Micro-credential ปริญญาจุลภาคเพื่อการงานยุคใหม่
พิษภัยทางเศรษฐกิจที่มาจากโควิด-19 ประกอบกับการจัดการเศรษฐกิจที่ไม่มีประสิทธิผล ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียโอกาสในการเล่าเรียน เพราะไม่มีเงินพอจะเรียน
เด็กคนหนึ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งได้ แต่ไม่มีเงินจะเรียน เพราะค่าเล่าเรียนก็แพงอยู่ในขณะที่ครอบครัวมีภาระหนี้สินล้นตัว เดชะบุญที่คนบ้านเรายังเอื้ออาทรต่อกัน เด็กเลยได้เงินช่วยเหลือให้มีโอกาสได้เรียน
สหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG 4 และ Education 2030 ไว้ว่าผู้คนทุกวัยต้องได้รับการศึกษาที่นำไปสร้างชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยหันมาเน้นกลไกการศึกษาตลอดชีวิต แทนการมุ่งเน้นการศึกษาตามช่วงวัย
คืออายุช่วงนี้ไปเรียนประถมมัธยมให้จบก่อน แล้วไปต่ออาชีวศึกษา หรือมหาวิทยาลัยอีกสามสี่ปี ก่อนจะออกไปทำการงาน ซึ่งเล่าเรียนไปนาน ๆ ก่อนจะจบมาทำงานใช้ไม่ได้ผลในสภาพที่มีความยากเย็นทางเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้
วันนี้ต้องเรียนอะไรที่เรียนแล้วรู้เร็ว ทำงานได้เร็ว เพื่อให้ได้การงานทำ พอมีเงินทองมาดูแลชีวิต แล้วค่อย ๆ ต่อยอดให้รู้เพิ่มเติมในเรื่องที่ต้องการเสริมศักยภาพในการเสริมสร้างชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ
การศึกษาทันใจใช้เวลาเพียงแค่เป็นสัปดาห์ในการสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่นำไปใช้ทำมาหากินได้ ติดขัดด้านฝีมือขีดความสามารถตรงไหน ก็ไปเล่าเรียนเพิ่มอีกได้ เรียนเพื่อใช้ ไม่ใช่เรียนเผื่อไว้
UNESCO และ OECD เชิญชวนให้ประเทศภาคีปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาให้คนเล่าเรียนอย่างต่อเนื่องได้ตลอดชีวิต โดยใช้ดิจิทัลอำนวยความสดวกในการเรียนรู้ มีการรับรองผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการเล่าเรียน ที่เจาะจงไปเฉพาะเรื่อง
เรียนแล้วมีความรู้และทักษะที่เอาไปทำการงานได้ทันที เพิ่มเติมจากการให้ปริญญาที่ใช้เวลาเล่าเรียนยาวนานกว่า UNESCO และ OECD เรียกใบรับรองผลลัพธ์การเรียนรู้แบบนี้ว่า Micro-credential
คล้าย ๆ แบ่งปริญญาเป็นหน่วยความรู้ย่อย ๆที่แต่ละหน่วยเอาไปทำงานประกอบอาชีพได้ Micro-credential จะบอกด้วยว่าเทียบเท่ากับการได้ศึกษามาสักกี่หน่วยกิตในหลักสูตรระดับปริญญา
ปริญญาเป็นเสมือนการยืนยันการเรียนรู้ในระดับมหภาค ส่วน Micro-credential จะเป็นระดับจุลภาค โดยทั้งสองอย่างนี้ออกให้โดยมหาวิทยาลัยเหมือนกัน
Micro-credential ยังได้มาจากหลายทาง ตั้งแต่การฝึกอบรม การเรียนจากMOOC ไปจนถึงการทำงาน เมื่อได้Micro-credential สะสมไปถึงจำนวนหน่วยกิตที่ควรจะได้เมื่อเรียนจบปริญญา ก็ไปขอเทียบให้มหาวิทยาลัยออกปริญญาให้ด้วยก็ได้
ในบ้านเราเริ่มมีการให้ Micro-credential กันบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีชื่อเรียกที่ตรงกันเหมือนปริญญา ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเป็นใบรับรองที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
บางที่ก็บอกว่าเทียบเท่ากับหน่วยกิตตามหลักสูตรปริญญาสักกี่หน่วยกิต บางที่ก็เปิดบริการสะสมหน่วยกิตเหล่านี้ไว้ให้ด้วย สะสมไว้เพื่อให้ออกรายงานโดยรวมว่าเล่าเรียนอะไรมาบ้าง หรือสะสมไว้เพื่อขอนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยกิตเพื่อรับปริญญา
แต่บ้านเรายังรู้จัก Micro-credential กันน้อยมาก ถ้าเอาไปสมัครงาน นายจ้างส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก ใช้สมัครงานราชการก็ยังไม่ได้ บ้านเราเลยยังต้องเล่าเรียนกันเป็นปีก่อนจะได้ปริญญาไปสมัครงานกัน
ที่น่าแปลกใจคือมีการพูดจาเรื่องนี้ทั้งในระดับการเมือง และระดับราชการประจำในวงการศึกษาในบ้านเราอย่างกว้างขวาง ในชื่อที่ไม่ค่อยจะไปในทางเดียวกับที่ UNESCO เสนอแนะไว้ มีหลายหน่วยงานทำเรื่องนี้โดยมีความซำ้ซ้อนกัน โดยไม่มีความชัดเจนในทิศทางว่าจะมุ่งไปทางไหน
ไม่เหมือนกับมาเลเซีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่นที่เดินหน้าเรื่องนี้ไปไกลกว่าเรามาก รวมถึงบ้านเรายังไม่ได้เข้าร่วมในข้อตกลงโตเกียว ที่ภาคีตกลงร่วมกันว่าในอนาคตอันใกล้ ประเทศภาคีจะรับรอง Micro-credential ของกันและกัน ได้จากเกาหลีก็เทียบเท่ากับได้จากญี่ปุ่น โอกาสทำมาหากินก็กว้างขวางขึ้น
ในทำนองเดียวกับการที่หลักสูตรปริญญาได้รับการรับรองวิริยะฐานะจากองค์กรนานาชาติ เช่น วิศวกรรมได้ ABET บริหารได้ AACSB ใครจบจากหลักสูตรที่ได้รับการรับรองนี้ก็หางานนานาชาติได้ง่ายกว่า
น่าเสียดายมาก ถ้าบ้านเราจะเสียโอกาสใหม่นี้ไปอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากที่เสียไปหลายโอกาสแล้วในหลายปีที่ผ่านมา
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]