RISC by MQDC เปิดหลักสูตร Well-Being สร้าง "ผู้ขับเคลื่อนความอยู่ดีมีสุข"
RISC by MQDC เปิดหลักสูตร Well-Being สร้าง "ผู้ขับเคลื่อนความอยู่ดีมีสุข" มุ่งผลักดันและสร้างการเปลี่ยนแปลง
การเปิดตัวหลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program ของ RISC by MQDC ที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากผู้บริหารระดับสูง เจ้าของกิจการต่างๆ อย่างล้นหลาม รับเมกะเทรนด์และแรงส่งจากวิกฤติโควิด ทำให้ผู้คนหันมาสนใจสุขภาวะมากขึ้น จึงต้องมีผู้รู้จริงมาขับเคลื่อนให้เกิด Well-Being และผลักดันในทุกวงการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) และประธานหลักสูตรฯ กล่าวว่า หลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program ต้องการสร้าง "ผู้ขับเคลื่อนความอยู่ดีมีสุข" สร้างกำลังคนด้าน Well-Being ที่เข้าใจคอนเซ็ปต์ได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ไม่ใช่การนำไปใช้เพื่อทำการตลาดและประชาสัมพันธ์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในการสร้าง Well-Being ต้องผสมผสานกัน สามารถวัดผลในเชิงวิทยาศาสตร์ให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ด้วย
"การเปิดหลักสูตรมีความตั้งใจในการแบ่งปันองค์ความรู้และกระบวนการสร้าง Well-Being ให้ทุกวงการได้รับรู้ในวงกว้างและเกิดการเชื่อมโยง จากที่ผ่านมาหลายคนมองว่าเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ บุคลากรไม่เพียงพอที่จะดำเนินการ และยากต่อการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ จึงต้องสร้างกลุ่มคนที่มีกำลังในการขับเคลื่อน ผลักดันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างทิศทาง เพื่อร่วมสร้างความอยู่ดีมีสุข ร่วมเป็นหนึ่งใน Well-Being Champion ด้วยความรู้เชิงลึกจากงานวิจัยและประสบการณ์ทำงานในการประยุกต์ความรู้ส่งเสริมให้เกิด Well-Being ในไทย" รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
รศ.ดร.สิงห์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีผู้สนใจสมัครร่วมหลักสูตรจำนวนมาก คัดเลือกเพียง 50 คน หรือ 1 ใน 4 เพื่อเป็นกำลังสำคัญและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าจะเป็น ซีอีโอ ผู้บริหาร C-level เจ้าของกิจการ ผู้บริหารจากดีเวลลอปเปอร์ใหญ่ ผู้บริหารผังเมือง การไฟฟ้า นักวิชาการ แพทย์ จิตแพทย์ อาจารย์มหาวิทยาลัยหลากหลายสาขา นักสังคมศาสตร์ เป็นต้น
"เราต้องการคละคนที่เข้ามาเรียนจากหลายวงการไม่ว่าเป็นวิศวะ สถาปนิก นักวิชาการ นักพัฒนาโครงการ การสื่อสาร เพื่อเรียนรู้แนวคิดและกระบวนการ ให้ทุกอาชีพเกิดการเชื่อมโยงและสนับสนุนให้เกิด Well-Being และขยายวงกว้างได้" รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการงานวิจัยเพื่อการเผยแพร่ RISC by MQDC และผู้อำนวยการหลักสูตรฯ กล่าวเสริมว่า หลักสูตรดังกล่าวไม่ได้มีเป้าหมายสร้างรายได้ แต่ต้องการเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะผู้ขับเคลื่อน Well-Being จากผู้ที่มีประสบการณ์ และมีความตั้งใจในการนำความรู้จากหลักสูตรไปขยายผลในด้านต่างๆ และเป็นผู้นำที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เข้ามาเรียนรู้ เพื่อต่อจิ๊กซอว์ของ Well-Being ในอนาคต ในฐานะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจขององค์กรและคนในวงการ
