"หลักสูตร Set SE101" สร้างคนรุ่นใหม่สู่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม

"หลักสูตร Set SE101" สร้างคนรุ่นใหม่สู่ผู้ประกอบการเพื่อสังคม

ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วขึ้น เนื่องด้วยศักยภาพเทคโนโลยี นวัตกรรมการสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่ที่ออกแบบวิถีชีวิตแตกต่าง และโลกที่หมุนเร็วดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายมากมาย "ระบบการศึกษา" มีส่วนสำคัญมากในการสร้างทุนมนุษย์ให้พร้อมรับมือกับทุกบริบทการเปลี่ยนแปลง

ความร่วมมือ “โครงการ SET Social Impact SE101 @University” หรือ “โครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคม ในระดับอุดมศึกษา" ระหว่างภาคการศึกษา และภาคเอกชน  การเรียนรู้ใหม่ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้นำในสังคมสร้างคุณค่าเพื่อการอยู่ร่วมกัน  

โครงการดังกล่าว สร้างทุนมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะรอบด้าน ทั้งทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทักษะในการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม และมีความพร้อมเข้าใจคุณค่าของความยั่งยืน  

  • SET Social Impact SE101@University สร้างผู้ประกอบการทางสังคม

นพเก้า สุจริตกุล  ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้มุ่งมั่นและส่งเสริมเรื่องของความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำหนดกรอบกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ใน 5 มิติ คือ การบริหารองค์กรอย่างยั่งยืน  การสร้างคุณค่าตลาดทุน การพัฒนาบุคลากรด้านตลาดทุน  การพัฒนาดูแลสังคม และการจัดการสิ่งแวดล้อม

โดยในมิติการพัฒนาดูแลสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯได้สร้างแหล่งความรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยอย่างทั่วถึง รวมถึงการเป็นแหล่งพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการสร้างแพลตฟอร์มให้ทุกภาคส่วนได้เชื่อมโยงมีความร่วมมือพัฒนาสังคม สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนเพื่อสุขภาพชีวิตที่ดีแก่คนไทยทุกคน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการในการส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงความรู้ทางการเงินมาตลอด 20 ปี โดยได้พัฒนารูปแบบกระจายไปสู่ประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่เยาวชน นักศึกษา คนทำงานในทุกสาขาอาชีพ  ผู้ประกอบการ และผู้เกษียณวัย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร และเครือข่ายด้านการศึกษาอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอดผ่านช่องทางการเรียนรู้ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ มีการพัฒนาสื่อที่ทันสมัย เช่น Happy Money App เป็นต้น”นพเก้า กล่าว

 

  • คนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ นอกจากความรู้ทางการเงินแล้ว ยังมีการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น SME ผ่านหลักสูตร e - Learning หรือหลักสูตรออนไลน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมฐานราก รวมถึงการพัฒนาทักษะเพื่อสังคมโดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการ ดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมและประเทศอย่างแข่งแกร่ง

สำหรับ ในปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน การลงทุน และส่งเสริมความยั่งยืนด้านสังคม สิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากร นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น  

นำร่องดำเนินงานกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคม จัดทำรายวิชาผู้ประกอบการทางสังคม เป็นวิชาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน อันนำไปสู่การสร้างคนรุ่นใหม่เป็นผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้เติบโตและยั่งยืน สอดคล้องกับหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป ที่ต้องมีความรู้  ทักษะ จริยธรรม และเจตคติ อีกทั้งวิชาดังกล่าวเป็นการวางแผนเส้นทางอาชีพที่สนใจอาชีพสายความยั่งยืน หรือเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมในอนาคต

เนื้อหาผู้ประกอบการทางสังคม ประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) Goal โมเดลธุรกิจในการแก้ไขปัญหาสังคม การวัดผลลัพธ์ทางสังคม  และการสร้างแผนธุรกิจในเบื้องต้น 

 

 

  • เรียนรู้แบบ Active Learning  สอนแบบมีส่วนร่วม

โดยจะเริ่มถ่ายทอดให้นักศึกษาในภาคการศึกษา หน้าในลักษณะ Active Learning   หรือการสอนแบบการมีส่วนร่วม ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯจะส่งเสริมเทรนนิ่งเดอะเทรนเนอร์ให้แก่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สนใจ พร้อมจัดทำคู่มือการสอน และรูปแบบการสอนที่อาจารย์สามารถเข้าถึงและเลือกนำไปเป็นสื่อการสอนให้แก่นักเรียนได้

ด้วยความพยายามและมุ่งมั่นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  โครงสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมส่งเสริมภาคการศึกษาไทย

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ “SET SDG4 Equality  Education:ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ หัวใจเพื่อสังคม” ว่า การศึกษาเป็นวิถีในช่วงชีวิตของทุกคน ด้วยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ส่งต่อการเรียนรู้ของคนในทุกวัย การศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญในถูกกำหนดในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือเป็นเป้าหมายต้นทางในความสำเร็จการพัฒนาคน ที่จะช่วยลดความยากจน ความอดอยาก สุขภาวะที่ดี และความเท่าเทียมกันทางเพศ

“แม้พันธกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ในมิติด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การระดมทุนแต่ได้มีการดำเนินการคู่ขนานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของด้านตลาดทุน บนสมรรถนะของคนไทย อ่านออกเขียนได้ทางการเงิน ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และขยายส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพในด้านธุรกิจ ทั้งด้านธรรมาภิบาล การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นโยบายเหล่านี้เป็นผลตั้งใจให้ตลาดทุนได้ร่วมการพัฒนาทุนมนุษย์ เพราะศักยภาพในการพัฒนาประเทศจะมาจากการขับเคลื่อนของคนไทยชาติ” ดร.ศรพล กล่าว  

โครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญในการร่วมมือกับภาครัฐ และเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งชาติ  คลังสมองแห่งชาติ และมูลนิธิหัวใจอาสา ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ค้นพบศักยภาพของตนเอง จุดประกายเป็นผู้นำ บนฐานความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน   ดังนั้น หวังว่าเครื่องมือนี้จะเป็นคานงัดสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

  • มหาวิทยาลัยพื้นที่สำหรับคนทุกวัน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดอว. ปาฐกถาพิเศษ “ปฎิรูปการศึกษา เพื่อไทยก้าวไปข้างหน้าไ  ในวาระเปิดโครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา SE@GE ภายใต้โครงการ SET SE101@University ว่าภารกิจของอว.หลักๆ จะมี 2 เรื่อง คือการพัฒนากำลังคนขั้นสูง และการสร้างความเป็นเลิศ  ซึ่งโจทย์สำคัญการพัฒนากำลังคนของประเทศ เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยในกำกับอว.ประมาณ 150 แห่ง

"ภารกิจของมหาวิทยาลัย คือการพัฒนาบัณฑิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ดังนั้น มหาวิทยาลัยในอนาคต ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคน 18-22 ปีเหมือนในอดีต แต่จะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัย และได้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย"ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

ปรัชญาอุดมศึกษา คือ อุดมศึกษาไทย ต้องมุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัยให้มีสมรรถนะที่จำเป็น และรองรับสังคม เทคโนโลยีที่ดิสรัปชั่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล  และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งคานงัดที่สำคัญ คือ การสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคนต้องทำร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เช่นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนอย่างใกล้ชิด

หลักสูตร  SE101 จะเป็นการเรียนรู้ธุรกิจเพื่อสังคมเบื้องต้นและแนวทางการบริหารหลักสูตร Advisory Services คำปรึกษาในการออกแบบหลักสูตร กิจกรรม และการสอนในทุกระดับ Training-the-Trainer อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่คณาจารย์ และ Learning with Expert สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ในความรู้ที่เกี่ยวข้อง การเรียนรู้ดูงาน และกิจกรรมพิเศษ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นหลักสูตรให้แก่นิสิต นักศึกษา ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป

“ถ้าต้องการให้อุดมศึกษาไทยพัฒนา โจทย์การพัฒนาคนจะไม่ได้อยู่ที่ว่ามหาวิทยาลัยอยากสอนอะไร แต่หลักสูตรต้องสร้างร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม  และชุมชน  ซึ่งหลักสูตร SE101 จะเป็นการสร้างคุณภาพชีวิตของคน และการจะทำให้เกิด Social enterprise ต้องเป็นการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่มหาวิทยาลัยคิดหลักสูตร SE101 เอง แต่เป็นการดำเนินการร่วมกันของหลายภาคส่วน” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

  • ปรับโฉมหลักสูตรมหาวิทยาลัย เกณฑ์ใหม่เกิดCorporate College

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวต่อไปว่าการพัฒนากำลังคน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา คือ การทำอย่างไร?ให้หลักสูตรในมหาวิทยาลัยเป็นหลักสูตรที่สร้างร่วมกันในการใช้พัฒนาบัณฑิต ซึ่งเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ 2565 ที่ได้ประกาศใช้เมื่อ 27 ก.ย.2565 โดยเกณฑ์ดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับปรัชญาอุดมศึกษา ทำให้หลักสูตรที่เกิดขึ้นเป็นหลักสูตรที่ถูกสร้างร่วมกันของภาคเอกชน ชุมชน เพื่อพัฒนาคนตอบโจทย์กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี หรือเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ 2565 จะมีการให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยกำหนดองค์กรร่วมผลิตกับมหาวิทยาลัย  เช่น หลักสูตร SE101  ให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรร่วมผลิตกับมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยจะสามารถใช้บุคลากรของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยได้ ทำให้การพัฒนาคนตอบโจทย์กับภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มากขึ้น  รวมถึงยังเปิดโอกาสให้คนในภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคมสามารถเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น  เป็นต้น

"บนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ เราอยากให้เกิด Corporate College ในมหาวิทยาลัย  คือ มหาวิทยาลัยมีโครงสร้างพื้นฐาน และทำอะไรได้มาก และโครงสร้างพื้นฐานไม่ควรจำกัดเฉพาะการเรียนการสอนมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิม ถ้าเราสร้างสิ่งเหล่านี้เราจะเปลี่ยนมิติการพัฒนากำลังคน"ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว 

  • โลกอนาคตปริญญาไม่ใช่คำตอบ  ทักษะของผู้เรียนเป็นคำตอบ

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น คลังหน่วยกิตแห่งชาติซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 เช่นเดียวกัน เป็นประกาศที่ล้ำยุคและพยายามทำให้เกิดสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ทุกวิชาในมหาวิทยาลัยสามารถเรียนเป็นคลังหน่วยกิตได้ และใครก็เป็นผู้เรียนในระบบคลังหน่วยกิตได้ทุกช่วงวัย

"โลกอนาคตปริญญาอาจจะไม่ใช่คำตอบ สิ่งที่เป็นคำตอบ คือ ทักษะของผู้เรียน ซึ่งหน่วยกิตไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่จะมาจากเทรนนิ่ง เช่น หลักสูตรของ SET  หลักสูตรของ Google  และมาจากประสบการณ์การทำงาน  การบริหารจัดการหลักสูตรขึ้นอยู่กับการออกแบบของสภามหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม  ไม่ว่าจะเปลี่ยนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร หรือมีคลังหน่วยกิตที่ดีก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้ามีอว.เป็นเพียงผู้ออกหลักเกณฑ์อย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย และผู้ใช้บัณฑิตมาทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน ในการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ"ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว