ยุคทองของครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีต้องมาถึง | ภาวิณี โสธายะเพ็ชร
ยุคนี้…ใครบอกว่าครูสอนการงานอาชีพและเทคโนโลยีไม่สำคัญ!! ยุคทองของครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีต้องมาถึง
โดยเราจะคุ้นชินกับคำว่า ทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) และทักษะข้ามสายพิสัย (Transversal Skills) ซึ่งมีอิทธิพลในวงการการศึกษาเกินกว่าทศวรรษในหลาย ๆ ประเทศทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย ฯลฯ
เค้าลางของความสำคัญในการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะให้กับตัวนักเรียนเริ่มจะมีแนวโน้มที่เด่นชัดขึ้นภายหลังจากการเกิดสถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะของประเทศที่แต่เดิมจะประกาศใช้เป็นหลักสูตรแกนกลางชาติในปี 2567 เกิดขึ้นอย่างไล่เลี่ยในเวลาใกล้เคียงกัน
การสอนของครูที่เน้นให้นักเรียนได้ตัวเนื้อหาสาระ (Content) ตลอดทั้งเทอมเพื่อสู่การวัดและประเมินผลนักเรียนในปลายภาคเรียนด้วยแบบทดสอบที่เน้นการท่องจำที่มีมาเนิ่นนาน เริ่มไม่ใช่วิถีแห่งการพัฒนาความเป็นตัวตนของนักเรียน
และความเป็นพลเมืองของชาติอีกต่อไป เพื่อสอดรับกับการเข้าสู่โลกแห่งเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลในทุกด้านของการดำเนินชีวิตของมนุษย์
การมีความรู้อย่างเดียวคงไม่สามารถเพียงพอต่อการดำเนินชีวิตให้รอดได้ในโลกยุคใหม่ จึงจำเป็นต้องมีทั้งทักษะ เจตคติ และลักษณะเฉพาะส่วนบุคคลที่ผสมผสานอย่างเข้ากันเพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขด้วยเช่นกัน
หากนักเรียนเป็นคนเก่งแต่เมื่อจบการศึกษาออกมาใช้ชีวิตแล้วไม่สามารถรับมือหรือเผชิญกับปัญหารอบ ๆ ตัวที่พบเจอได้ นั่นถือว่าเป็นการสะท้อนผลของระบบการศึกษาที่ล้มเหลวได้ประการหนึ่ง
จากที่เกริ่นมาข้างต้นใครจะคิดว่า ยุคทองของครูในยุคนี้และในอนาคต คือ ครูการงานอาชีพและเทคโนโลยี ทำไมล่ะ!!! หลายคนคงมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องยกให้ครูการงานฯ ผู้เขียนจะอธิบายให้ฟังดังนี้ เราทราบกันดีในแวดวงการศึกษาว่า การจัดการเรียนการสอนในอีกไม่กี่ปี กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิด “สมรรถนะ”
ซึ่งสมรรถนะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ นักเรียนนำเอาความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ได้เรียนมา นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริงได้ เช่น นักเรียนสามารถพูดบอกทางแก่ชาวต่างชาติได้
การประดิษฐ์คิดค้นอะไรบางอย่างเพื่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม จะเห็นได้ว่า การสอนที่มุ่งเน้นการเกิดสมรรถนะมีแนวโน้มที่นักเรียนสามารถนำเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริงได้ดีกว่าการสอนที่มุ่งเน้นเนื้อหาสาระ
ทีนี้ทำไมถึงกล่าวว่า “ยุคทองของครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีต้องมาถึง” เพราะว่า การสร้างสรรค์หรือการผลิตคิดค้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นผลมาจากงานฝีมือ งานช่าง งานแกะสลัก งานร้อยมาลัย งานใบตอง งานเย็บผ้า ฯลฯ
ล้วนแล้วเป็นผลสะท้อนจากการคิดอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจนด้วยการใช้ความรู้ ทักษะ และทัศนคติ มาผสมผสานกันอย่างขาดไม่ได้
เช่น หากมีทักษะเย็บผ้าดีมาก แต่ขาดความรู้เกี่ยวกับการประกอบตัดเย็บเป็นกระโปรงชุด หรือ เป็นคนไม่ชอบงานเย็บผ้า ก็ไม่สามารถสร้างสรรค์ชุดสวย ๆ ออกมาได้ เป็นต้น
ขณะนี้ในประเทศฟินแลนด์ ประเทศซึ่งถือว่ามีเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้าติดอันดับโลก เริ่มให้ความสำคัญกับวิชาที่เป็นงานช่างงานฝีมือต่าง ๆ แล้วตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา โดยใช้ชื่อวิชาว่า Crafts Subject ซึ่งถูกบรรจุเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรชาติของฟินแลนด์มาเป็นเวลายาวนาน และฟินแลนด์ก็คือฟินแลนด์อยู่วันยังค่ำ
ได้จับจุดเด่นของการมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและการดีไซน์ต่าง ๆ ติดอันดับโลกของตัวเอง เช่น สถาปัตยกรรมแบบ อัลวา อัลโตะ, ผ้าลายมารีเมกโกะ, เครื่องแก้วอิตตาล่า ฯลฯ
นำมาพัฒนาแนวคิดเรื่องของ Invention Pedagogy สำหรับนักการศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ ครู และอาจารย์ในประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนร่วมกันให้เกิดการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ด้วยตัวเอง
นอกจากเกิดสมรรถนะเกิดอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังมีผลพลอยได้เป็นรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับนักเรียนและโรงเรียนได้อีกทางหนึ่งด้วยแทีนี้เห็นแล้วหรือยังว่า ครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีมาจริงในยุคนี้และต่อ ๆ ไป
หากบ้านเราจับจุดให้ได้หาวิธีการสนับสนุนส่งเสริมและให้กำลังใจครูการงานอาชีพและเทคโนโลยีที่เคยอยู่ในมุมมืด ได้ออกมาเดินเฉิดฉายบนพรหมแดงเหมือนกับครูวิชาอื่น ๆ บ้าง
ผู้เขียนรับรองว่า “Amazing Thailand” เกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาอย่างจริงแท้แน่นอน หากคราวหน้าผู้เขียนมีโอกาสจะมานำเสนอแนวคิด Invention Pedagogy อย่างลึกซึ้งต่อไป เพราะแนวคิดนี้ใหม่ถอดด้ามจริง ๆ ขอบอก