"หากคิดเป็นงบลงทุนเฉลี่ย 9 หมื่นบาทต่อคน ที่ RISC สนับสนุนการลงทุนดังกล่าวให้ผู้เข้าอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นการลงทุนมหาศาล โดยผู้สอนในหลักสูตรล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ของ RISC ในการประยุกต์ความรู้จากงานวิจัยเชิงลึกสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จริง เพื่อสร้าง Well-Being รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ เกชา ธีระโกเมน ซีอีโอ อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค และผศ.ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาถ่ายถอดความรู้แบบจัดเต็ม" ดร.สฤกกา กล่าว
ดร.สฤกกา กล่าวต่อว่า ขณะนี้รุ่นแรกใกล้จบและเตรียมเปิดรับรุ่นสองในปีหน้า พร้อมขยายความร่วมมือผ่านมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเปิดคณะหรือภาควิชา Well-Being โดยคาดว่า หลังเปิดหลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program 5 รุ่น จะเห็นผลเป็นรูปธรรมจากบุคลากรที่เรียนจบกว่า 200 คน ที่จะสร้างแรงกระเพื่อมในทุกวงการให้เกิดการสร้าง Well-Being หรือความเป็นอยู่ที่ดี
"สำหรับปี 2567 ได้เปิดหลักสูตร Well-Being Design & Engineering Program รุ่น 2 ให้กลุ่มผู้บริหารระดับ C-level เจ้าของกิจการ และนักวิชาการต่างๆ เข้ามาศึกษาศาสตร์ด้าน Well-Being ในเดือน มี.ค.-เม.ย. พร้อมถอดบทเรียนจากผู้เข้าอบรมรุ่นแรก รวมทั้ง Resilience Framework for Well-Being City ที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกสถานการณ์" ดร.สฤกกา กล่าว
รศ.ดร.สิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของโครงการนี้ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดคณะหรือภาควิชาในมหาวิทยาลัยรัฐบาลและเอกชน ตอกย้ำว่า ประเทศไทยมี Well-Being Design & Engineering ที่พร้อมจะขับเคลื่อนความอยู่ดีมีสุขให้เกิดขึ้นทั้งประเทศ
"Well-Being ของไทยชูจุดเด่นเรื่องอยู่ดีมีสุข เชื่อมต่อวิถีการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย มุ่ง 3 แกน Mental Well-Being, Physical Well-Being และ Environmental Well-Being สะท้อนความเป็น Well-Being Design & Engineering ที่ครอบคลุมและแตกต่างจาก Well-Being ของต่างประเทศ แม้ปัจจุบันยังขาดความเข้าใจการสร้างความอยู่ดีมีสุข หรือ Well-Being ได้ แต่เชื่อว่า RISC จะช่วยแบ่งปันองค์ความรู้ จากผลงานวิจัยที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้ที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรอาจเข้ามาร่วมทีมหรือเครือข่ายของ RISC ในการสร้างและผลักดันร่วมกัน" รศ.ดร.สิงห์ กล่าว
นอกจากนี้ รศ.ดร.สิงห์ กล่าวต่อไปอีกว่า RISC ยังพร้อมหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยเอกชนและรัฐ อาทิ เกษตรศาสตร์ พระจอมเกล้าธนบุรี มหิดล จุฬาฯ ที่เห็นถึงความสำคัญ หรือมีการจัดตั้งบริษัทที่ปรึกษาทางด้าน Well-Being ที่สำคัญอาจเกิดนโยบายเกี่ยวกับ Well-Being จากหน่วยงานภาครัฐออกมาเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้เกิด Well-Being ในระดับประเทศต่อไป
"กระแส Well-Being ได้รับความสนใจมากขึ้นเพราะคนวิตกกังวลเรื่องสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โลกรวน เช่น ปัญหาความไม่สมดุลของโลก การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ มลภาวะ ฝุ่น PM2.5 ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิต ถึงเวลาที่ต้องเผยแพร่ความรู้ให้ผู้คนได้รู้จัก Well-Being พร้อมสร้างนวัตกรรมและโซลูชันในการแก้ปัญหาเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น" รศ.ดร.สิงห์ กล่าวทิ้งท้าย