การศึกษาของไทย & คะแนน PISA | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
การศึกษาของไทยนั้นต้องยอมรับว่าไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศ สะท้อนจากคะแนน Pisa โดยเฉพาะคะแนนด้านการอ่าน (Reading) ซึ่งสำคัญที่สุด
การศึกษาของไทยนั้นต้องยอมรับว่าไม่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้คือ
1.คะแนน Pisa โดยรวมต่ำกว่าเฉลี่ย 231 คะแนน Pisa คือการวัดมาตรฐานการศึกษาของนักเรียนมัธยมปลาย (อายุ 15 ปี) ของกลุ่มประเทศ OECD (37 ประเทศ) และประเทศที่เป็นหุ้นส่วน (42 ประเทศ)
ประเทศไทย “ผลิต” เด็กนักเรียนในกลุ่มนี้ปีละประมาณ 550,000 คน (จำนวนจะลดลงไปเรื่อยๆ)
ตัวเลขล่าสุด (2018) คะแนนของเด็กไทยรวม 3 วิชาหลัก (การอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์) รวมกัน 1,238 คะแนน ต่ำกว่าเฉลี่ยที่ 1,469 คะแนน
ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ประเทศแรกคือ จีน 1,736 คะแนน สิงคโปร์ 1,669 คะแนน เอสโตเนีย (ประชากรเพียง 1.3 ล้านคน) 1,559 คะแนน ญี่ปุ่น 1,560 คะแนน และเกาหลีใต้ 1,559 คะแนน
2.คะแนน Pisa ด้านการอ่านลดลงในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา คะแนน Pisa ที่สำคัญที่สุดคือการอ่าน (Reading) ซึ่งคะแนนเด็กไทยในปี 2000 เท่ากับ 431 คะแนน ปรับขึ้นมาถึงจุดสูงสุดในปี 2012 ที่ 441 คะแนน
จากนั้นปรับลดลงมาตลอด (Pisa ทดสอบทุก 3 ปี) เหลือเพียง 393 คะแนน (ลำดับที่ 68) แปลว่า 19 ปีที่ผ่านมา คะแนนการอ่านลดลงถึง 38 คะแนนหรือเกือบ 10%
ในขณะเดียวกันคะแนนวิชาคณิตศาสตร์เกือบจะไม่เพิ่มขึ้น กล่าวคือปี 2003 เท่ากับ 417 คะแนน ปี 2018 เท่ากับ 419 คะแนน (ลำดับที่ 59) ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์นั้นคะแนนเพิ่มเล็กน้อยจาก 421 คะแนนในปี 2006 มาเป็น 426 คะแนนในปี 2018 (ลำดับที่ 55)
3.การศึกษาของธนาคารโลก ปี 2015 พบว่าเด็กไทยอายุ 15 ปี 33% แม้จะอ่านออกและเขียนได้ แต่ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ (functionally illiterate)
ในงานวิจัยในปี 2019 พบว่าสัดส่วนที่อ่านออก-เขียนได้ แต่ทำงานไม่ได้นั้นสูงถึง 47% สำหรับเด็กไทยอายุ 15 ปีที่อาศัยอยู่ในชนบท
ในปี 2016 ในการทดสอบความคิดอย่างเป็นระบบ (logical thinking) กับทักษะในเชิงวิเคราะห์ (analytical skills) พบว่ามีเด็กไทยสอบผ่านเพียง 2% เท่านั้น
ล่าสุด องค์กร English First (ของสวิตเซอร์แลนด์) จัดอันดับเด็กไทยที่ 97 จาก 111 ประเทศ เด็กไทยได้คะแนน 423 คะแนน เทียบกับเฉลี่ยทั้งโลกที่ 502 และติดอันดับ 21 จาก 24 ประเทศในเอเชีย
4.ประชากรที่อยู่ในตลาดแรงงานเพียง 32% มีการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือสูงกว่า ซึ่งการจะพัฒนาไปเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือออสเตรเลียนั้น สัดส่วนดังกล่าวจะต้องเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 75-80%
นอกจากนั้นแล้วในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐมนตรีศึกษาธิการรวม 21 คน ดังนั้น จึงน่าจะมีแนวคิดที่หลากหลายมากในการพัฒนาการศึกษา
แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้ปริมาณและคุณภาพของการศึกษาของไทยดีขึ้นอย่างที่คาดหวัง และตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจไทย ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันมีแต่จะรุนแรงมากขึ้น
ที่สำคัญคือ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว และจำนวนเด็กนักเรียนมีแต่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ จำนวนนักเรียนเริ่มลดลงมาประมาณ 25 ปีแล้ว และในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็จะลดลงต่อไปอีกประมาณ 4 ล้านคน
ตัวเลขในตาราง ผมคำนวณจากการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งสรุปได้ว่า ในประมาณ 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมี
1.นักเรียนลดลง 3.82 ล้านคน
2.คนทำงานลดลง 5.94 ล้านคน (แม้จะ “บังคับ” ให้คนอายุ 60-64 ปี ต้องทำงาน ห้ามเกษียณอายุ)
3.คนสูงอายุเพิ่มขึ้น 8.60 ล้านคน
4.ประชากรโดยรวมลดลง 1.16 ล้านคน
แปลว่าประเทศไทย จำต้องผลิตประชากรที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะมีประชากรในวัยทำงานน้อยลง และจำนวนเยาวชน (ซึ่งจะเป็นกำลังหลักของประเทศ) ก็ปรับลดลงรวมกันทั้งสิ้นลดลงเกือบ 10 ล้านคนในอีก 20 ปีข้างหน้า
แต่จะต้องผลิตสินค้าและบริการ เพื่อเลี้ยงตัวเอง และผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเกือบ 8 ล้านคน มาเป็น 16.5 ล้านคน (โดยปรับอายุเกษียณขึ้นไปเป็น 65 ปีแล้ว)
คุณภาพของประชากรที่ว่านี้ คือการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นหลัก แปลว่า
1.การศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องได้มาตรฐานสากล คือระบบการศึกษาจะต้องผลิตเด็กอายุ 15 ปีที่มีคะแนน Pisa เท่ากับคะแนนเฉลี่ยของโลกคือเพิ่มจาก 1,238 คะแนนมาเป็น 1,469 คะแนนโดยเร็ว
2.จำนวนเด็กไทยที่เรียนจบอย่างน้อยมัธยมปลายจะต้องคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 100% ของจำนวนเด็กในกลุ่มนี้ ทุกๆ ปีในอีก 15-20 ปีข้างหน้า
ตรงนี้หมายความว่าจะต้องมีความสามารถพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้ ความรู้พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กล่าวคือสัดส่วนของเด็กไทยที่ functionally illiterate จะต้องให้เหลือจำนวนน้อยที่สุด
3.ในระดับอุดมศึกษานั้น การพึ่งพาเทคโนโลยีและการเรียนทั้ง online และในภาคปฏิบัติ (on the job training) จะต้องสามารถผลิตบุคลากร ที่มีความรอบรู้ และทักษะเฉพาะทาง และทำงานได้จริง โดยการร่วมมือกันอย่างให้เห็นผลในทางปฏิบัติ ระหว่างภาคธุรกิจ สถานศึกษาและภาครัฐ
4.ความต้องการจำนวนครูและจำนวนโรงเรียนจะต้องลดลงต่อไปอีก ดังนั้น การแก้ปัญหาเงินเดือนครู และหนี้สินครู ตลอดจนการส่งเสริมการควบรวมจำนวนโรงเรียน ให้มีจำนวนนักเรียนมากเพียงพอในแต่ละโรงเรียน เพื่อการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นอีกภาระกิจหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาล
การปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สามารถผลิตเด็กที่มีความรู้พื้นฐานที่ครบถ้วนและแข็งแกร่งจะทำให้เยาวชนไทยสามารถ “ค้นพบตัวเองได้” เร็ว และเร่งพัฒนาตัวเองให้มีอนาคตที่สดใส เพิ่มรายได้และโอกาสให้กับชีวิต
มี “เครื่องมือครบ” ที่จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด และที่สำคัญยิ่งคือ ผมมั่นใจว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่านโยบายอื่นใดครับ.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร