไม่สม่ำเสมอ รอยแตก บาง หรือ เปื่อยง่าย ในผู้ป่วยบางรายอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เลย
- “เหงื่อออกมือ” แบบไหน ไม่ปกติ
เมื่อเหงื่อเป็นเรื่องธรรมชาติ แล้ว “เหงื่อ” แบบไหนไม่ปกติ?
คุณหมอศิระ อธิบายถึงลักษณะของ “เหงื่อออก” แบบที่ถือว่าเป็นภาวะที่ผิดปกติ ที่ควรไปปรึกษาแพทย์ ว่า มีดังนี้
1. เหงื่อออกมากผิดปกติ จนรบกวนกิจวัตรประจำวัน
2. เหงื่อออกมากเกิดกว่าคนปกติ แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน โดยไม่มีสาเหตุจากปัจจัยภายนอก
ทั้งนี้ ผศ.นพ.ศิระ ได้อธิบายถึง สาเหตุของภาวะโรคเหงื่อออกมือที่พบบ่อยที่สุด คือ
- ภาวะ "primary hyperhidrosis" ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมต่อมเหงื่อทำงานมากเกินกว่าปกติ แม้จะไม่ได้ถูกกระตุ้นโดยการออกกำลังกาย หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นก็ตาม
ภาวะเหงื่อออกมือมากในกลุ่มนี้ มักพบในผู้ป่วยที่อายุน้อยและมักพบมากบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า โดยปัจจุบันทางการแพทย์ยังหาสาเหตุได้ไม่แน่ชัด ส่วนผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากส่งต่อของทางพันธุกรรมผ่านทางครอบครัวได้
- ภาวะ "Secondary hyperhidrosis" เป็นอีกภาวะหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ นั่นคือ ภาวะเหงื่อออกมือที่เกิดจากปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยเอง แต่กลุ่มนี้พบได้น้อย และมักมีอาการเหงื่อออกมากทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งภาวะที่ทำให้เกิดอาการได้แก่ โรคเบาหวาน หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน โรคไทรอยด์เป็นพิษหรือการรับประทานยาบางชนิด
- ภาวะ “เหงื่อออกมือ” สัมพันธ์กับ “โรคหัวใจ” จริงไหม?
สำหรับประเด็น “เหงื่อออกมือ” ที่มักถูกอ้างว่า เป็นสัญญาณของ “โรคหัวใจ” นั้น คุณหมอศิระ ไขคำตอบให้ได้สบายใจกันว่า ที่จริงแล้ว ภาวะเหงื่อออกที่มือ ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตและไม่ได้เกี่ยวกับโรคหัวใจตามที่มักถูกกล่าวอ้าง
แต่การที่เกิดภาวะดังกล่าวอาจส่งผลทำให้เกิดผลกระทบในการทำงาน เช่น กลุ่มที่มีอาชีพที่ต้องใช้มือ เช่น วิศวกร นักคอมพิวเตอร์ ศิลปิน อาชีพค้าขายอาหาร อาชีพงานช่างต่าง ๆ และหมอนวด เป็นต้น
นอกจากนี้อาการเหล่านี้จะส่งผลทำให้เกิดความวิตกกังวลและอาการไม่สบายใจจนรู้สึกประหม่า ทำให้เกิดปัญหาในการทำกิจกรรมอื่นๆหรือทำให้อารมณ์ของตนเองขุ่นมัวใส่คนรอบข้างได้
- เหงื่อออกมือ รักษาได้ไหม
การรักษาภาวะเหงื่อออกมือนั้น มีตั้งแต่การเลือกใช้ยาระงับกลิ่นให้ต่อมเหงื่อไม่ทำงาน การรับประทานยา หรือการฉีดโบท็อกซ์
แต่การรักษาที่ได้ผลระยะยาวและสามารถเห็นผลได้ทันที คือ การรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง โดยการผ่าตัดชนิดนี้เป็นการผ่าตัดส่องกล้องแบบจุดเดียวขนาดหนึ่งเซนติเมตร ที่บริเวณใต้รักแร้ทั้งสองข้าง โดยผู้ป่วยจะเห็นผลทันทีหลังผ่าตัดและกลับบ้านได้เลยหลังจากการผ่าตัดเพียงแค่ 1 วัน
ผู้ป่วยท่านใดที่กำลังมีอาการดังกล่าวและต้องการปรึกษาเพื่อเข้ารับการผ่าตัด เข้ารับการปรึกษาได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอด”