3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน "การศึกษา" สร้างโอกาส สร้างงาน

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน "การศึกษา" สร้างโอกาส สร้างงาน

"อาชีวศึกษา" ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในการผลิตกำลังคน ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ แต่ประเด็นสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เยาวชน เข้าถึงระบบการศึกษา และพัฒนาได้อย่างตรงจุด เพื่อสร้างคน สร้างโอกาส สร้างงาน

"การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้อยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สร้างอาชีพให้กับชุมชน" น้องนิ้ง นางสาวเกษณี พิทักษ์ถาวรกุล นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง และทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ เด็กสาวชนเผ่าละว้า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการศึกษา ที่ช่วยจุดประกายและต่อยอดความฝัน หลังจากได้รับทุนจาก "โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายในงานประชุมวิชาการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2565 

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

จากดอย คืนสู่ดอย


น้องนิ้ง เล่าว่า ตนเองเป็นชนเผ่าละว้า ซึ่งมีภาษาพูด วัฒนธรรม และเอกลักษณ์การแต่งกายพ่อได้รับการศึกษาสูงสุดในระดับป.4 จากครูอาสาที่เข้ามาพัฒนาความเป็นอยู่ในชุมชน แต่สำหรับแม่ไม่ได้รับการศึกษา เนื่องจากที่บ้านมีความเชื่อว่า ผู้หญิงไม่ต้องเรียนก็ได้ แต่งงานไปก็ต้องอยู่บ้านผู้ชาย เกิดคำถามว่าทำไมต้องมีความคิดแบบนี้ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีศักยภาพและเอกภาพของตนเอง

 

"ในยุคปัจจุบันโชคดีที่ความเชื่อเหล่านั้นได้หายไปทำให้เราได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยระดับอนุบาล – ป. 6 ได้เรียนในโรงเรียนของชุมชน จนจบ ป.6 ได้มีโอกาสศึกษาต่อในโรงเรียนต่างหมู่บ้าน โดยอาศัยกับคุณลุงและคุณป้า และหลังจากจบ ม.3 เห็นว่าเพื่อนหลายคน มีโอกาสได้เรียนต่อทั้งด้านสายอาชีพและสายสามัญ และเพื่อนอีกหลายคนที่ไม่ได้เรียนต่อ" 

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

"ที่บ้านประกอบอาชีพเกษตรกรปลูกผัก และเป็นการหารายได้ทางเดียวทั้งหมู่บ้าน บางครั้งถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้เราตั้งเป้าหมายว่าอยากจะกลับไปพัฒนาอาชีพที่บ้าน ในการเลือกเรียนสายอาชีพ สายสัตวศาสตร์ เพื่อนำอาชีพด้านสัตวศาสตร์ไปพัฒนาคนในหมู่บ้าน ให้มีอาชีพที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น มีรายได้มากหลายช่องทาง" 

 

เรียนรู้ และหารายได้


น้องนิ้ง ได้เข้ามาศึกษาในระดับ ปวช. ในตัวเมืองเชียงใหม่ การมาอยู่ในตัวเมืองคนเดียวในวัย 16 ปี ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เวลาทำให้สามารถปรับตัวเอง เข้าหาคนอื่นได้มากขึ้น และสามารถใช้เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ในการทำงานหารายระหว่างเรียนได้เงินชั่วโมงละ 30-50 บาท จากเดิมที่เคยทำงานช่วยพ่อแม่ได้เพียงวันละ 20-30 บาทเท่านั้น

 

"การทำงานในแต่ละครั้งทำให้เราออมเงินและซื้อของขวัญให้กับตัวเอง ของขวัญชิ้นแรกที่เราได้ คือ โทรศัพท์มือถือ ตลอดระยะเวลาที่เรียน 2 ปี ในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นครั้งแรกที่เรามีโทรศัพท์เป็นของตัวเองและสามารถสื่อสารโทรหาพ่อแม่ได้ทุกวัน เราได้รับกำลังใจจากพ่อแม่ ทำให้มีพลังที่อยากจะเรียนต่อในแต่ละวัน" 

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

ทุน กสศ. ต่อยอดความฝัน

 

น้องนิ้ง เล่าต่อว่า พอจบ ปวช. ตอนแรกตั้งใจว่าจะไม่เรียนต่อแล้ว มองว่าเป้าหมายของเราสูงสุดแล้วจากการได้เรียน ปวช. เรามีประสบการณ์จากการเรียนรู้ในวิทยาลัย แต่วันสุดท้ายที่ได้รับใบจบ ทางวิทยาลัยมีการประกาศประชาสัมพันธ์ ว่ามีกองทุนให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่เรียนดี 50 ทุน และอาจารย์แนะนำให้สมัคร 

 

 

“ตอนนั้นเราโทรหาพ่อแม่ว่ามีทุน จะสมัครดีหรือไม่ หรือว่าจะกลับไปทำงานส่งน้องเรียน พ่อแม่ตอบว่าถ้ามีโอกาสก็เรียนเถอะลูก สิ่งนี้ทำให้ใจเราฟูมากที่จะได้เรียนต่อในระดับ ปวส. และในที่สุดก็ได้รับคัดเลือกใน โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 1 รู้สึกดีใจมาก ที่เราได้มีโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น"

 

วันนี้ขอบคุณตัวเอง และกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ที่ทำให้สามารถทำตามเป้าหมายในการเรียนต่อที่สูงขึ้น ดีใจที่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ที่อยากจะเรียนต่อสายอาชีพมากขึ้น 


“การได้รับทุนนี้ทำให้ขยายความคิดของตัวเองว่า การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้อยากเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด สร้างอาชีพให้กับชุมชน ด้านสายสัตวศาสตร์ นอกจากนี้ ยังได้สมัครเข้าเป็นนักศึกษาทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ และได้รับคัดเลือกเป็น รุ่นที่ 3 จากเด็กชนเผ่า ยากจน ที่มีความคิดในวัยเด็กว่าเราคงไม่มีโอกาสได้เรียน แต่ในวันนี้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นของขวัญพิเศษมาก” น้องนิ้ง กล่าวทิ้งท้าย
 

ทลายทุกข้อจำกัดชีวิต 

 

"หฤษฎ์ ดวงสาย" นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทลายกำแพงข้อจำกัดทางร่างกาย และมุ่งมั่นใช้การศึกษาในการพัฒนาตัวเอง จนปัจจุบันสามารถหารายได้ และมีความฝันต่อไปไม่รู้จบ 

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

จากเด็กทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงปกติ เกิดและเติบโตที่ จ.ชลบุรี เป็นพี่ชายคนโต มีน้องสาวหนึ่งคน และคุณแม่ที่ทำงานที่เทศบาล เขาก็เป็นเด็ก ม.ต้นทั่วไป ที่ชอบวิชาสังคม และคอมพิวเตอร์ จึงเลือกเรียน ปวช. ด้านการฝึกเขียนแบบเครื่องกล เพราะมองว่าสามารถสร้างงาน สร้างรายได้จากความถนัด และพัฒนาต่อยอดได้ อีกทั้ง ลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ จากความชอบถ่ายรูป โดยมีชมรมเล็กๆ เป็นของตัวเอง 

 

กระทั่ง ในช่วง ปวช. 3 ปี 2561 เกิดอุบัติเหตุต้นยางหักร่วงทับ และรู้สึกตัวอีกทีก็อยู่ในห้องไอซียู พบว่า ตนเองต้องผ่าตัดเอากระดูกสันหลังออก เพราะแตกร้าว ทำให้เดินไม่ได้ อัมพาตช่วงล่าง 


 “ตอนนั้นผมยอมรับตัวเองไม่ได้ ผมเองกลายเป็นคนพิการ ติดเตียง อายคน และอิจฉาคนที่เขาเดินได้ จมอยู่กับความโศกเศร้ามา 1 ปีกว่า จนวันหนึ่งเราคิดว่าทนอยู่กับสภาพนี้ไม่ได้แล้ว บังเอิญเห็นคนๆ หนึ่งที่เขาพิการมากกว่าเรา เขาร่างกายอ่อนแรงตั้งแต่กำเนิด แต่สามารถถ่ายรูปสวยๆ แต่งตัว เรียนที่มหาวิทยาลัยได้ แล้วทำไมเราทำไม่ได้ ในเมื่อเรามีแขน มีมือ และมีสมอง"

