“วชช.สมุทรสาคร” ต้นแบบสร้างเครือข่าย อัพผลิตภัณฑ์ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
ที่ปรึกษา รมว.อว.ชู “วชช.สมุทรสาคร”ต้นแบบสร้างเครือข่าย พัฒนาชุมชนด้วยงบจำกัด เล็งเปิดหลักสูตรอบรมการทำนาเกลือ หวังดึงคนรุ่นใหม่เข้าใจกระบวนการ ร่วมสืบสานวิธีทำนาเกลือก่อนสูญหาย ประสานนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยอว.เสริมบทบาทวชช. ยกระดับผลิตภัณฑ์จากชุมชนสู่ห้าง
"วิทยาลัยชุมชน(วชช.)สมุทรสาคร" เป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ ภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญาตรีตามแนวนโยบายแห่งรัฐ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้เรียนทุกกลุ่มช่วงอายุ ให้ตรงตามความต้องการของชุมชน อย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เกิดประสบการณ์เรียนรู้ตรงในการพัฒนาตนเองทั้งทางด้านวิชาการ การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีคุณธรรมและความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ ดำรงตนอยู่ได้อย่างมีความสุข และมีส่วนร่วมในชุมชน
นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ. ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ได้ลงพื้นที่วชช.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 เพื่อตรวจเยี่ยม ติดตามผลการดำเนินงาน และรับฟังปัญหาในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย โดยมีนายพัฒน์โกศล หนูสมแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร และบุคลากรของวชช.สมุทรสาคร ให้การต้อนรับ
โดย 3 พื้นที่ที่ทาง “วชช.สมุทรสาคร” ได้เข้าไปอบรมสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับชุมชน ได้แก่ พื้นที่นาเกลือ ณ วิสาหกิจชุมชนสหกรณ์ หมู่ 3 โคกขาม พื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านคลองใหม่ และพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวน้ำหอมบ้านกลางคลองตาปลั่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วชช.พื้นที่ภาคเหนือ ขับเคลื่อน U2T ยกกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน
อว.หนุน วชช.ผลิตเอสเอ็มอี สร้างงานเสริมท่องเที่ยวช่วยอุตฯไทย
พัฒนาผลิตภัณฑ์ จากชุมชนสู่ห้าง ยกระดับความเป็นอยู่ชาวบ้าน
นายสัมพันธ์ กล่าวว่าบทบาทของวชช. จะมุ่งเน้นการฝึกอบรมด้านวิชาการหรือด้านอาชีพ ด้วยกระบวนการและรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจากการเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ ที่ วชช.สมุทรสาคร ได้เข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ถือเป็นการปฎิบัติตามบทบาทของวิทยาลัยชุมชนได้อย่างดีเยี่ยม เพราะไม่ใช่เพียงการให้ความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนายกระดับคนในชุมชน สร้างอาชีพผ่านการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“วชช.สมุทรสาคร มีของดีจำนวนมาก ทั้งเกลือ ตรีผลา และมะพร้าว ซึ่งล้วนเป็นวิถีชีวิตดั่งเดิมของชุมชน การทำหน้าที่ของวชช.จึงเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ชุมชน พัฒนาขีดความสามารถของชาวบ้านให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น อีกทั้ง วชช.สมุทรสาคร ยังเป็นต้นแบบในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชน เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน และแสดงให้เห็นว่าแม้งบประมาณมีจำกัดแต่ไม่ใช่อุปสรรค หากผู้อำนวยการวชช. และบุคลากรมีความพยายามในการสร้างเครือข่าย จนทำให้ขณะนี้สามารถยกระดับผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชนสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำได้”นายสัมพันธ์ กล่าว
เล็งเปิดหลักสูตรการทำนาเกลือ ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่คนรุ่นใหม่
ที่ปรึกษารมว.อว. กล่าวต่อว่าผลิตภัณฑ์ชุมชน ของดีประจำท้องถิ่นต้องได้รับการต่อยอด พัฒนาให้เกิดเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เข้าสู่ตลาดชั้นนำได้จริง ซึ่งจ.สมุทรสาคร เป็น 1 ใน 7 แห่งที่มีการทำนาเกลือของไทย แม้ในปัจจุบันจะไม่ได้ส่งออกแต่เป็นสินค้าจำเป็นในประเทศ ต้องได้รับการสานต่อไปสู่รุ่นลูกหลาน และการเพิ่มมูลค่า ตนจึงได้แนะนำให้ทางวชช.สมุทรสาคร จัดทำหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับการทำนาเกลือ โดยชวนผู้ที่สนใจ คนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาเห็นกระบวนการทำนาเกลือ เห็นความเป็นมา เล่าเรื่องราวผ่านคลิปวิดีโอให้น่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว คนรุ่นใหม่ได้เห็นถึงความสำคัญของการทำนาเกลือ ซึ่งเป็นภูมิปัญหาท้องถิ่นของจ.สมุทรสาคร
ขณะที่ในส่วนของผลิตภัณฑ์ตรีผลา ซึ่งมีการทำเป็นลูกอม น้ำตรีผลา และเจลลี่ตรีผลา ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เกิดจากการสืบสานเรื่องสมุนไพรไทยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องแพคเกตจิ้ง การบรรจุภัณฑ์ และการยืดอายุของอาหาร หรือในส่วนของผลิตภัณฑ์มะพร้าว ที่มีหลากหลายอย่างมาก ทั้งน้ำมะพร้าว ลูกอมอัดเม็ดมะพร้าว หรือมะพร้าวเป็นลูกๆ ล้วนประสบปัญหาการยืดอายุของอาหารเช่นเดียวกัน
“อว.มีทั้งองค์ความรู้ด้านวิชาการ และวิทยาศาสตร์ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอในส่วนของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย นักการตลาด ที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม และมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วมาลงพื้นที่ช่วยชุมชน เสริมกำลังให้แก่วิทยาลัยชุมชนมากขึ้น เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยแต่ละภูมิภาค อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือทำการตลาด และหากสินค้าชิ้นไหนยังไม่ผ่านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก็จะมาให้ความรู้ขั้นตอนการขออย. เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น” นายสัมพันธ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การยกระดับของดี สินค้าในชุมชน ถือเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างมาก ซึ่งอว.มีศาสตร์ครอบคลุมทั้งหมด และวิทยาลัยชุมชนทั้ง 21 ทั่วประเทศจะเป็นแกนกลางในการประสานให้กระทรวงอว. และหน่วยงานภายนอก ได้เข้าช่วยเหลือชุมชนมากขึ้น ทำให้ผลดีเกิดขึ้นกับชุมชน และชาวบ้านตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะไม่ได้เพียงพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังมองไปขั้นตอนหลังการผลิต เศษเหลือจากผลิตภัณฑ์ เช่น เปลือกมะพร้าว หรือเม็ดลำไย หลังนำเนื้อไปรับประทาน แปรรูปต่างๆ ก็ต้องมองหางานวิจัย ศึกษาต่อว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บทบาทของวิทยาลัยชุมชนจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อชุมชน