จุฬาฯ-มหิดล อันดับดีสุดในไทย ‘ออกซ์ฟอร์ด’ ยืนหนึ่งมหาวิทยาลัยดีสุดในโลก
“มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด” ครองอันดับ 1 การจัดอันดับ “มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก” ประจำปี 2024 ของ Times Higher Education ส่วน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ที่ได้รับการจัดอันดับที่ 601-800
Times Higher Education หรือ THE นิตยสารด้านการศึกษาชั้นนำของโลก ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2024 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 20 ที่มีการจัดอันดับ โดยคัดเลือกจากมหาวิทยาลัย 1,904 แห่งใน 108 ประเทศและดินแดน ด้วยวิธีการวัดประสิทธิภาพที่เรียกว่า WUR 3.0 มีตัวบ่งชี้คุณภาพใน 5 ด้าน ได้แก่ การสอน สิ่งแวดล้อมทางการวิจัย คุณภาพการวิจัย อุตสาหกรรม และภาพรวมความเป็นสากล
การจัดอันดับในครั้งนี้วิเคราะห์ทำการวิเคราะห์จากการอ้างอิง 134 ล้านครั้ง จากงานวิจัยตีพิมพ์ 16.5 ล้านชิ้น และการตอบแบบสำรวจจากนักวิชาการ 68,402 คนทั่วโลก โดยทำการรวบรวมชุดข้อมูล 411,789 ชุด จากสถาบันมากกว่า 2,673 แห่ง
ผลการจัดอันดับพบว่า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน
ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดขยับขึ้นมาอยู่อันดับสอง ส่วนสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือMIT ขยับขึ้นมาที่อันดับที่ 3 ส่วนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหล่นลงมาอยู่อันดับที่ 4 ด้านอันดับ 5 เป็นของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
สำหรับ “ประเทศไทย” มีสถาบันการศึกษาติดอันดับทั้งสิ้น 19 แห่ง โดยเกาะกลุ่มกันอยู่ที่อันดับ 801-1501 ขึ้นไป ยกเว้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการจัดอันดับที่ 601-800
10 อันดับแรกเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐถึง 7 อันดับ และในสหราชอาณาจักรอีก 3 แห่ง แต่หาดูในอันดับใกล้เคียงจะพบว่า มีมหาวิทยาลัยจากจีนถึง 2 แห่งที่จ่อเข้าท็อป 10 ได้แก่ มหาวิทยาลัยชิงหวา อันดับที่ 12 และ มหาวิทยาลัยปักกิ่งในอันดับที่ 14 และมีสถาบันการศึกษาของจีนติด 400 อันดับแรกถึง 30 แห่งด้วยกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี 2021 ที่มีเพียง 15 แห่งเท่านั้นที่ทำได้ โดยมหาวิทยาลัยของจีนได้คะแนนด้านคุณภาพการสอนและวิจัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ อันดับที่สูงขึ้นของสถาบันการศึกษาจีนแสดงให้เห็นถึงการลงทุนมหาศาลสำหรับการยกระดับคุณภาพการศึกษในระดับอุดมศึกษา เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมมากขึ้น
เดนิส ไซมอน ผู้เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนาเตือนว่าจีนจำเป็นต้องให้ความสำคัญทั้งในมหาวิทยาลัยชั้นนำและมหาวิทยาลัยระดับกลาง เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างของคุณภาพทางการศึกษา ด้วยการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และห้องสมุดทั่วประเทศ แทนที่จะกระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่เมือง
ในปีนี้มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมการจัดอันดับครั้งแรกเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย แต่มหาวิทยาลัยที่ทำอันดับสูงสุดในการเข้าจัดอันดับครั้งแรกเป็นของ มหาวิทยาลัยพระหฤทัยคาทอลิก ของอิตาลี อยู่ในอันดับที่ 301-350
สหรัฐเป็นประเทศที่มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมการจัดอันดับมากที่สุดถึง 169 แห่ง โดยมี 56 แห่งที่ติดอยู่200 อันดับแรก ทำให้สหรัฐเป็นประเทศที่มีสถาบันการศึกษาติด 200 อันดับแรกมากที่สุด ส่วนอินเดียขึ้นแท่นประเทศที่มีสถาบันการศึกษาติดอยู่ลิสต์มากที่สุดในอันดับที่ 4 ด้วยจำนวน 91 แห่ง แซงหน้าจีน ที่มีอยู่ 86 แห่ง
นอกจากนี้ยังมี 4 ประเทศหน้าใหม่ที่มีรายชื่อสถาบันการศึกษาเข้าร่วมการจัดอันดับเป็นครั้งแรก ได้แก่โคโซโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา มาซิโดเนียเหนือ และอาร์เมเนีย ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่ประเทศที่มาใหม่นั้นมาจากทวีปแอฟริกา
หากแยกดูคะแนนในแต่ละส่วน พบว่า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้คะแนนสูงสุดในด้านการสอน ในขณะที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ได้คะแนนเต็มในด้านสิ่งแวดล้อมทางการวิจัยส่วน MIT โดดเด่นที่สุดในด้านคุณภาพการวิจัย และยังได้คะแนน 100 เต็มในด้านอุตสาหกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และมหาวิทยาลัยอีก 26 แห่ง
ขณะที่มหาวิทยาลัยชาร์จาห์ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่มีภาพรวมอยู่ในอันดับ 351-400 กลับได้คะแนนสูงสุดในด้านภาพรวมความเป็นสากล ซึ่งเป็นตัวสะท้อนความสามารถของสถาบันการศึกษาในการดึงดูดนักศึกษาและบุคลากรจากทั่วโลก รวมถึงความสำเร็จของสถาบันการศึกษาบนเวทีโลก
อย่างไรก็ตาม มีสถาบันการศึกษาอีก 769 แห่งที่เข้าร่วมการจัดอันดับ แต่มีข้อมูลไม่ครบเกณฑ์การประเมิน จึงไม่สามารถจัดอันดับได้
ที่มา: Times Higher Education