อพวช.เปิดนิทรรศการสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ กว่า 28 ชนิดที่ถูกค้นพบในไทย
อพวช.เปิดตัวนิทรรศการ "สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life)" ชมตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นอย่างดี
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดตัวนิทรรศการ "สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life)" ชวนไปค้นพบความมหัศจรรย์ของเรื่องราวสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามกระบวนการทางอนุกรมวิธาน
เจาะลึกเรื่องราวกว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่รวมถึงประโยชน์ของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ชมตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์ที่ถูกค้นพบในประเทศไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นอย่างดี
พร้อมจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ผศ.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กล่าวว่า นิทรรศการ "สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life)" เป็นนิทรรศการชุดใหม่ที่เราได้พัฒนาขึ้นมา
เพื่อทำให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้และสัมผัสถึงความสำคัญของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่มีอยู่บนโลก เพื่อให้ผู้เข้าชมเกิดความตระหนักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติใกล้ตัว พร้อมนำเสนอเรื่องราวสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือ New species ทั้งพืชและสัตว์
ซึ่งส่วนใหญ่ถูกค้นพบในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการจัดแสดงตัวอย่างจริงทั้งที่เป็นตัวอย่างดองและตัวอย่างแห้ง
ภาพ : ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ -นายพิชิต สมบัติมาก
ทำให้ผู้เข้าชมได้เข้าใจถึงความสำคัญของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ และกระบวนการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับสิ่งมีชีวิตใหม่ ประโยชน์ของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์
นอกจากนี้ยังมีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบโดยนักวิชาการของ อพวช. ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงกว่า 28 ชนิดที่จะทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญของตัวอย่างอ้างอิงทั้งพืชและสัตว์ที่ อพวช. ได้เก็บรักษาไว้อย่างดี เปรียบดังเป็นสมบัติของชาติที่มีคุณค่าและเป็นมรดกของลูกหลานของคนไทย
นิทรรศการฯ จัดแสดงออกเป็นทั้งหมด 6 โซน ได้แก่
โซนที่ 1 Introduction ทราบถึงที่มาและความสำคัญเกี่ยวกับการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และฟอสซิล
โซนที่ 2 New species and new records of Thailand in last decade and relative species (Part I, Dry specimens) พบกับเรื่องราวสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ในกลุ่มที่เป็นตัวอย่างแห้ง ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู หอย ปลาดาว มด และฟอสซิล
โซนที่ 3 Internal morphology used for describing new species มาเรียนรู้เรื่องราวของลักษณะสัณฐานภายในสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการแยกความแตกต่างของชนิดใหม่แยกจากชนิดใกล้เคียงอื่น ๆ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาในปลากระดูกแข็ง
โซนที่ 4 Big Seven ตื่นตาตื่นใจไปกับสิ่งมีชีวิตน่าทึ่ง 7 ชนิด จากการค้นพบ new species ในอดีต
โซนที่ 5 New species and new records of Thailand in last decade and relative species (Part II, Spirit specimens) พบตัวอย่างดองของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ในกลุ่ม พืช กุ้ง กั้ง ปู หอย ปลาดาว ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
โซนที่ 6 New Species described by NSM researchers มาชมตัวอย่างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบโดยนักวิชาการ ของ อพวช. และพันธมิตรจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ
นิทรรศการ "สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life)" จะจัดแสดงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2566 สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการฯ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.30-15.00 น. และวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.30-17.00 น. (ปิดบริการทุกวันจันทร์) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2577 9999 ต่อ 2122-2123 หรือ Facebook : NsmThailand
นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงฯ มีพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายแผน มาตราการด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พร้อมทั้งในการบูรณาการสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
สำหรับ นิทรรศการ "สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life)" ของ อพวช. ที่แสดงจัดแสดงนี้จะช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจในด้านสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนและประชาชน
ผ่านงานวิจัยด้านอนุกรมวิธาน ความหลากหลายทางชีวภาพ และตัวอย่างอ้างอิงด้านธรรมชาติที่ถือว่าสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ ทั้งยังจะช่วยสร้างเครือข่ายนักธรรมชาติวิทยาด้วยกัน รวมทั้งผู้สนใจที่ต้องการศึกษาเรื่องราวด้านธรรมชาติวิทยา
อันนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมสร้างทัศนคติที่ดีด้านวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนในอนาคต.