‘การศึกษาฟรี’ ข้อถกเถียง (ด้านเศรษฐศาสตร์) ที่ควรพินิจ
ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นถกเถียงที่สำคัญประเด็นหนึ่งในสังคมคือ การล้างหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งผู้เสนอประเด็นดังกล่าวนี้ยังเสนอต่อไปด้วยว่า รัฐควรจะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ในการพิจารณาว่าการศึกษาควรเป็นบริการที่รัฐจะต้องจัดหาให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ อาจสามารถพิจารณาได้จากหลากหลายมุมมองและหลากหลายวิธีคิด ในบทความนี้จะขอเสนอมุมมองที่ใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์เป็นพื้นฐานในการพิจารณาการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
เมื่อพิจารณาโดยใช้มุมมองทางเศรษฐศาสตร์ “การศึกษา” ถือเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่มีขายอยู่ในตลาด แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือการศึกษาเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างไร เหมือนหรือต่างกับสินค้าอื่นๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เสื้อผ้า บ้าน รถยนต์ หรือเครื่องจักรอย่างไร
การจะตอบคำถามนี้ในทางเศรษฐศาสตร์มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างน้อยใน 4 ประเด็น คือ การเป็น economics goods หรือเป็น free goods การเป็นสินค้าทุนหรือสินค้าบริโภค การเป็นสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกหรือไม่ และหากมีผลกระทบภายนอก ผลกระทบนั้นเป็นบวกหรือเป็นลบ และสุดท้ายการจัดสรรทรัพยากรผ่านตลาดนั้นมีผลดีผลเสียอย่างไร
เริ่มจากการพิจารณาว่า “การศึกษา” เป็น economic goods ไม่ใช่ free goods เพราะการศึกษามีต้นทุนในการผลิตไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างบุคลากรทางการศึกษา ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสถานที่ ค่าใช้จ่ายสำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอน รวมถึงค่าสาธารณูปโภคต่างๆ มากมาย เมื่อการศึกษาเป็น economics goods ก็หมายความว่าสังคมจะต้องตระหนักว่าในการผลิตการศึกษานั้นต้องแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรในสังคม
ในทางเศรษฐศาสตร์ ทรัพยากรเป็นสิ่งที่มีอยู่จำกัด จึงมีความจำเป็นต้องพิจารณาวิธีจัดสรรอย่างรอบคอบเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเมื่อสังคมนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ประโยชน์ในทางหนึ่งทางใด ก็ย่อมหมายความว่าสังคมจะเสียโอกาสในการนำทรัพยากรนั้นไปใช้ประโยชน์ในทางอื่น
ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาคือ การศึกษาเป็นสินค้าทุนหรือสินค้าบริโภค ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์สินค้าทุนหมายถึงสินค้าที่ผู้ซื้อไม่ได้ซื้อหามา เพราะต้องการความพอใจจากสินค้านั้น แต่ซื้อสินค้านั้นมาเพราะต้องการใช้สินค้านั้นเป็นเครื่องมือในการผลิตสินค้าอื่นเพื่อนำไปขายทำกำไร
ตัวอย่างที่สำคัญของสินค้าทุนก็คือ เครื่องจักรหรือเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ ดังนั้น การศึกษาจึงถือเป็นสินค้าทุนไม่ใช่สินค้าบริโภค เพราะเกือบทั้งหมดของผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่างมีเป้าหมาย เพื่อจะนำความรู้หรือไม่ก็ปริญญาบัตรไปใช้เพื่อประกอบอาชีพหารายได้
แน่นอนว่าก็จะมีคนส่วนน้อยมากๆ ที่เลือกมาเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อความพอใจของตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ ซึ่งในแง่นี้ก็จะพิจารณาได้การศึกษาสามารถเป็นสินค้าบริโภคได้ด้วยเช่นกัน
