'วชช.มุกดาหาร'เร่งแก้ปัญหาความยากจน ยกคุณภาพชีวิตชุมชน
ที่ปรึกษารมว.อว.ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการแก้จน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านมุกดาหาร จังหวัดที่ยากจนที่สุดในประเทศ พร้อมประสานเชื่อมโยงหน่วยงานในอว.-มหาวิทยาลัย พัฒนาศักยภาพคน ผลิตภัณฑ์ ต่อยอดองค์ความรู้ สร้างอาชีพ รายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
ตามเป้าหมายการทำงานของ 'สถาบันวิทยาลัยชุมชน' ในการเป็นสถาบันวิชาการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในท้องถิ่น โดยใช้กระบวนการวิจัย ซึ่ง 'มุกดาหาร' เป็นจังหวัดที่ประชากรยากจนที่สุดในประเทศไทย ทาง 'วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร' สถาบันการศึกษาระดับอนุปริญญาที่มีภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่คนในพื้นที่ ได้มีการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
เมื่อวันที่ 2-3 เม.ย.2566 ที่ผ่านมา นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รศ.สิตา ทิสาดลดิลก รองผู้อำนวยการสถาบันวิทยาลัยชุมชนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการการบริการวิชาการและด้านการวิจัย ที่ทาง วชช.มุกดาหาร ได้ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีนายศศิพงษา จันทรสาขา ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร คณะทำงาน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบ้านให้การต้อนรับ
นายสัมพันธ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่วชช.มุกดาหาร ทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพ ความเข้มแข็ง และความร่วมมือระหว่างวชช.และชาวบ้านอย่างแท้จริง อย่าง โครงการแก้จน ซึ่งมี วชช.ได้นำงานวิจัยมาบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบ้าน จนเป็นที่ยอมรับของชุมชน ทำให้ชาวบ้านมีความสุขและพร้อมทำงานวิจัย พัฒนาพื้นที่ความเป็นอยู่ของชุมชนร่วมกับวชช.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อว.หนุน วชช.ผลิตเอสเอ็มอี สร้างงานเสริมท่องเที่ยวช่วยอุตฯไทย
“วชช.สมุทรสาคร” ต้นแบบสร้างเครือข่าย อัพผลิตภัณฑ์ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
หนุน 'ผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยง 607'เร่งฉีดภูมิคุ้มกันช่วงเทศกาลสงกรานต์
แก้จนด้วยกระบวนการวิจัย ต่อยอดสร้างอาชีพ
“จากการดำเนินโครงการ U2T กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพปลูกหม่อนแก้จน ตำบลกกแดง อำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร เพื่อพัฒนาและแปรรูปหม่อนร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ประสบผลสำเร็จ ซึ่งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ U2T ได้ต่อยอดทำงานร่วมกับชาวบ้าน พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ เซรั่มจากหม่อน และมีการนำใบยางพารามาแปรรูปให้เป็นที่สครับผิวใช้คู่กับสบู่ใบหม่อน เป็นการใช้หลัก BCG โมเดล รวมถึงเป็นการนำทั้งโครงการแก้จน และโครงการ U2T หม่อนมาต่อยอดร่วมกัน เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ โอกาสให้แก่ชาวบ้าน”นายสัมพันธ์ กล่าว
ความร่วมมือดังกล่าวยังถือเป็นต้นแบบให้แก่วชช.อื่น ๆ ได้มาศึกษาและนำไปบูรณาการปรับใช้กับพื้นที่ชุมชนของตนเอง ก็จะนำไปสู่การสร้างอาชีพ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
นอกจากนั้น วชช.มุกดาหาร ได้จัดทำโครงการจัดการความรู้ภูมิปัญญาทางการตลาดของชุมชนผู้สูงอายุในจังหวัดมุกดาหาร (KME : สินค้าสูงวัย) ตำบลผึ่งแดด อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร หรือ 'โรงเรียนโฮมสุขผู้สูงอายุ' ที่จะเน้นให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีสุขภาพดี มีความสุข สนุกกับการฝึกอาชีพ
โดยวชช.พัฒนาหลักสูตรโดยใช้โจทย์ที่ขึ้นอยู่กับความต้องการของชุมชน มีการทำเชิงรุกไปในหมู่บ้านต่างๆ 13 หมู่บ้าน ส่งเสริมผู้สูงอายุทั้งด้านอาชีพ การตลาด และทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งในมุกดาหารมีผู้สูงอายุถึง 15%
ขยายเครือข่าย ดึงนักวิจัยอว.-มหาวิทยาลัยยกเศรษฐกิจฐานราก