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

ชีวิตเปลี่ยน แค่เปลี่ยนความคิด

 

หฤษฎ์ เล่าต่อไปว่า ตอนนั้นเริ่มมองว่าต่อไปต้องคิดถึงอนาคตตัวเองบ้าง อยากมีเพื่อน มีสังคม อีกทั้ง คุณแม่ได้รู้จักวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เป็นวิทยาลัยสอนเกี่ยวกับคนพิการให้มีอาชีพ มีงานทำ ช่วงแรกแม้จะยังไม่เต็มใจที่จะไปเรียน เพราะยังรู้สึกอายที่จะสู้หน้าคน แต่เรามองว่า เพื่ออนาคต จึงเลือกเรียน ปวส. เกี่ยวกับหลักสูตรธุรกิจดิจิทัล และ หลักสูตรระยะสั้น เทคโนโลยีเขียนแบบแม่พิมพ์ ต่อยอดจากที่เรียนช่วง ปวช. 


“ตอนเรียนไปได้แค่ 2 วัน ก็เกิดอาการป่วยหนักอีกครั้ง เราต้องหยุดเรียน 3 เดือน ช่วงที่อดีตผู้อำนวยการมาเยี่ยมที่บ้าน ท่านแนะนำทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยเราผ่านเกณฑ์ทั้งฐานะทางบ้าน ผลการเรียน จึงได้รับเลือกร่วมกับเพื่อนๆ อีก 7 คน เป็นนักศึกษาทุนรุ่น 1”


ในช่วงเรียนแรกๆ ต้องตามเพื่อนให้ทันเพราะเรียนช้ากว่าเพื่อน 2 เดือน เราใช้เวลาช่วงปิดเทอมได้ฝึกสร้างโมเดล 3 มิติ ออกแบบโลโก้ และได้เงินมาจุนเจือเป็นรายได้เสริมให้ที่บ้าน และสุดท้าย ก็สามารถเรียนจบด้วยเกรดเฉลี่ย 3.2 

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

ตั้งใจ ทุ่มเท ผลลัพธ์ย่อมดีเสมอ

 

ปัจจุบัน หฤษฎ์ ตัดสินใจรับงานฟรีแลนซ์ที่บ้าน โดยเขากล่าวถึงความฝันว่า อยากเป็นนักออกแบบ กราฟฟิกดีไซน์ นักออกแบบภายใน นอกจากนี้ อยากผลักดันโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับคนพิการทุกกลุ่มในประเทศไทย เพื่อให้เข้าถึงการคมนาคมมากขึ้น

 

"หากถามว่าตอนนี้ผมมีความสุขหรือไม่ เรื่องความสุขตอนนี้ 8 เต็ม 10 เพราะผมเคยเป็นภาระครอบครัว เคยอยู่จุดที่ต่ำที่สุดของชีวิต เคยคิดอยากจะฆ่าตัวตาย แต่ตอนนี้มีทั้งความรู้ มีทักษะ สามารถมีรายได้ ทำในสิ่งที่ชอบไม่เป็นภาระกับครอบครัว ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะพิการ แต่ก็มีความสุขกับสิ่งที่เป็น"

 

"ฝากถึงทุกคนว่า ไม่ว่าจะทำอะไร หากทำด้วยความตั้งใจ ทุ่มเท ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมเต็มที่แน่นอน ไม่ว่าจะความฝันอะไร จะช้าจะเร็วไม่สำคัญ อย่าคิดว่าการทำตามความฝันเป็นเรื่องยาก ถ้าหากเรายังไม่ลงมือทำ" หฤษฎ์ กล่าว 

 

ทำอย่างไร เมื่อชีวิตต้องเลือก 

 

“ตอนนั้นต้องเลือกแล้วว่า จะให้แม่ทำงานคนเดียวแล้วเรียนต่อ หรือต้องไปทำงานจริงจัง”   "เกตุ-นัยนา ปานนอก" นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา ชาว จ.นครนายก บอกเล่าถึงเส้นทางที่ต้องเลือกระหว่างความจริงและความฝัน