ประการที่สาม เศรษฐศาสตร์พิจารณาว่า การศึกษาเป็นสินค้าที่จะสร้างผลกระทบภายนอก ซึ่งหมายความว่าการบริโภคสินค้าบางชนิดไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือความพอใจกับผู้ที่บริโภคสินค้านั้นโดยตรง แต่ยังเกิดผลในทางบวกหรือในทางลบกับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย เรียกผลนั้นว่าผลกระทบภายนอก
ในทางทฤษฎีจึงถือว่าการศึกษาเป็นสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกเป็นบวก เพราะแม้ว่าผู้เข้าศึกษาจะมีเป้าหมายเพื่อนำความรู้และใบปริญญาไปทำงานเพื่อหาประโยชน์ส่วนตัว แต่ความรู้ความสามารถรวมถึงทักษะในการคิดการวิพากษ์ที่บุคคลนั้นได้รับจากการศึกษาเล่าเรียนก็จะช่วยทำให้บุคคลกลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ที่จะไปช่วยพัฒนาสังคมจนเกิดประโยชน์กับผู้อื่นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำด้วยว่าการศึกษาจะเป็นสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกเป็นบวกก็ต่อเมื่อสินค้าที่เรียกว่า “การศึกษา” นั้นจะช่วยทำให้ผู้เรียนกลายเป็นคนที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีทักษะทั้งในวิชาการและในการใช้ชีวิตในฐานะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
ประการสุดท้าย การจัดสรรทรัพยากรผ่านตลาดนั้นจะเกิดผลดีในแง่ที่ว่าทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในสังคม จะถูกนำมาจัดสรรเพื่อผลิตสินค้า (ที่เรียกว่าอุปทาน) ตามความต้องการของคนในสังคมที่แสดงผ่านอุปสงค์ ทรัพยากรจะไม่ถูกนำมาใช้มากเกินกว่าที่สังคมต้องการ เพราะหากผู้ผลิตนำทรัพยากรมาผลิตมากเกินไปจะก่อให้เกิดสินค้าล้นตลาดและราคาของสินค้านั้นก็จะตกต่ำลง จนเป็นสัญญาณให้ผู้ผลิตลดการผลิตลงจนเข้าสู่ระดับการผลิตที่เหมาะสม
ในขณะที่ข้อเสียของตลาดก็คือ กระบวนการดังที่กล่าวมานั้นจะให้ความสำคัญหรือให้ความสนใจเฉพาะกับความต้องการของผู้คนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งวิชาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าอุปสงค์มีผล ซึ่งแปลเป็นภาษาง่ายๆ ได้ว่าความต้องการของผู้ซื้อที่มีเงินพอที่จะซื้อสินค้านั้น ดังนั้น ผู้ที่มีเงินไม่พอก็จะไม่สามารถเข้าถึงสินค้าชนิดนั้นได้
ด้วยข้อจำกัดของตลาดดังกล่าว รัฐจึงทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาว่าการให้บริการบางประเภท เป็นสิ่งที่รัฐจะต้องเข้าไปเป็นผู้จัดสรร เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถที่จะเข้าถึงได้ เช่น การรักษาพยาบาล เพราะหากปล่อยให้การรักษาพยาบาลเป็นสินค้าที่จัดสรรผ่านตลาดเท่านั้น ก็แน่นอนว่าจะต้องมีผู้คนมากมายเสียชีวิตเพราะไม่มีเงินพอที่จะจ่ายเพื่อซื้อสินค้าชนิดนี้
จากทั้งหมดที่กล่าวมา จึงมีประเด็นให้ผู้สนับสนุนให้รัฐจัดการศึกษาฟรีต้องขบคิดต่อดังนี้
- ในฐานะที่การศึกษาเป็น economics goods จะต้องทำอย่างไรให้การศึกษาถูกผลิตในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำทรัพยากรมาใช้ผลิตการศึกษามากจนเกินไป จนกระทั่งไปกระทบกับการผลิตสินค้าอื่นที่จำเป็น
- ในฐานะที่การศึกษาเป็นสินค้าทุนซึ่งผู้บริโภคย่อมจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ส่วนตัวโดยตรงจากการศึกษา รัฐควรมีมาตรการอย่างไรเพื่อดึงเอาประโยชน์นั้นกลับคืนสู่สังคมอย่างเหมาะสม
- ในฐานะที่การศึกษาเป็นสินค้าที่มีผลกระทบภายนอกเป็นบวก จะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้หลักสูตรการศึกษาต่างๆ ที่จะถูกผลิตขึ้นมีคุณภาพดีเพียงพอที่จะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ ได้รับทักษะที่จำเป็นต่อการนำไปประกอบอาชีพและการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม
หากกลุ่มผู้สนับสนุนการศึกษาฟรีมีคำตอบหรืออย่างน้อยก็มีพื้นที่สำหรับการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ เชื่อแน่ว่าการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และนำพาสังคมไปสู่เป้าหมายที่พึงปรารถนาได้