4 ยุทธศาสตร์ ยกระดับ 'วิจัยนวัตกรรม' เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทย
กสว. และ สกสว. เดินหน้าปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผลักดัน พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฯ ปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ชู 4 ยุทธศาสตร์ สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา ยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวในช่วงบรรยายพิเศษ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ ก่อนการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมฯ พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ ว่า นับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา เกิดการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมครั้งสำคัญ โดยมีสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (อววน.) ทำหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการ อววน. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรี และพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน. ของประเทศ ก่อนกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติและการขับเคลื่อนนโยบายและการจัดสรรงบประมาณ ให้แก่หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้
ผลักดันส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย
นอกจากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแล้ว ยังมีการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 ซึ่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นหนึ่งในกฎหมายเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ที่ช่วยปลดล็อกความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม เร่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมของประเทศ โดยคาดหวังให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญ และช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและยกระดับการพัฒนาและการผลิต ให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตและประชากรมีรายได้สูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จับตา!! เทคโนโลยีอนาคต 10 ปีทรงอิทธิพลต่อผู้สูงอายุ
- มหิดลพบ “มอสส์ทองแดง” ใช้บำบัดโลหะหนัก-ขยายพันธุ์เชิงเศรษฐกิจ
- AI บอกเล่าประวัติศาสตร์ ต่อยอดท่องเที่ยวไทยสู่ซอฟต์พาวเวอร์
4 ยุทธศาสตร์ พัฒนานวัตกรรม วิจัย
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. มีภารกิจในการจัดทำแผนด้าน ววน. เพื่อเป็นเครื่องมือกำหนดเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม
นอกจากการจัดทำแผนฯ สกสว. ยังมีหน้าที่ในการบริหารและจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. รวมถึงการพัฒนากองทุนววน. ซึ่งปัจจุบันมีความร่วมมือ และ ดำเนินการแล้วทั้งหมด 3 แห่ง คือ
1.มูลนิธิกสิกรไทย
2.กองทุนพัฒนาไฟฟ้า
3.มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลงนามร่วมกันเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ซึ่งถือเป็นภาคเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 1 พันล้านบาทจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ สกสว. ในการดำเนินโครงการ ‘กองทุนอินโนเวชั่นวัน’ ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และมีฝีมือด้านเทคโนโลยีให้เติบโตได้ภายในประเทศ และสามารถก้าวไปแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้เชี่ยวชาญ สกสว. กล่าวว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ได้มีประกาศในราชกิจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งหมด 14 ฉบับ ที่ทุกภาคส่วนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ ทั้งในส่วนขอการให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ
การกำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้เป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และหน้าที่ของผู้รับโอนผลงาน การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐในกรณีฉุกเฉินหรือภาวะวิกฤต และ การให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทน เป็นต้น