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

คุณแม่เกตุ ซึ่งมีอาชีพทำงานรับจ้างทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะปอกมะพร้าวที่โรงมะพร้าว ส่วนพ่อรับจ้างขับรถสิบล้อ ได้ค่าจ้างรายวันพออยู่ได้ เกตุมีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยเกตุเป็นน้องคนสุดท้อง ชีวิตดำเนินตามปกติจนอยู่ ป.4 คุณพ่อเริ่มป่วยเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยเนื่องจากมีโรคประจำตัว คือ หอบหืด 

 

"หลายครั้งที่คุณพ่ออยู่โรงพยาบาลนาน ได้เห็นการทำงานของพี่ๆ พยาบาล คุณหมอทำให้รู้สึกว่าอยากจะเป็นเหมือนที่เขาเป็น อยากจะดูแลคนไข้เหมือนที่พี่เขาดูแลพ่อของเรา ตอนเด็กๆ กินเล่นตามประสาเด็ก ชีวิตตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก จนกระทั่งในคืนหนึ่งหลับไปตามปกติ เช้าตื่นขึ้นมา ทุกอย่างเงียบสงบ ไม่มีเสียงหัวเราะ พ่อไม่ลุกมานั่งข้างเตียงเหมือนทุกวัน วันนั้นเป็นวันที่พ่อเสีย ในช่วงที่เราอยู่ ป.4 แม่จึงเป็นเสาหลักของบ้านตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา" 

 
ด้วยความที่บ้านที่อาศัยเป็นบ้านเช่า ไม่นานก็ต้องย้ายมาอยู่ที่วัดเพราะเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพ่อไปจำนวนมาก ทำให้ขาดส่งค่าเช่าหลายเดือน หลังจากมาอยู่ที่วัด ครอบครัวของเกตุซึ่งขณะนั้น มีเพียงแม่ที่เป็นเสาหลักต้องซื้อไม้และสังกะสีเก่ามาปลูกบ้าน

 

"พอ ขึ้น ม.2 อยากหารายได้ช่วยแม่ ก็ไปเต้นตามงานบวชได้ค่าจ้าง 200 – 300 บาทต่อวัน อาทิตย์ไหนไม่มีงานก็จะไปช่วยแม่ปอกมะพร้าว และช่วง ม.ปลาย ไปทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านสะดวกซื้อ"  

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

ประกาศนียบัตร ผู้ช่วยพยาบาท ประตูสู่ฝัน

 

เกตุ เล่าต่อไปว่า หลังจากจบม.6 เพื่อนเริ่มมีที่เรียน เราอยากมีที่เรียนเหมือนเพื่อนบ้าง จึงสมัครมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ ด้านสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และ วิทยาลัยพยาบาล ตอนนั้นกังวลและปรึกษาพี่ๆ ว่าอยากเรียนต่อ แต่พี่บอกว่าค่าใช้จ่ายสูง ทั้งอุปกรณ์และระยะเวลาค่อนข้างนานกว่า 4 ปี

 

"เราเก็บมาคิด เพราะแม่อยากให้เรียนต่อสูงๆ ระหว่างนั้น ในวิชาแนะแนว ได้บอกกับครูว่าอยากเรียนต่อพยาบาล ครูจึงแนะนำทุนของ กสศ. แต่เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล ตอนนั้นไม่ลังเลที่จะยื่นสมัคร โดยมีครูแนะแนวช่วยดำเนินการเรื่องเอกสาร และต้องสอบสัมภาษณ์ผ่านออนไลน์เนื่องจากเป็นช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก กระทั่งถึงเวลาประกาศผล และได้ทราบว่าได้ทุนเรียนต่อ หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล มหาวิทยาลัยบูรพา" 

 

สานต่อความฝัน "พยาบาล"


ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาที่เรียน เกตุ เล่าว่ามีความสุขมาก แม้จะมีเรื่องเครียดบ้างในการเรียนทฤษฎี ซึ่งต้องท่องจำ และในช่วงฝึกงานที่อาจจะโดนดุบ้าง เพราะเป็นมือใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้ทำให้ได้กลับมาพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น

 

ปัจจุบัน เกตุทำงานในสังกัดเอกชน มีรายได้ มีอาชีพ และเลี้ยงดูครอบครัวได้ โดยความฝันในตอนนี้ คือ การซื้อบ้านให้แม่ เพื่อให้ครอบครัวมีบ้านเป็นของตนเอง และเดินหน้าเรียนต่อ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

 

"1 ปีที่ได้รับทุนจาก กสศ. ผู้ช่วยพยาบาล อาจไม่ได้เป็นฝันแรก แต่เป็นที่ๆ ได้พักวางความฝัน ตั้งหลักชีวิต รอวันที่ตนเองพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้ต่อ ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องทุกคนที่มีความฝัน เชื่อว่าทุกคนมีความพยายาม มีความฝัน และสามารถทำให้ความฝันของทุกคนเป็นจริงได้" เกตุ กล่าว

 

3 แนวคิดและจุดเปลี่ยน \"การศึกษา\" สร้างโอกาส สร้างงาน

 

 

ทุน กสศ. สร้างอาชีพ รับอุตสหากรรม

 

อนึ่ง "โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง" ของ กสศ. ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 สร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ที่คัดเลือกโดยสถานศึกษาอย่างมีส่วนร่วม มีจำนวนนักศึกษาทุนสะสมทั้งหมด 9,614 คน เป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ 300 กว่าคน สำเร็จการศึกษาแล้ว 3,056 คน

 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กสศ. เปิดรับสมัครผู้รับทุนการศึกษา ปีการศึกษา 2566 จำนวน 2,500 ทุน เข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาอาชีวศึกษา วิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและอื่นๆ ที่เปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. อนุปริญญา และ ประกาศนียบัตร 116 แห่ง ใน 44 จังหวัด รวมกว่า 30 สาขา

 

สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานระดับประเทศและท้องถิ่น เช่น สาขาเครื่องกล สาขาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาเทคนิคการผลิต สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก สาขาอุตสาหกรรมเกษตรศาสตร์ และมีงานทำทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา

 

“โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เป็นแฟล็กชิพของ กสศ. ที่เป็นส่วนหนึ่งโอกาสทางการศึกษาสำหรับครอบครัวที่มีรายได้น้อย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 9 ที่ต้องการให้เด็กเยาวชนไทยหลุดจากกับดักความยากจน และกับดักรายได้ปานกลาง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะเยาวชนไทยไม่แพ้ใครในโลก หากเราพัฒนา มุ่งมั่น สนับสนุน ผลักดัน เยาวชนที่ขาดโอกาสไปสู่ทางสายอาชีพ จะช่วยให้เขาหลุดจากกับดักความยากจน ไม่เพียงมีรายได้ปานกลางแต่สามารถไปสู่รายได้สูงในอนาคต” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว

 

นอกจากนี้ กสศ. ยังดำเนินการพัฒนาตัวแบบสถานศึกษานวัตกรรมจำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย

  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
  • วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน
  • วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี
  • วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา
  • วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)
  • วิทยาลัยเทคนิคพังงา

 

7 สาขาพัฒนาสถานศึกษานวัตกรรม 

  • เทคโนโลยีการบริการฐานวิทยาศาสตร์
  • เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรฐานวิทยาศาสตร์
  • เทคนิคควบคุมและซ่อมบํารุงระบบขนส่งทางราง
  • อิเล็กทรอนิกส์
  • แมคคาทรอนิกส์
  • เตรียมวิศวกรรมศาสตร์
  • คอมพิวเตอร์กราฟิก

 

กระจายใน 8 จังหวัด

  • กรุงเทพมหานคร
  • เชียงใหม่
  • เชียงราย
  • ลำพูน
  • ตาก
  • สิงห์บุรี
  • พระนครศรีอยุธยา
  • พังงา

 

"โดยเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาสถานศึกษาตัวแบบ ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ ผ่านการร่วมมือร่วมทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐในการพัฒนาสถานศึกษาตัวแบบ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน) และบริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นต้น"