"เศรษฐกิจพอเพียง" ...ประเทศใดใช้บ้าง?
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นรากฐานของแผ่นดินที่แข็งแกร่ง หากคนมีคุณภาพ เปี่ยมพร้อมด้วยความรู้และคุณธรรม ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
เปรียบเสมือนการสร้างบ้านเรือนหรือตึกสูง แม้ภายนอกอาจดูวิจิตรตระการตา แต่หากขาดเสาเข็มที่ปักลงอย่างมั่นคง บ้านเรือนที่สวยงามใหญ่โตก็รอเพียงวันจะพังครืนลงมา ในทางตรงกันข้าม หากเสาเข็มมีความแข็งแรง แม้มีฝนลมแรงพายุโหมกระหน่ำปานใด ตึกนั้นก็ยังคงหยัดยืนได้อย่างสง่างาม
หลักการ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3 ห่วง ได้แก่ ความมีเหตุผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกัน 2 เงื่อนไข ได้แก่ ความรู้และคุณธรรม ซึ่งความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต ผลดีผลเสียของการกระทำ ความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับศาสตร์แต่ละแขนง
รวมถึงลักษณะทางสังคมเศรษฐกิจของประเทศอื่นว่ามีข้อดีข้อเสีย จุดเด่นจุดด้อยเช่นใด และที่สำคัญที่สุดคือความรู้เกี่ยวกับบริบทของประเทศตนในมิติต่างๆ ดังสุภาษิตที่ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง
สำหรับคุณธรรม หมายถึง คุณธรรมทั้งหมดที่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งหมายถึง สัตว์ประเสริฐ พึงมี หากบุคคลประพฤติตนตามแต่ละห่วงโดยมีเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมประกอบเสมอก็จะเป็นมนุษย์ผู้ทรงคุณค่า
การมีความรอบรู้ก็เพื่อให้การตัดสินใจกระทำการใดๆ มาจากพื้นฐานข้อมูลที่ครบถ้วน และทุกการตัดสินใจก็จะไม่เป็นไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดความเสื่อมต่ำทั้งต่อตนเองและสังคม เพราะมีคุณธรรมเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต
- คิดถึงคำสอน'รัชกาลที่ 9' : เศรษฐกิจพอเพียง ไม่มีในตำรา
- เศรษฐกิจพอเพียง สู่แนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน
- 'น่านโมเดล' เศรษฐกิจพอเพียงสู่ความยั่งยืน
อนึ่ง คำว่า “ภูมิคุ้มกัน” ในทางการแพทย์ หมายถึง การที่บุคคลได้รับวัคซีนจนทำให้เชื้อโรคชนิดนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ แสดงนัยว่า เชื้อโรคยังวนเวียน ยังมีอยู่บนโลกใบนี้ แต่ต้องพ่ายแพ้ให้กับคนที่แข็งแรงแล้ว
ดังนั้น หากบุคคลใดมีภูมิคุ้มกันของชีวิตที่ดี ซึ่งก็มาจากสติปัญญา ที่ประกอบด้วยความรู้และคุณธรรมที่แท้จริง บุคคลนั้นก็จักมีความประพฤติที่เป็นไปในทางเจริญแต่เพียงทางเดียว
อาทิ สาวสวย sexy ที่ยั่วยวน เปรียบได้กับเชื้อโรคที่ทำให้ชายต้องพ่ายแพ้ สถาบันครอบครัวต้องสั่นคลอน แต่เชื้อโรคที่มีฤทธิ์สูงไม่สามารถทำให้คนที่มีภูมิคุ้มกันที่ดีหวั่นไหวนอกใจคู่ครองของตนได้เลย
นอกจากนี้ แม้เงินหรือประโยชน์มหาศาลอาจเป็นเหมือนเชื้อโรคที่ทำให้คนจำนวนมากอ่อนแอหลงเดินทางผิดกระทำทุจริต แต่คนเดนมาร์กซึ่งมีภูมิแข็งแรงกลับมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องน่าอาย จนทำให้ประเทศมีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกตลอดมา
จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาสากลที่สามารถนำไปปรับใช้กับมวลมนุษยชาติ หาได้จำกัดอยู่เฉพาะในแผ่นดินไทยไม่
ประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงและยั่งยืน ต่างมีจุดร่วมคือ ประชากรส่วนใหญ่มีแนวทางการดำรงชีวิตเป็นไปตาม 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เช่น คนในประเทศพัฒนาแล้วมีปกติเป็นคนประหยัดอดออม ไม่นิยมการใช้สิ่งของเพื่อแสดงฐานะความร่ำรวย
Dennis Mueller ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองชื่อดังระดับโลก ซึ่งมีความใกล้ชิดผู้เขียนในฐานะเป็นทั้งอาจารย์ผู้สอน รวมถึงที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก และมักเจอกันหลายคราบนรถเมล์และรถไฟฟ้า เคยอธิบายให้ฟังว่า
“การที่เรานั่งรถไฟฟ้า รถเมล์ ไม่ใช้รถส่วนตัว รวมถึงไม่ใช้ของแบรนด์เนม นอกจากจะทำให้รายได้ไม่หมดไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ยังลดการเบียดเบียนทรัพยากรของโลก ความฟุ่มเฟือยก่อให้เกิดผลดีในระยะสั้น คือเหมือนมีความสุข แต่จะก่อให้เกิดความทุกข์ตามมา
ซึ่งเราอยากมีความผาสุกในชีวิต มากกว่ามีชีวิตที่ดูเป็นสุขแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ประเทศเราจึงไม่นิยมการใช้มาตรการเร่งเร้าให้ประชาชนใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การใช้จ่ายของรัฐจะเป็นไปเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืน...”
ทัศนคติและนโยบายดังกล่าว สะท้อนความมีเศรษฐกิจพอเพียงของประชาชนและผู้บริหารประเทศ ทั้งความมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกันต่อสิ่งเร้ายั่วยวน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการที่บุคคลเหล่านี้มีความรอบรู้และมีคุณธรรม
กล่าวคือ มีสติปัญญาสามารถวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของค่านิยมที่เน้นการบริโภคเกินความจำเป็น ทั้งในมิติต่อตนเอง และต่อสังคม ดังนั้น การกระทำดังกล่าวก็ช่วยเกื้อหนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก
เมื่อพิจารณามิติทางการคลัง ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้วต้องเสียภาษีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาษีที่เก็บจากการบริโภค ภาษีที่เก็บจากความมั่งคั่ง หรือแม้แต่ภาษีที่เก็บจากรายได้
อาทิ ในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากประชาชนต้องเสียภาษีเงินได้ให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ แต่ละเดือนทุกคนยังมีหน้าที่ต้องจ่าย Social security tax และ Medicare Tax อีกคิดเป็น 7.65 % ของรายได้ ในขณะที่ฝั่งนายจ้างก็มีหน้าที่สมทบอีก 7.65% ของรายได้ลูกจ้าง ไม่นับรวม Unemployment tax ที่รัฐบาลจัดเก็บจากผู้ประกอบการเพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงาน
การที่ประชาชนยอมเสียภาษีต่างๆ นานา นัยหนึ่งอาจมาจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี คงมิอาจปฏิเสธความเป็นจริงได้ว่า ประชาชนในประเทศเหล่านี้เข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเก็บภาษี
ผู้เขียนเคยถามเกี่ยวกับการเสียภาษีอสังหาริมทรัพย์ที่สูงมากในมลรัฐแมตซาชูเซตส์ ซึ่งเพื่อนชาวอเมริกันให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจตอนหนึ่งว่า
“หากเราไม่เสียภาษี เด็กๆ ที่เกิดมาในครอบครัวยากจนจะเอาเงินมาจากไหนเพื่อได้มีโอกาสเรียนหนังสือ...”
ทัศนคติดังกล่าวสะท้อนถึงสติปัญญาที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรายได้และรายจ่ายของภาครัฐ ประกอบกับคุณธรรมในเรื่องความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัว ทำให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผ่านการใช้จ่ายของรัฐด้านการศึกษาสามารถเกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพ ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการลดลงของความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ
หากรัฐบาลใดนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นธงนำในการพัฒนาประเทศ แผ่นดินนั้นจะมีความเจริญในทุกมิติ
เพราะทรัพยากรมนุษย์มีสมรรถนะ มีศักยภาพ มีความซื่อสัตย์ เสียสละ ขยัน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค คือ คนที่คลาสสิคและทันสมัย…เป็นผู้ทรงคุณค่าของแผ่นดิน...แท้จริง!