ความหมายและที่มาคำไทย | วรากรณ์ สามโกเศศ
มาตรฐานของภาษาไทยในเรื่องการใช้ภาษา ความหมายของคำศัพท์ ที่มาของวลี ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นการทำให้เกิดการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ทุกคนอ่านแล้วเกิดความชัดเจนในเนื้อหาของกฎหมาย สัญญาหนังสือ คำรับรอง บันทึก ฯลฯ ราชบัณฑิตยสถานของไทยได้ทำหน้าที่มายาวนานอย่างดียิ่ง
ข้อความอธิบายคำและวลีต่อไปนี้มาจากหนังสือ “รู้รักภาษาไทย” ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2552)
“องค์การ” และ “องค์กร” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า organization หมายถึง หน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายร่วมกันและดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างมีขั้นตอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง
สองคำนี้ถึงแม้จะมีความหมายหลักเหมือนกันและอาจใช้แทนกันได้ในบางกรณี แต่มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง คือคำว่า “องค์การ” มักปรากฏร่วมกับคำอื่นและใช้เป็นชื่อเรียกหน่วยงาน
เช่น องค์การพัฒนาเอกชน องค์การเภสัชกรรม องค์การสะพานปลา องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์การคลังสินค้า
ส่วนคำว่า “องค์กร” มักใช้ในความหมายทั่วไปมากกว่า “องค์การ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมักหมายถึงตัวหน่วยงานขององค์การหนึ่งๆ
เช่น หน่วยงานนี้กำลังปรับโครงสร้างการบริหารของ “องค์กร” เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายในอนาคต การแต่งตั้งผู้บริหารต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดกับ “องค์กร”
“ระบบ” และ “ระบอบ” ต่างก็เป็นศัพท์บัญญัติ คำว่า “ระบบ” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า system และคำว่า “ระบอบ” ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า regime “ระบบ” หมายถึง กลุ่มของสิ่งซึ่งมีลักษณะประสานและสัมพันธ์สอดคล้องกันตามลักษณะของธรรมชาติ หรือหลักเหตุผลทางวิชาการ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบการบริหารประเทศ เครื่องจักรทำงานเป็นระบบ
ส่วน “ระบอบ” หมายถึง รูปแบบการปกครองประเทศ เช่น ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันที่จริงคำว่า “ระบบ” และ “ระบอบ” มีใช้มาแต่โบราณมีความหมายเหมือนกันว่า “ธรรมเนียม” หรือ “อย่างธรรมเนียม”
“จับกัง” และ “กุลี” เป็นคำเรียกกรรมกรแบกหามชาวจีน หรือคนไทยที่ทำงานกับคนจีน กรรมกรแบกหามงานหนักอย่างนี้บางคนเรียกว่า “กุลี” บางคนเรียกว่า “จับกัง” คำว่า “จับกัง” เป็นคำจากภาษาจีนแต้จิ๋ว
แปลว่างานสิบอย่าง “จับกัง” หมายถึง ผู้ที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง แต่มักเน้นงานที่ต้องใช้กำลังกายหรืองานช่าง ปัจจุบันมักเข้าใจว่าจับกังเป็นกรรมกรแบกหามเท่านั้น
ส่วนคำว่า “กุลี” เป็นคำมาจากคำภาษาอังกฤษว่า coolie เป็นคำภาษาอังกฤษที่รับมาจากคำว่า guli (กุ-ลิ) ในภาษาฮินดีอีกทอดหนึ่ง guli เป็นคำที่สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า goli (โก-ลิ) ซึ่งเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่งหรือวรรณะหนึ่งในแคว้นคุชราช เป็นพวกที่รับจ้างทำงานขนถ่ายสิ่งสกปรกที่น่ารังเกียจ
“ฉับพลัน” กับ “เฉียบพลัน” เป็นคำประสมที่คล้ายกันแต่มีความหมายต่างกัน “ฉับพลัน” ประกอบด้วยคำว่า “ฉับ” หมายถึงเร็วกับคำว่า “พลัน” หมายถึง ทันที “ฉับพลัน” มีความหมายว่าทันทีทันใดหรือทันทีทันควัน
เช่น พายุโซนร้อนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ต้องเตรียมอพยพราษฎรไปอยู่ที่ปลอดภัย ผู้นำที่ดีต้องตัดสินใจอย่างฉลาดแน่วแน่และฉับพลันจึงจะแก้ไขวิกฤตการณ์ได้
ส่วนคำว่า “เฉียบพลัน” ประกอบด้วยคำว่า “เฉียบ” แปลว่าจัดหรือรุนแรงกับคำว่า “พลัน” ดังนั้น “เฉียบพลัน” จึงหมายถึงเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงมาก เป็นคำที่ใช้กับโรคหรืออาการเจ็บป่วย มีความหมายตรงข้ามกับคำว่าเรื้อรัง
เช่น อาการของโรคฉี่หนูคือเป็นไข้เฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อรุนแรงที่น่องและโคนขา เป็นต้น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเสียชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน
“โจรห้าร้อย” จำนวนห้าร้อยเป็นจำนวนที่ใช้ในภาษาไทยมีความหมายว่า มาก แต่ปัจจุบันมักใช้ในทางไม่ดี เช่น โจรห้าร้อย บ้าห้าร้อยจำพวก แม้ใช้คำว่า “ห้าร้อย" คำเดียวก็อาจใช้เป็นคำด่าได้ เช่น ไอ้ห้าร้อยหรือไอ้ห้าร้อยละลาย
จำนวน 500 น่าจะมาจากคำกล่าวในภาษาบาลีถึงพระภิกษุ 500 รูป หรือโจร 500 จำนวน 500 น่าจะเป็นเพียงจำนวนโดยประมาณไม่ได้หมายความว่าต้องมี 500 จริงๆ เช่นเดียวกับที่บอกว่ามีคนมาตั้งร้อยคนก็เป็นเพียงจำนวนโดยประมาณ
“ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เป็นสำนวนหมายความว่าขัดสน เพราะรายได้มีไม่พอคุ้มกับรายจ่าย รายได้ที่รับมาเมื่อต้นเดือนไม่พอใช้ไปถึงปลายเดือน
สำนวนนี้มีที่มาจากการนุ่งผ้า หากผ้าที่นุ่งสั้นไปไม่สามารถหุ้มตัวได้ ก็จะหุ้มได้แต่ด้านหน้าไม่ถึงด้านหลัง เมื่อนำสำนวนนี้มาใช้ คำว่า “หน้า” ในที่นี้หมายถึงช่วงหน้าคือช่วงแรกของเดือน “หลัง” คือช่วงหลังของเดือน
ถ้ารายจ่ายน้อยกว่ารายได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร แต่ถ้ารายจ่ายมากกว่ารายได้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะต้องเป็นหนี้เป็นสินเขา เรียกว่า “ชักหน้าไม่ถึงหลัง”
ถ้าชักหน้าไม่ถึงหลังทุกเดือนก็คงจะต้องเป็นหนี้เพิ่มและพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้าต้องการมีชีวิตที่เป็นสุขก็ต้องพยายามเพิ่มรายได้ขึ้น ลดรายจ่ายลง และดำรงชีพอยู่อย่างพอเหมาะพอสมแก่ฐานะและรายได้ของตน
“เอาปูนหมายหัว” เป็นสำนวนหมายถึงเชื่อแน่ว่าจะต้องเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ มักใช้ในทางไม่ดี เช่น เด็กคนนี้สอบทีไรได้ที่โหล่ทุกที เอาปูนหมายหัวไว้ได้เลย
สำนวน “เอาปูนหมายหัว” มาจากความเชื่อของคนไทยสมัยโบราณ ถ้าเด็กตายตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ใหญ่จะเอาปูนมาแต้มไว้ที่หน้าผากหรือตามตัว เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าหากบุตรที่มาเกิดใหม่มีปานในตำแหน่งที่ได้ป้ายปูนไว้เหมือนกับบุตรคนที่ตายไป ก็จะได้มั่นใจว่าได้บุตรคนเดิมมาเกิดใหม่
“เอาปูนหมายหัว” เดิมหมายถึงเอาปูนแดงทำเครื่องหมายไว้ให้เป็นที่สังเกตได้ เมื่อกลายเป็นสำนวนหมายถึงคาดหมายว่าจะต้องเป็นไปตามที่คิดไว้และใช้ในทางไม่ดี