"Netzwerk Klima" ค่ายเยาวชนที่ "เกอเธ่" อยากให้ได้ภาษาเยอรมันและรักษ์โลก
"เกอเธ่" จัดค่ายเยาวชน 6 ประเทศ สานต่อโครงการ "Netzwerk Klima" ส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมันและสร้างเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ที่เขาหลัก จังหวัดพังงา
สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (Goethe-Institut Thailand) แผนกภาษาเยอรมัน จัดแคมป์เยาวชนอายุตั้งแต่ 16-18 ปี ซึ่งคัดเลือกจากนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา ภาควิชาภาษาเยอรมัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามโครงการ Netzwerk Klima หรือเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้วัตถุประสงค์เน้นการส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมันแบบสหวิทยาการ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน และการส่งต่อความรู้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต ที่บริเวณเขาหลัก อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พื้นที่ที่มีการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ หลังได้รับความเสียหายจากการถล่มของคลื่นสินามิ เมื่อปี พ.ศ.2547
การจัดแคมป์เยาวชนประจำปี 2565 ในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดครั้งที่ 2 สานต่อโครงการครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมี เยิร์ก คลินเนอร์ (Jorg Klinner) รองผู้อำนวยการแผนกภาษาเยอรมัน และมาร์คุส ชติเชล (Markus Stichel) ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต (PASCH) สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มโครงการขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งนอกจากจะได้เข้าแคมป์เรียนภาษาเยอรมันแบบสหวิทยาการ หรือการเรียนการสอนแบบ GLILiG ที่มีการผสมผสานเนื้อหาและภาษาเยอรมันเข้าด้วยกันแล้ว ยังมีการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนควบคู่กันไป เนื่องจากปัจจุบันสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกต่างตื่นตัวและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญ ครั้งนี้เป็นการคัดเลือกเยาวชนจากนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม มาเข้าร่วมโครงการ ก็ยิ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ระหว่างกันมากขึ้น
เยิร์กอธิบายในรายละเอียดว่า “สถาบันเกอเธ่ เป็นสถาบันทางด้านวัฒนธรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน แบ่งเป็น 2 แผนก คือแผนกวัฒนธรรมและแผนกภาษา สำหรับแผนกภาษานั้น จะเน้นส่งเสริมและเผยแพร่การเรียนภาษาเยอรมันในประเทศต่างๆ ซึ่งก็จะมีภารกิจในการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในระดับภูมิภาค เน้นเป้าหมายหลัก 3 ประการ หนึ่ง-ส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมัน สอง-ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และสาม-ทำให้เยาวชนได้มาพบปะกันแล้วเกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและโลก ก็เลยเกิดเป็นโครงการ Netzwerk Klima หรือเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมนี้ขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อคัดเลือกเด็กนักเรียนเอกภาษาเยอรมันจากโรงเรียนต่างๆ มาเข้าร่วมแคมป์เป็นเวลา 9 วัน โดยสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย เป็นผู้ออกทุนให้ทั้งหมด
แต่สำหรับครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งแรก เนื่องจากเยาวชนที่มาร่วมโครงการไม่ได้เป็นเยาวชนจากประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีเยาวชนจากประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศ รวมเป็น 6 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 24 คน ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วมด้วย ซึ่งทุกคนต่างได้รับการคัดเลือกจากการส่งผลงานเกี่ยวกับปัญหาและวิธีแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเองมานำเสนออย่างน่าสนใจ เช่น ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ปัญหามลพิษในเมืองที่เกิดจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม หรือปัญหาน้ำเสียในโรงเรียนที่เกิดจากเศษอาหารต่างๆ ไม่มีการแยกทิ้ง”
ส่วนการปักหลักการจัดแคมป์ที่บริเวณเขาหลัก อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงานั้น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เคยได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการถล่มของคลื่นสึนามิอย่างหนักมาก่อน แต่ปัจจุบันชุมชนต่างๆ ได้ช่วยกันฟื้นฟูจนสภาพสิ่งแวดล้อมสวยงามและสมบูรณ์ขึ้น จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ที่เยาวชนจะได้มาทำกิจกรรมในและนอกห้องเรียนควบคู่กับการเรียนภาษาเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมองประลองความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านเกมต่างๆ การทำสวนในพื้นที่เมือง การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษในชุมชนบ้านท่าดินแดง การอนุรักษ์ป่าชายเลนในคลองดินแดงเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ การสัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกลำปี การอนุรักษ์เต่าในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา หรือการอนุรักษ์ทะเลด้วยการเก็บขยะและนำขยะกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ ซึ่งก็จะช่วยปลูกฝังและกระตุ้นให้เยาวชนที่มาร่วมแคมป์ในโครงการเกิดจิตสำนึกในการร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว
ในเวลาเดียวกัน การจัดแคมป์ในครั้งนี้ยังได้เชื้อเชิญครูอีก 9 คน จาก 6 ประเทศข้างต้น มาร่วมเสวนาด้านสิ่งแวดล้อมและทำกิจกรรมกับนักเรียนด้วย เพื่อให้ครูได้นำแนวการเรียนการสอนภาษาเยอรมันกับวิทยาศาสตร์แบบบูรณาการไปประยุกต์ใช้อย่างมีนัยสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรยิ่งขึ้น
โดยตลอดเวลา 9 วันในการเข้าร่วมแคมป์ทั้งในและนอกห้องเรียนของเยาวชนเป็นไปตามความคาดหวังของโครงการ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เด็กนักเรียนทุกคนมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น พร้อมกับเปิดรับประสบการณ์จริงจากการสัมผัสพื้นที่ต่างๆ ที่มีการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถนำกลับมาคิดหรือวิเคราะห์แบบเชื่อมโยงกันเป็นระบบ แล้วสร้างสรรค์เป็นความคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเองแตกต่างกันไป
เกี่ยวกับความคาดหวังของโครงการข้างต้น คุณมาร์คุสได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมในการเข้าร่วมแคมป์ครั้งนี้ ทางโครงการและสถาบันเกอเธ่ คาดหวังอยากให้เด็กนักเรียนทุกคนทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนของเหล่ายุวทูตด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำสิ่งที่ได้รับจากในแคมป์ไปสร้างความคิดใหม่ๆ เพื่อใช้แก้ปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดพันธกิจให้นักเรียนเมื่อเดินทางกลับประเทศแล้ว ต้องส่งวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเองกลับมายังโครงการ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต”
ดังนั้น ไม่ว่าวิธีการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนเหล่านี้ จะสามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริงหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่โครงการ Netzwerk Klima ทำให้พวกเขาได้ก้าวข้ามพรมแดนของภาษา ไปสู่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยศักยภาพตามวัย ก่อนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม