วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

วิทยาลัยนานาชาติ DPU  จับมือ 5 เครือข่ายด้านการศึกษาจีน จัดการแข่งขัน Friendship Cup ครั้งที่14 หนุนการพัฒนาศักยภาพ นร.ไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมมอบทุนการศึกษาและเงินรางวัลกว่า 50 รางวัล

ปิดฉากลงเรียบร้อย สำหรับการแข่งขันภาษาจีน Friendship Cup ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ร่วมกับสมาคมแลกเปลี่ยนบุคลากรไทย-จีน Jeenthainews.com (จีน-ไทยนิวส์) มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง เครือข่ายการศึกษานานาชาติไทย-จีน (iGET) และโรงเรียนภาษาสายสัมพันธ์

โดยการแข่งขันครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนนำเสนอการท่องเที่ยวไทยอย่างสร้างสรรค์ สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ และพัฒนาบุคลากรด้านภาษาจีนของไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาในยุคใหม่ โดยมีการมอบทุนการศึกษาทั้งแบบเต็มจำนวนและทุนบางส่วน ตลอดจนเงินรางวัลแก่ผู้แข่งขันรวมกว่า 50 รางวัล ภายในงานมีนักเรียนจากทั่วประเทศทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา กว่า 800 คน เข้าร่วมการแข่งขัน

ทั้งนี้ การแข่งขันแบ่งออกเป็น 4 รายการ ได้แก่ คัดลายมือ กล่าวสุนทรพจน์ ร้องและเต้นเพลงจีน และเล่าเรื่องเที่ยวไทยสร้างสรรค์ ณ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘วิทยาลัยนานาชาติ’ DPU พร้อมก้าวสู่นานาประเทศ ตั้งเป้า Education and Travel

วิทยาลัยนานาชาติ DPU เดินหน้าเปิดสอนหลักสูตรวิชาภาษาตะวันออก

 

DPU มอบทุนการศึกษาหนุนศักยภาพนศ.

ผศ.ดร.ศิริเดช  คำสุพรหม ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ และคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ(IC) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้ได้พัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนภาษาจีน และธุรกิจการท่องเที่ยวให้มุ่งสู่ความเป็นสากล  ซึ่งสอดคล้องกับเจตจำนงของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มุ่งเน้นพัฒนานักศึกษาให้มีทักษะในการใช้ภาษาที่หลากหลาย เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในแต่ละสาขาวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน  ภาษาอังกฤษ  ภาษาเกาหลี  และภาษาญี่ปุ่น  อีกทั้งการส่งเสริมกับกลุ่มเยาวชนนั้นถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตของชาติ

 DPU ได้มอบทุนการศึกษา ระดับปริญญาตรีตลอดหลักสูตร 100% สำหรับผู้แข่งขันระดับมัธยมปลายที่ได้รางวัลชนะเลิศในทุกประเภทการแข่งขัน ทุนระดับปริญญาตรี ตลอดหลักสูตร 50% สำหรับผู้แข่งขันระดับมัธยมปลายที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในทุกประเภทการแข่งขันทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีตลอดหลักสูตร 25%

วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

สำหรับผู้แข่งขันระดับมัธยมปลายที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในทุกประเภทการแข่งขัน ส่วนผู้แข่งขันระดับมัธยมปลายที่ได้รางวัลชมเชย จะได้รับทุนดังกล่าวในสัดส่วน 10% นอกจากนี้ ยังมีเงินรางวัลให้แก่ผู้ได้รางวัลในแต่ละการแข่งขันด้วย

 

แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เพิ่มทักษะภาษาจีน

รศ.ดร. ไช่ หง  คณบดีคณะการศึกษาสำหรับชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยภาษาและการค้าต่างประเทศกวางตุ้ง กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและไทย โดยสาขาวิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัย ได้รับรางวัล 'Friend of Thailand' ในปี 2556 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยถือเป็นสถาบันด้านการเรียนการสอนแห่งเดียวในโลกที่ได้รับรางวัลนี้ พร้อมกล่าวถึงความประทับใจนักศึกษาไทย ในเทศกาลวัฒนธรรมโลกครั้งที่ 15 ของมหาวิทยาลัย ที่นำเสนอวัฒนธรรมไทยด้วยภาษาจีนที่คล่องแคล่วแก่นักศึกษาจากทั่วโลก ทั้งยังทำจัดกิจกรรมได้เป็นอย่างดี รวมถึงกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมจีน

ผศ.ดร.ชัชวาล หังสพฤกษ์  ประธานเครือข่ายการศึกษานานาชาติไทย-จีน กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมา การเรียนภาษาจีนในไทยได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกว่า 60 แห่ง และโรงเรียนกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีการจัดหลักสูตรภาษาจีน ทำให้มีนักเรียนไทยกว่า 1.3 ล้านคน เรียนภาษาจีนเป็นภาษาที่ 2

วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

การจัดการแข่งขัน Friendship Cup เป็นเวทีสำหรับการแสดงความรู้ความสามารถของนักเรียนไทยที่มีทักษะภาษาจีนเป็นเลิศ ซึ่งในแต่ละปีผู้จัดล้วนเห็นถึงความตั้งใจ และความสามารถด้านภาษาจีนของนักเรียนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน จึงรู้สึกประทับใจ ชื่นชมในความพยายาม และความสามารถของนักเรียนทุกคน พร้อมขอบคุณผู้จัดทุกฝ่ายที่ให้โอกาสนักเรียนแสดงความสามารถ ทั้งยังช่วยให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้านการศึกษาต่อประเทศจีน ที่ตอบโจทย์นักเรียนชาวไทย

นางสุมิตรา ทองแสง  นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กล่าวว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมายาวนาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1-6 มิถุนายน พ.ศ. 2566 นับเป็นครั้งที่ 50 ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนตั้งแต่ปี 1981

ในโอกาสนี้พระองค์ได้พระราชทานสัมภาษณ์พิเศษแก่ China Media Group ภาคภาษาไทยเกี่ยวกับการเรียนภาษาจีน ดังนั้น ไทยจึงเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาจีนมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาจีน เพื่อบ่มเพาะบุคลากร  พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน และสร้างโอกาสการแข่งขันในตลาด

วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

น.ส.อภิชญา ภูมิจันทึก นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์  หัวหน้าทีม SJC ทีมชนะเลิศประเภทร้องและเต้นเพลงจีน กล่าวว่า เนื่องจากใกล้เรียนจบแล้วจึงอยากสร้างความทรงจำที่ดีกับเพื่อน จึงรวมตัวกันเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ หลังได้รับโจทย์การแข่งขันมีเวลาซ้อมเพียง 3 สัปดาห์ จากนั้นได้นัดเพื่อนในกลุ่มมาช่วยกันคัดเลือกเพลงเพื่อตีความหมายและแปลเป็นภาษาไทย

ต่อจากนั้นจะซ้อมร้องและเต้นอย่างหนักทั้งพักเที่ยงและหลังเลิกเรียน นอกจากนี้ยังมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยเป็นโค้ชช่วยดูภาพรวมและช่วยไกล์ไลน์ท่าเต้นให้ พร้อมแก้ไขปรับปรุงจนเกิดความสมบูรณ์แบบที่สุด สำหรับเพลงที่เลือกในการแข่งขัน คือ เพลง ชาวเหนียน ที่แปลว่า วัยรุ่น โดยเนื้อเพลงจะสื่อถึงการเป็นวัยรุ่นถึงแม้จะเติบโตขึ้นแต่ยังมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว

“การเรียนภาษาจีนทำให้เปิดโลกอีกใบ หลังจากนี้จะพัฒนาด้านภาษาจีนต่อไปให้มากที่สุด เพราะฝันอยากเป็นนักแปลภาษาและเป็นพิธีกร นอกจากนี้การมีพื้นฐานด้านภาษาที่มากกว่าคนอื่น จะสามารถต่อยอดทั้งการเรียนและการทำงาน รวมถึงการทำธุรกิจจะเติบโตได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามอิทธิพลของนักท่องเที่ยวรวมถึงนักลงทุนจีนที่เข้ามาในไทยส่งผลให้ความต้องการบุคคลกรที่สื่อสารภาษาจีนมากขึ้น ดังนั้น การเรียนภาษาจีนหรือภาษาที่ 2 จะเพิ่มโอกาสให้หางานทำในสายอาชีพได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน” น.ส.อภิชญา กล่าว

วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์

น.ส.อภิชญา ฤทธิชัยอภิชน นร.ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทคัดลายมือระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เผยความรู้สึกว่า เป็นครั้งแรกที่ได้เข้าแข่งขัน ใช้เวลาฝึกซ้อมกว่า 3 สัปดาห์ โดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำตลอดการฝึกปฏิบัติด้วยการเขียนเป็นบทกลอน

การลงน้ำหนักในการเขียนตัวอักษรจีนจะมีความหนักเบาไม่เท่ากัน สำหรับรางวัลที่ได้มาในครั้งนี้ต้องผ่านการฝึกฝน เพราะทุกอย่างไม่ได้มีทางลัด และต้องขอขอบพระคุณพ่อแม่ที่ช่วยส่งเสริมให้ตนเองเรียนภาษาจีนตั้งแต่ชั้นอนุบาล ทำให้มีความชอบภาษาจีนตั้งแต่เด็ก การเขียนอักษรจีนยังช่วยในเรื่องของสมาธิและการจดจำด้วย

วิทยาลัยนานาชาติ DPU หนุนพัฒนาศักยภาพเด็กไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์