โครงการท่องเที่ยวชุมชนยลวิถีตำบลดงหมู (ท่องเที่ยวชุมชนเชิงศิลปวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น) ตำบลดงหมู ชุมชนนิคมเกษตรทหารผ่านศึก ซึ่งโครงการนี้ใช้วัดและนิคม เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ตามหลักบ ว ร (บ้าน วัด โรงเรียน) โดยอยู่ภายใต้โครงการ U2T เฟส 2 และวชช.ได้เล็งเห็นความเข้มแข็งชุมชนจึงพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ใช้ทุนทางสังคมมีท้องถิ่นเป็นกำลังสำคัญ ตั้งเป้าเพื่อทำให้การท่องเที่ยวดงหมูเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายภายในปี 2568
“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ มุกดาหารเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และยังเป็นจังหวัดที่เงียบ อยากให้วชช.ต่อยอดกับสถาบันอุดมศึกษา มาเปิดหลักสูตร เพื่อเป็นการเตรียมกำลังคน อาทิ ด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์ การทำแพคเกจจิ้ง ซึ่งอว.มีหน่วยงานที่สามารถขับเคลื่อนต่อยอดได้ก็จะไปประสานให้ในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีตวามยั่งยืนด้วยคุณภาพ แพคเกจจิ้ง มาตรฐาน และกำลังการผลิตจะต้องมีการจัดทำแผน สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชนด้วย”นายสัมพันธ์ กล่าว
นายศศิพงษา กล่าวว่าวชช.มุกดาหาร ได้เข้ามาช่วยให้ความรู้แก่ชาวบ้านในระดับอนุปริญญา และอบรมด้านอาชีพ ให้ชาวบ้านสามารถนำสินค้าต่างๆ ไปต่อยอดจัดจำหน่ายได้ รวมถึงสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยการจัดกลุ่มช่วยกันค้นหาศักยภาพของชุมชนของคน และเห็นพ้องต้องกันในการพัฒนา ทางวชช.ก็มีวิทยากรเข้ามาช่วยส่งเสริมดำเนินเป็นโครงการในการทำงาน ขณะเดียวกันต้องมีการสืบสานศิลปวัฒนธรรมที่ต้องดำรงไว้ให้คงอยู่ในชุมชนท้องถิ่นต่อไป เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
“ชุมชนในมุกดาหารมีความเข้มแข็งมาก แต่สิ่งที่อยากเติมเต็ม คือ วิชาความรู้และเทคโนโลยี เช่น การมีแพคเกจจิ้งที่ดึงดูด พัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัย น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งต้องใช้ความรู้ระดับอุดมศึกษาเข้ามาช่วยสนับสนุน เพราะด้วยบุคลากร และงบประมาณของวชช.มีข้อจำกัด หากได้หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมจะทำให้การพัฒนาชุมชนมีความยั่งยืน เพราะชาวบ้านจะมีองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเอง และชุมชน ดังนั้น อยากให้ที่ปรึกษาได้เห็นถึงศักยภาพของชาวบ้าน ชุมชน และนำสิ่งที่ส่วนกลางมีมาเติมเต็ม อันนำไปสู่การพัฒนาและเดินไปด้วยกัน ” นายศศิพงษา กล่าว
ดร.ทิวากร เหล่าลือชา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร ในฐานะ หัวหน้าโครงการวิจัย พื้นที่เชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม ชุดโครงการ “การพัฒนาพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เมืองชายแดนบูรณาการพหุภาคีเพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม กรณีศึกษาจังหวัดมุกดาหาร (SRA)ด้วยแนวคิด “คุยกันทั้งจังหวัด” ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2566 ว่า
กลุ่มวิทยาลัยชุมชนได้มีการนำร่องวิจัยแก้จน ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ชัยนาท แม่ฮ่องสอน ยโสธร และมุกดาหาร ซึ่งจังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่จนที่สุดในประเทศไทยและตามฐานข้อมูลสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่ามีครัวเรือนยากจน 3,320 ครัวเรือน แต่จากการเก็บข้อมูลของทีมวิจัยในพื้นที่จริงๆ กลับพบ 5,920 ครัวเรือน อีกทั้งในฐานข้อมูลเดิมคนไม่จนจริงมีถึง 60%
ทั้งนี้ วชช. ได้มีการแบ่งคนจนออกไป 4 กลุ่ม อยู่ลำบาก อยู่ยาก อยู่ได้ อยู่ดี โดยได้มีการทำ โครงการ U2T คือ กลุ่มอยู่ยาก ซึ่งเป็นการทำร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3 ปี โดยใช้ฐานข้อมูลมาช่วย เพื่อลดความซ้ำซ้อน และโครงการนี้เป็นโครงการที่เกิดจากการรวมพลังของทุกภาคส่วนจริงๆ
“สำหรับจุด Pain Point ของชาวมุกดาหาร คือเรื่องที่ดินทำกิน ทุนสังคม หรือการรวมกลุ่มของคนในการพัฒนาต่ำที่สุด และมุกดาหารมีคนที่เข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพียง 12% จากประชากร 3 แสนกว่าคน วชช.มุกดาหาร จึงได้เข้ามาทำงานวิจัยและพัฒนาพื้นที่ โดยใช้ฐานข้อมูลและแหล่งทุนอว. ทำให้ขณะนี้มีข้อมูลที่ชัดเจน และมีการบันทึกความช่วยเหลือ รวมถึงมีการส่งต่อในการช่วยเหลือทั้งด้านที่อยู่อาศัย รายได้ การศึกษา พัฒนาเศรษฐกิจเชิงฐานราก เพื่อให้ชุมชน ครอบครัวยากจนหายจากความยากจนข้ามรุ่น” ดร.ทิวากร กล่าว